กรุงเทพธุรกิจ
12 สิงหาคม 2549 18:10 น.
พรรคไทยรักไทย กำลังเดินหน้าสู่นโยบาย"ประชานิยม"เต็มรูปแบบในการหาเสียงการเลือกตั้ง ที่จะมีขึ้นวันที่ 15 ต.ค. 2549
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ***จู้ดี้ แรมทาง
----------------------
แกนนำพรรคไทยรักไทย บอกว่าการหาเสียงเลือกตั้งไม่ได้มีนโยบายประชานิยมใหม่ออกมาขาย เพียงแต่จะตอกย้ำนโยบายเดิมๆ ที่มีอยู่แล้วและประกาศไปแล้วให้เกิดการปฏิบัติเข้าถึงความคิดประชาชนมากขึ้น
ประชาธิปไตยของพรรคไทยรักไทย ที่ออกแบบมาใช้หากนิยาม ตาม ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บอกว่าเป็น"ประชาธิปไตยแบบรับเหมา" นั่นคือความถูกผิด พัฒนาการประชาธิปไตยของประเทศถูกผูกขาดยกให้กับคนกลุ่มหนึ่ง หรือคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่เหมารวมแทน โดยละเลยหลักนิตติรัฐ ที่มีกติกาชัดเจนให้สังคมมีการถ่วงดุลทางอำนาจ
รูปแบบและเนื้อหาประชาธิปไตยพรรคไทยรักไทย จึงไม่ต่างอะไร จากที่ประชาชนจะต้อง "เชื่อ ทำตาม รับฟัง" ความคิดผู้นำที่ต้องการให้สังคมเดินไปข้างหน้าด้วยความคิดของคนกลุ่มหนึ่งที่เห็นว่าถูกต้อง และประชาชนออกมาท้วงติงต่างไปจากความคิดผู้นำไม่ได้
ความคิดเหล่านี้ เรามักจะได้ยินอยู่เสมอจากผู้นำของเรา เช่น ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ, บางคนอยากเป็นนายกฯตามมาตรา 7,หนักใจพวกกลุ่มที่ไม่เคารพกติกา,นักลงทุนจะขาดความเชื่อมั่นไม่กล้ามาลงทุน ,ใครด่าจะไม่ตอบโต้ แต่จะกรวดน้ำให้,เลือกตั้งเสร็จแล้วทุกอย่างต้องเป็นไปตามประชาธิปไตย,พวกตะแบงทั้งหลายจะได้หยุดเสีย , ไม่ค่อยได้รับความเป็นธรรมจากสื่อฯบางฉบับหรือบางคอลัมน์ ฯลฯนี่คือ ประชาธิปไตยผู้นำความคิดแบบทักษิณ
เพราะเหตุใดประชาธิปไตยความคิดผู้นำพรรคเพไทยรักไทยจึงต้องชูประชาธิปไตยแบบประชานิยมขึ้นมา จึงเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงประชาธิปไตยเปลี่ยนไปมาก จากที่ยึดถือประชาธิปไตยเข้าใจอยู่แบบเดิมๆ โดยเฉพาะประชาธิปไตยแบบตัวแทน ที่จำกัดอยู่เฉพาะการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทำให้ประชาธิปไตยแบบตัวแทนนั้นได้หมดความหมายลง ที่ไม่สามารถยึดโยงความคิดประชาชนไว้ได้นาน
การนำเอาประชาธิปไตยแบบประชานิยม เข้ามาใช้มันสอดคล้องกับลักษณะการมีส่วนร่วมของประชาชน สามารถรู้สึกได้ว่า สามารถ "เข้าถึง จับต้อง กินได้ " ซึ่งต่างไปจากประชาธิปไตยแบบตัวแทน ประชาชนรู้สึกเลือกตั้งเข้าไปทีไร ก็ไม่เห็นจะแก้ปัญหาได้ ประชาชนจึงรู้สึกเบื่อหน่าย และที่ผ่านมาระบอบเผด็จการอำนาจนิยม ก็พิสูจน์ให้สังคมไทยเห็นแล้วว่าไม่สามารถแก้ปัญหาปรับตัวได้ทัน ในการตัดสินใจในยามที่เศรษฐกิจผันผวนอย่างรุนแรงเมื่อเศรษฐกิจไทยผูกโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น
ประชาธิปไตยแบบประชานิยม ของพรรคไทยรักไทย ที่ทำหลายนโยบาย และลงสู่กลุ่มคนหลายๆกลุ่มในสังคมไทย จึงเป็นการสนองรับจากประชาชน และพรรคไทยรักไทย เห็นว่านี่คือการขจัดปัญหาประชาธิปไตยแบบตัวแทน และเผด็จการอำนาจนิยมลงไปได้
ผู้นำอย่างนายกฯทักษิณ จึงกล่าวเสมอว่าการยึดกติกาประชาธิปไตย และต้องไม่ทำลายประชาธิปไตยอยู่เสมอ และกลุ่มใดหรือผู้ใด ไม่เคารพกติกา ผู้นำของเรา มักจะต่อว่านั่นไม่ใช่ประชาธิปไตย ดังนั้นประชาธิปไตย ที่ท่านผู้นำของเราใช้อยู่ ที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตยแล้วนั้น ท้ายที่สุดประชาธิปไตย ยังต้องทำเข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะการเคารพกติกาที่ว่า ก็ไม่ได้ต่างอะไร ที่ว่า กลุ่มคนที่ได้ ก็คือเพียงไม่กี่กลุ่มในสังคม
ประชาธิปไตยแบบประชานิยม นอกจากผลิตนโยบายขึ้นมาเพื่อโดนใจประชาชน แต่ประชาชนก็มีส่วนร่วมอยู่ในนโยบาย และได้ประโยชน์จากนโยบายนั้นๆอยู่ด้วย อย่างกรณี นโยบาย SML ลงสู่หมู่บ้าน ถือว่ามีส่วนแบ่งของนโยบายที่เข้าสู่กระบวนการแลกเปลี่ยนระหว่างคะแนนเสียงและเงินที่ยิงตรงไปถึงระดับหัวคะแนนกับประชาชน
จึงเห็นว่า ประชาธิปไตยแบบประชานิยม จึงได้สร้างคะแนนเสียงให้กับพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งเมื่อ 6 ก.พ.2548 มากถึง 377 เสียง
แต่การได้ส.ส.เขตและส.ส.ปาตี้ลิสต์ เข้ามาถล่มทลาย ก็ใช่ว่าทำให้ประชาธิปไตยแบบประชานิยม จะอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะในที่สุด หากประชาชนเข้าใจถึงลักษณะประชาธิปไตยแบบประชานิยมแล้ว จะรู้ว่าประชาธิปไตยลักษณะนี้ เป็นการหลอมรวมเอาประชาชนมาใช้เป็นเครื่องมือในการอยู่ในอำนาจของผู้นำให้นานที่สุดเท่านั้น
เพราะได้พิสูจน์เกิดขึ้นแล้วว่าความขัดแย้งก่อน และหลังเลือกตั้งเมื่อ 2 เม.ย.2549 ที่ผ่านมา เป็นการลากเอาประชาชนมาเป็นเครื่องมือของผู้นำ เพื่อต่อรองรักษาอำนาจ และอยู่ในอำนาจต่อไป พร้อมประจักษ์ชัดแล้ว การที่ผู้นำจะลงจากอำนาจได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อสามารถกุมประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองที่นำเสนอนโยบายลงไป
นับวันประชาธิปไตยแบบประชานิยม หากมีอำนาจผูกขาดเด็ดขาด ยิ่งทำให้สังคมขัดแย้ง และเปลี่ยนแปลงยากเพิ่มขึ้น เพราะประชาธิปไตยแบบประชานิยม ได้สอดคล้องกับสังคมไทยที่คนยึดติดอยู่กับระบบอุปถัมป์ และไม่มีครั้งไหน ที่เขาเหล่านั้นจะได้รับมากมายอย่างที่ผ่านมา
เพียงแต่วันนี้ประชาธิปไตยแบบประชานิยม หากต้องการอยู่ในอำนาจให้ได้นานต้องไม่ให้คะแนนเสียงผูกขาดล้นรัฐสภา เช่นเดียวกับการเลือกตั้งเมื่อ 6 ก.พ. 2548