ขณะที่นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังเตรียมทบทวนขยายเวลา 5 มาตรการ 6 เดือนฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทย ที่ใกล้จะหมดอายุลงในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อช่วยเหลือภาคประชาชน หากพบว่ามาตรการใดที่มีประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุดก็จะขยายเวลาออกไปอีก ซึ่งได้หารือกับนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน แต่เห็นว่ายังมีเวลาที่จะพิจารณาได้อีกระยะหนึ่ง หากจะขยายเวลาโครงการออกไปอีกอาจจะคงไว้เพียงบางมาตรการและยกเลิกบางมาตรการออกไป ต้องรอดูสถานการณ์ และพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง
นายกรณ์กล่าวว่า ในการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา มีมติต่ออายุและปรับปรุงรายละเอียด มาตรการบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน 5 มาตรการ ออกไปอีก 6 เดือน
จากเดิมสิ้นสุดในเดือนมกราคม โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ซึ่งประกอบด้วยการแบกรับค่าใช้จ่ายค่าน้ำประปา สำหรับผู้ใช้น้ำไม่เกิน 30 ยูนิต ซึ่งจะครอบคลุมผู้ใช้น้ำประปาทั้งในเขตนครหลวงและเขตภูมิภาค 8.6 ล้านคน ใช้งบประมาณ 5,840 ล้านบาท มาตรการแบกรับค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย จากเดิมที่การใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วย ใช้ฟรี และ 80-150 หน่วย จ่ายครึ่งราคา ช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าได้ 8.8 ล้านราย ทั้งในเขตนครหลวงและภูมิภาค โดยรัฐใช้งบประมาณทั้งสิ้น 6,810 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง โดยรถประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จะให้บริการรถเมล์ธรรมดาในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ฟรี 800 คัน 73 เส้นทาง ครอบคลุมการให้บริการประชาชน 400,000 แสนคนต่อวัน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 650 ล้านบาท และการเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ซึ่งจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม 164 ขบวน และรถไฟชั้น 3 เชิงพาณิชย์ 8 ขบวน ใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท
นายกรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานของโครงการต่างๆ ของรัฐบาล
เพื่อประเมินผลงานว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ โดยจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลงานขึ้นมา 1 ชุด ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงการคลัง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง นักวิชาการ และภาคเอกชน ขึ้นมาทำหน้าที่ติดตามและประเมินความคืบหน้าของมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด
"ผมกำลังประเมินผลงานโครงการรัฐบาลทั้งหมดว่ามีอะไรบ้างที่สำเร็จและอะไรที่ล้มเหลว ซึ่งยอมรับว่ามีบางมาตรการที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง มีหลายโครงการที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และบางโครงการก็มีอุปสรรคในการปฏิบัติงาน ซึ่งตอนนี้ที่เห็นว่ามีปัญหาค่อนข้างมาก น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปล่อยกู้ของสถาบันการเงิน ที่ยังต้องมีการปรับปรุงอีกมาก โดยเร็วๆ นี้จะมีการนัดตัวแทนสถาบันการเงินของรัฐและสมาคมธนาคารไทยมาหารือ เพื่อแก้ปัญหาให้งานเดินหน้าต่อไปได้ โดยบางโครงการอาจมีข้อติดขัดเรื่องเงื่อนไขบางอย่าง ที่ต้องปรับปรุงแก้ไขและทบทวนเป็นระยะ" นายกรณ์กล่าว
กรณ์ทบทวน5มาตรการ6เดือนฝ่าวิกฤติ รับบางโครงการล้มเหลว
นายกรณ์กล่าวว่า สำหรับตัวอย่างโครงการที่เห็นว่าไม่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ โครงการประกันสินเชื่อผู้ส่งออก ที่ยอดขอสินเชื่อไม่ขยายตัว
ซึ่งอาจเป็นเพราะช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาการส่งออกทรุดตัว ทำให้ความต้องการสินเชื่อน้อย จะต้องเข้าไปดูในรายละเอียดอีกครั้ง ขณะที่โครงการสินเชื่อเพื่อนำมาชำระภาษี ในหลักการดี แต่ปฏิบัติไม่ได้ โดยเข้าใจว่าระยะเวลาการดำเนินโครงการกระชั้นชิดเกินไป ถ้าออกโครงการได้ก่อนหน้านี้ และมีโอกาสประชาสัมพันธ์ เชื่อว่าจะมีผู้ประกอบการได้เข้าโครงการจำนวนมากแน่นอน สำหรับสินเชื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว เริ่มเห็นผลแล้ว นับตั้งแต่มีการปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นมากขึ้น โดยขณะนี้ได้รับรายงานว่า มีผู้ขอกู้สินเชื่อในโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
ส่วนโครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งมีการจ่ายเช็คออกไปแล้วกว่า 80% ของจำนวนเช็คทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่นำเช็คไปขึ้นเงินสด สะท้อนถึงการนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยและมีเงินหมุนเวียนกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
นายกรณ์กล่าวว่า กระทรวงการคลังยังมีแผนเตรียมจัดเวทีชี้แจงเรื่องร่างกฎหมายภาษีที่ดินให้กับกลุ่ม ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
เพื่อรับฟังหลักการและรายละเอียดให้เข้าใจตรงกัน โดยคาดว่าจะจัดขึ้นก่อนที่จะเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญในวันที่ 15-16 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะทำความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของการจัดเก็บภาษีที่ดิน รวมถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเปิดกว้างให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้วย
ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลอาจจะมีการยุบสภาในเดือนกันยายนนี้ นายกรณ์กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม
เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จะทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักและมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ "ผมอยากมีโอกาสขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่วางไว้ ถ้ามีเวลาสัก 1 ปี เชื่อว่าจะเริ่มได้เกือบทุกโครงการ แต่เชื่อว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลก็ต้องเดินหน้าต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากยุบสภาจริง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีช่องว่างเกิดขึ้นอย่างน้อย 3-6 เดือน และทำให้เศรษฐกิจมีปัญหาอีก" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว