รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับ “ไฟเขียว” มาจากไหน? ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเหตุการณ์ 13 เมษา

รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับ “ไฟเขียว” มาจากไหน? ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเหตุการณ์ 13 เมษา

รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับ “ไฟเขียว” มาจากไหน? ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเหตุการณ์ 13 เมษา




ชื่อบทความเดิม: รัฐบาลอภิสิทธิ์ได้รับ “ไฟเขียว” มาจากไหน? ข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการปราบปรามประชาชนในวันที่ 13 เมษายน พ.ศ.2552


กำพล จำปาพันธ์



“นายอภิสิทธิ์ ใช้ทหารเข้าสลายงฝูงชนในการชุมนุมของคนเสื้อแดง แทนที่จะใช้ตำรวจปราบจลาจล แสดงว่านายอภิสิทธิ์ ถูกครอบงำ ชักใยโดยอมาตยาธิปไตย ใช้ทหารซึ่งไม่มีความชอบธรรม เหมือนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งมีผู้สูญหาย 187 ศพ แต่หาไม่เจอสักศพ”
สมยศ พฤกษาเกษมสุข, วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒.


เป็นความจริงอย่างที่สุดที่การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทยครั้งใหญ่ ๆ เกือบทุกครั้ง มักพบกับการปราบปรามจากชนชั้นนำอย่างโหดเหี้ยมเสมอ แต่เหตุการณ์วันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ มีบางอย่างที่ผิดแผกแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา เพราะถือเป็นครั้งแรกที่ขบวนการต่อสู้ได้นำเอาประเด็นเรื่องอำนาจเหนือกลไกรัฐและระบบราชการ มาเป็นประเด็นเรียกร้องตามท้องถนน ปรากฏความพยายามที่จะแตะต้องอะไรที่มากไปกว่าระดับรัฐบาล ให้นายกลาออก ดูจะเป็นเรื่องเชยแหลกเสียแล้วสำหรับการเมืองไทย ขบวนการเสื้อแดงยกระดับการต่อสู้ข้ามพ้นไปไกลกว่าขบวนการเสื้อเหลือง ฝ่ายตรงข้ามของพวกเขาก็ตรงจุดนี้

ในครั้งนี้ประธานองคมนตรีถูกแตะต้องมากกว่าใครอื่น ซึ่งก็ช่วยไม่ได้เพราะบทบาท พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ในช่วงที่ผ่านมาเป็นที่เคลือบแคลงไม่น้อย ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่คนเสื้อแดงมีต่อองคมนตรีท่านนี้ ไม่เคยได้รับคำตอบอย่างกระจ่างชัดแม้สักครั้งเดียว การเดินสายพูดปลุกระดมทหารให้ออกมารัฐประหาร การนำคณะรัฐประหารเข้าเฝ้ากลางดึกของคืนวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ การพูดให้การรับรองรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร บ้านสี่เสาก็มีการติดตั้งจานรับสัญญาณเอเอสทีวี ทั้งเป็นที่รู้กันในหมู่นายทหารว่า ท่านเจ้าของบ้านหลังนี้ดูเอเอสทีวีเป็นประจำทุกวันและเกือบตลอดเวลาจนถึงเข้านอน หรือแม้แต่เรื่องการส่ง “ผู้การพะจุณณ์” (พล.ร.ท.พะจุณณ์ ตามประทีป) และทหาร “ลูกป๋า” อีกบางคนเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ ตั้งแต่คราวประท้วงขับไล่รัฐบาลทักษิณปีพ.ศ.๒๕๔๘ ด้วยซ้ำไป อะไรเหล่านี้กลายเป็นข้อเท็จจริงที่ยากจะหักล้างได้เสียแล้ว แต่หลังการปราบปรามวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ดูเหมือนหลายคนจะให้ความสำคัญกับนายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือดหรือ “ทรราชฟันน้ำนม” มากกว่า พล.อ. เปรม และ พล.อ. เปรม ก็ถูกมองว่าไม่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนในครั้งนี้ ทั้งที่หากมองจากฝ่ายผู้ชุมนุมแล้ว อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายการเรียกร้องในครั้งนี้ตัวจริงคือ พล.อ. เปรม ส่วนนายอภิสิทธิ์เป็นเพียงลิ่วล้อของกลุ่มอำนาจชนชั้นนำระดับสูงที่มี พล.อ. เปรม เป็นศูนย์กลางเท่านั้น

คำถามในที่นี้ก็คือว่า ในเมื่อสาเหตุลึก ๆ ของความขัดแย้งนั้นอาจมีที่มาหลากหลายและดำรงอยู่ก่อนแล้ว (เช่น อาจจะเป็นปัจจัยหลักใหญ่ ๆ อย่างเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง โครงสร้าง ชนชั้น ฯลฯ) แต่อะไรเล่าคือปัจจัยเร่งปฏิกิริยาความรุนแรงให้เกิดขึ้นในเช้ามืดวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ? (นี่คือคำถามสำคัญที่จนป่านนี้ผู้เขียนก็ยังไม่รู้และไม่มีคำตอบที่แน่ชัด เดิมคิดจะเขียนอธิบายภายหลังจากที่หลายอย่างคลี่คลายไปมากกว่านี้ เพื่อจะได้มีหลักฐานประกอบการวิเคราะห์มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่เกรงว่าอาจไม่มีวันนั้นแล้วก็ได้ เพราะจนป่านนี้ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า หลายท่านที่เขียนที่พูดในช่วงที่ผ่านมาก็ยังไม่มีใครพูดถึงประเด็นดังกล่าวเลย ยกเว้นก็แต่กรณีพี่สมยศ (สมยศ พฤกษาเกษมสุข) ที่แสดงไว้ข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นจำเป็นต้องทิ้งประเด็นข้อสังเกตเล็ก ๆ นี้เอาไว้ เผื่อท่านใดสามารถให้ความกระจ่างได้มากกว่าผู้เขียน จะได้รับหน้าที่นี้ต่อไป ส่วนตัวผู้เขียนนั้นยอมรับว่ายังงุนงงสงสัยหลายอย่างที่เกิดขึ้นนี้อยู่มาก อีกทั้งขณะนี้ก็ยังไม่อาจหาคำอธิบายอะไรได้ดีไปกว่านี้) จากคำถามข้างต้นความเป็นไปได้ของคำตอบเท่าที่พอจะแสดงไว้ในที่นี้ได้มีอยู่ ๓ ประเด็นดังนี้

๑.อุบัติเหตุ?

เพราะเช้ามืดวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ เกิดเหตุปะทะกันขึ้นโดยไม่ได้ตระเตรียมอะไรไว้ จึงไม่มีแก๊สน้ำตา ไม่มีปั๊มน้ำ ก็เลยตามเลย เลยปราบเสียยกใหญ่ เหมือนที่คุณสุณัย ผาสุก ตั้งข้อสังเกตไว้นั้น ไม่ใช่แน่นอนครับ! เพราะถ้าเรามองเหตุการณ์ย้อนหลังจากก่อนวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ จนถึงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่พัทยาและที่กระทรวงมหาดไทย จะเห็นได้ว่ามีความพยายามที่จะปราบปรามประชาชนเกิดขึ้นมาก่อนวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ แล้ว แก๊สน้ำตาก็มีใช้ครั้งหนึ่ง (ครั้งแรกและครั้งเดียว) ในเช้ามืดวันที่ ๑๓ เมษา เวลา 04.15 น. และก่อนนั้นอยู่ ๆ ก็จัดตั้งเสื้อน้ำเงินพร้อมคำสกรีนตรงอกซ้ายว่า “ปกป้องสถาบัน” มาปะทะกับคนเสื้อแดงแล้วประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ข่าวการจัดกำลังของทหารก็มีมาตั้งแต่วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ทหารเคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ แล้ว เพียงแต่ถูกคนเสื้อแดงปลดอาวุธและควบคุมสถานการณ์ไว้ได้

ทว่าแนวรบด้านสำคัญอีกหนึ่งที่ต้องยอมรับว่าเสื้อแดงเป็นรองฝ่ายรัฐบาลอยู่มากคือ “สื่อ” ภาพเหตุการณ์ที่พัทยาถูกนำเสนอผ่านสื่อโทรทัศน์อย่างตัดตอน เน้นภาพการพังกระจก การบุกโรงแรม การขว้างปาสิ่งของต่อสู้คนเสื้อน้ำเงิน ซึ่งเป็นภาพด้านเดียว เน้นสร้างให้เห็นภาพความรุนแรงของม๊อบเสื้อแดง แต่ไม่นำเสนอว่ามีสาเหตุอันใดทำให้คนเสื้อแดงต้องปฏิบัติการเช่นนั้น ที่มาที่ไปของคนเสื้อน้ำเงินไม่ได้ถูกนำเสนอเท่าที่ควร ให้พื้นที่แก่ฝ่ายรัฐบาลและทหารได้พูดอย่างเต็มที่ ซึ่งต่างก็ท่องเป็นนกแก้วตั้งแต่ชั่วโมงแรก ๆ ที่มีการปะทะ (จนวันนี้) ว่า “ไม่มีผู้เสียชีวิต” ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงก็ไม่เห็นต้องร้อนรนอะไรขนาดนั้น (คำสาบานเอาชีวิตเป็นเดิมพันของพล.อ.อนุพงษ์ ก็สะท้อนอะไรไม่ได้มากไปกว่าว่าได้มีการทำลายหลักฐานเสร็จสิ้นไปแล้ว จนแสดงความมั่นใจได้ถึงเพียงนั้น) แต่ใครที่อยู่ในเหตุการณ์หรือเห็นเหตุการณ์จะไม่พูดอย่างนั้นเลย ปัญหาจึงเกิดขึ้นว่าใครเป็นฝ่ายพูดความจริงมากกว่ากัน

“ประวัติศาสตร์” มีวิธีการในการจำแนกหลักฐานเพื่อหาความจริงอยู่วิธีหนึ่ง คือในการอ่านวิเคราะห์หลักฐานเขาจะเปรียบเทียบแยกประเภทของหลักฐานออกเป็นชั้นต้น – ชั้นรอง ตามระยะเวลาและความใกล้ไกลของหลักฐานประเภทนั้น ๆ ในกรณีข้างต้นคำพูดของโฆษกรัฐบาลและทหารที่นั่งแถลงข่าวอยู่ในห้องส่งไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ เป็นหลักฐานข้อมูลประเภทชั้นรองครับ แต่ประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ที่ถูกยิง ที่วิ่งหนีกระสุนปืน ที่เห็นคนบาดเจ็บล้มตายต่อหน้าต่อตา ถือเป็นหลักฐานข้อมูลชั้นต้น เชื่อถือได้มากกว่านะครับ ปัญหาคือสื่อกลับถามแต่ข้อมูลชั้นรองจากฝ่ายรัฐบาล ไม่เห็นหัวคนในเหตุการณ์เสียดื้อ ๆ แถมยังรับลูกฝ่ายรัฐบาลให้โกหกอยู่ได้ตลอด ไม่มีคนตาย ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ กระสุนปลอม ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ (ทั้งนี้น่าสังเกตว่า “ไม่มีคนตาย” ตอบโต้ฝ่ายเสื้อแดงและข่าวในม๊อบว่า มีผู้เสียชีวิต แต่ทหารลากศพเอาไป และ “กระสุนปลอม” ครั้งแรกเกิดจากการตอบโต้ของ พ.อ. สรรเสริญ กรณีที่ภาพข่าวของช่อง PBS เผลอนำเสนอภาพการยิงผู้ชุมนุมด้วยท่าเล็งแนวราบที่ถนนราชปรารภ ทั้งที่ก่อนเวลานั้นเล็กน้อย พ.อ.สรรเสริญ ได้กระชับนักข่าวให้ระวังการนำเสนอภาพการสลายชุมนุม “อย่าให้มีอะไรรุนแรง” ) เป็นเหตุผลที่ยังไงก็ฟังไม่ขึ้น เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมครั้งนี้ รัฐบาลและทหารมีสิทธิกระทำต่อประชาชนอย่างนั้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ใครให้อำนาจคุณทำเช่นนั้น ?

แต่สื่อกลับช่วยรัฐบาลสร้างภาพว่าทหารยิงประชาชนนั้นไม่รุนแรง ส่วนภาพการกระทำของคนเสื้อแดงนั้นดูรุนแรงไปเสียหมด แปรสถานะกลับขั้วให้ “ผู้กระทำ” กลายเป็น “ผู้ถูกกระทำ” และ “ผู้ถูกกระทำ” อย่างแท้จริง กลายเป็น “ผู้กระทำ” สิ่งที่สื่อกระทำนี้จึงถือเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่ง คือความรุนแรงในระดับ “ภาพเสนอ” ผลิตซ้ำนำเสนอความรุนแรงด้วยภาพและคำพูดว่าไม่รุนแรง บิดเบือนการกระทำความผิดของฝ่ายรัฐบาลให้มีความชอบธรรม

ลักษณะการนำเสนอดังกล่าวนี้ปรากฏชัดเจนตั้งแต่ในกรณีเหตุการณ์กระทรวงมหาดไทย สื่อมีส่วนร่วมสร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปรามประชาชนด้วยการเสนอแต่ภาพเสื้อแดงทุบรถนายอภิสิทธิ์และนายนิพนธ์ แต่ไม่นำเสนอว่าเหตุใดคนเสื้อแดงจึงปฏิบัติการเช่นนั้น ไม่มีภาพรถของบุคคลสำคัญทั้งสองพุ่งมาด้วยความเร็วหมายจะชนคนเสื้อแดงให้ถึงแก่เสียชีวิต และไม่เสนอแง่มุมของฝ่ายเสื้อแดงว่า ที่บุกกระทรวงมหาดไทยนั้น เพราะต้องการเข้าไปหาศพพี่น้องที่ถูก รปภ. นายอภิสิทธิ์ยิงเสียชีวิตก่อนหน้านี้ สื่อไร้มนุษยธรรมถึงขั้นสนใจว่า มีคนถูกยิงตายที่กระทรวงมหาดไทยจริงหรือไม่ น้อยกว่าที่สนใจว่ารถของนายอภิสิทธิ์จะพังหรือไม่เสียอีก ชีวิตคนสำคัญน้อยกว่ารถนายอภิสิทธิ์ ?

จะเห็นได้ว่าการปราบปรามเป็นไปโดยมีแบบแผนมีขั้นตอนและเป็นระบบพอสมควร ไม่ใช่อุบัติเหตุแล้วเลยตามเลย และควรต้องเข้าใจบทบาทสื่อในเหตุการณ์ครั้งนี้ใหม่ด้วยว่า มีส่วนร่วมในการปราบปรามประชาชนในครั้งนี้ ด้วยการปลุกปั่นยั่วยุให้เกลียดชังคนเสื้อแดง สร้างภาพแง่ลบแก่คนเสื้อแดงให้เป็นม๊อบรุนแรง ป่าเถื่อน ไม่มีเหตุผล (ฉะนั้นจึง) สมควรถูกปราบเสีย ขณะที่ตั้งคำถามต่อความรุนแรงที่เกิดจากเสื้อแดง ก็กลับละเลยแสร้งมองไม่เห็นไม่รับรู้ไม่นำเสนอความรุนแรงอันเกิดจากการกระทำของรัฐบาลและทหาร สมยอมให้กับเผด็จการจนไม่รู้อะไรถูกผิด ฯลฯ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น!

๒.การต่อสู้ของประชาชนในวันที่ ๘-๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒

ในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ประชาชนราว ๔.๕-๕ แสนคนร่วมชุมนุมเสื้อแดง กลายเป็นคลื่นมหาประชาชนขนาดใหญ่ที่ดูจะสั่นคลอนรากฐานอำนาจของชนชั้นนำลงได้ไม่ยาก ประชาชนในระดับพื้นฐานรวมตัวกันส่งเสียงขับไล่กลุ่มคนชั้นสูงของสังคมที่มีที่ปรึกษาพระมหากษัตริย์เป็นตัวแทน “เสื้อแดง” กลายเป็นพื้นที่สำคัญที่ประชาชนได้มาแสดงบทบาทและตัวตนท้าทายชนชั้นนำ (หรือที่นิยามเรียกกันว่า “อมาตยาธิปไตย” ) สิ่งนี้ทำให้ “เสื้อแดง” มีมิติของการต่อสู้ระหว่างชนชั้นอย่างชัดเจน หลายฝ่ายมั่นใจว่าเสื้อแดงจะชนะ ต้องเข้าใจว่าการที่มีคนสวมเสื้อสีเดียวกันจำนวนขนาดนั้นมารุมด่าถึงหน้าบ้าน เป็นใครก็ต้องหวั่นไหวเป็นธรรมดา และการที่มีคนมาตะโกนขับไล่มากมายถึงเพียงนั้น ใครเป็นรัฐบาลก็ต้องคลั่งแค้นเป็นธรรมดาด้วย ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ๒ วันต่อจากนั้นก็มีคำสั่งให้ทหารเคลื่อนกำลังเข้ามา แต่ประชาชนแทนที่จะวิ่งหนีเหมือนที่พวกเขาคาดหวังจะได้เห็น เราก็กลับได้เห็นวีรกรรมความกล้าของประชาชนมือเปล่าเข้าต่อสู้กับรถถังและกำลังติดอาวุธจนได้รับชัยชนะ ศักดิ์ศรีกองทัพพังลงทันทีทันใด
เกิดเป็นภาพตรงข้ามกับ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๙ ขณะเคลื่อนกำลังออกมาทหารอาจคิดว่าตนจะได้รับดอกไม้เหมือนในวันนั้น (รัฐประหารในคืนวันที่ ๑๙ ประชาชนเริ่มให้ดอกไม้และถ่ายรูปร่วมกับทหารในวันที่ ๒๐) แต่ครั้งนี้พวกเขากลับเจอท่อนไม้ ธง มือเปล่า เสียงตะโกนด่า และเสียงร้องโห่ถึงชัยชนะ ใครกุมอำนาจอยู่ก็ต้องรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ เป็นธรรมดา แม้กลางดึกของคืนวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ทหารที่ถูกส่งเข้ามาก็ถูกคนเสื้อแดงปลดอาวุธได้หมด จนเวลาตี ๔ ของวันที่ ๑๓ เมษายน เราก็พบว่าไม่มีการส่งสัญญาณไม่มีการเตือน ทหารตัดสินใจยิงประชาชนทันที (บางคนยังกินข้าวต้มอยู่ ด้วยไม่คิดว่าจะทำกันรุนแรงถึงเพียงนี้)

กระนั้น เราก็ยังได้เห็นความสามารถและความกล้าหาญของประชาชนมือเปล่า พวกเขาหยุดยั้งชะลอการเคลื่อนที่ยึดถนนของทหาร ตรงนี้ต้องเข้าใจนะครับว่า จริง ๆ แล้วเสื้อแดงไม่ได้ต้องการจะต่อสู้กับทหารตำรวจเลย แกนนำก็บอกมวลชนตลอดว่า พวกเขาเป็นลูกหลานชาวไร่ชาวนาเหมือนกันกับเรา ระเบิดเพลิง ก้อนหิน ท่อนไม้ เผายางรถยนต์ รถเมล์ รถแก๊ส ฯลฯ ก็เพียงแต่หยุดยั้งการเคลื่อนรุกชิงพื้นที่ของทหารชั่วคราว เพื่อให้ได้ถอยหนี มีโอกาสต่อรอง และมีโอกาสป้องกันตัวเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างเท่านั้น ไม่ใช่การก่อจลาจลเหมือนที่สื่อและนักวิชาการรวมหัวกันประณามแต่อย่างใด ยังดีที่ในภาวะคับขันเช่นนั้นแกนนำเสื้อแดงตัดสินใจได้ถูกต้อง เพราะถึงที่สุดแล้วผู้ที่จะสูญเสียจริง ๆ ไม่ใช่แกนนำ แต่เป็นประชาชนต่างหากที่จะบาดเจ็บล้มตายจากการสลายการชุมนุมในครั้งนี้

นอกจากนี้แล้วการตัดสินใจดังกล่าวยังช่วยให้ภาพขัดแย้งกับแนวโน้มที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อมาก่อนหน้านี้ ตรงที่หากการสลายชุมนุมไม่มีการทำร้ายประชาชน ไม่มีการสูญเสีย ไม่ใช้กระสุนจริงยิงประชาชน แล้วอะไรเล่ากดดันให้แกนนำต้องตัดสินใจยอมสลายการชุมนุมด้วยตัวเองก่อนที่จะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชน ? ผู้เขียนและเพื่อนซึ่งเข้าร่วมสังเกตการณ์ชุมนุมในวันนั้น ต่างก็เห็นพ้องกันว่าควรต้องถอยเพื่อรักษาชีวิตประชาชน จึงเสนอความเห็นผ่าน “แถลงการณ์ประณามการปราบปรามประชาชนของรัฐบาลอภิสิทธิ์” ลงวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ที่เสนอให้ “ถอย” นั้นไม่ใช่ยอมแพ้ แต่เป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้เป็นเงื่อนไขเชิงรุกได้ ในเมื่อสื่อหลักเป็นฝ่ายตรงข้ามไปแล้ว และสื่อฝ่ายแดงก็ถูกปิด ถูกตัดสัญญาณ ไม่มีพื้นที่ที่จะพูดความจริงอีกด้านเสียแล้ว

๓.ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงเป็นสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามไม่อาจยินยอมได้

หากมองจากจุดของชนชั้นนำ ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่อาจยินยอมให้ได้ และไม่อาจให้ขบวนการขยายใหญ่ไปมากกว่านี้ แม้แกนนำเสื้อแดงจะย้ำนักย้ำหนาว่า เป้าหมายของคนเสื้อแดงหยุดอยู่ที่องคมนตรี ไม่ได้ไปไกลกว่านั้น แต่ดูเหมือนสื่อ นักวิชาการ นักการเมืองฝ่ายขวา คนเสื้อเหลือง คนเสื้อน้ำเงิน ฯลฯ หาได้เชื่อตามนั้นไม่ การชุมนุมของคนเสื้อเหลืองในช่วงรัฐบาลสมัครและสมชาย มีการโจมตีคนเสื้อแดงไว้มากในเรื่องนี้ คือสาธารณะถูกครอบด้วยมุมมองของฝ่ายพันธมิตรอยู่ก่อนแล้ว ไม่เพียงไม่เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาตามจรรยาบรรณของสื่อ แต่ดังที่กล่าวข้างต้นสื่อไทยกระแสหลักกลับมีส่วนร่วมปราบปรามประชาชน ด้วยการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลและทหาร โจมตีคนเสื้อแดงด้วยข้อมูลตัดต่อและข่าวสารแบบด้านเดียว ให้พื้นที่นำเสนอมุมมองของฝ่ายรัฐบาลและทหารอย่างเต็มที่ แต่ไม่มีการสัมภาษณ์คนเสื้อแดงหรือให้แง่มุมของฝ่ายเสื้อแดงแม้แต่คนเดียวในวันนั้น

ก่อนที่เหตุการณ์เช้ามืดวันที่ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ จะเกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์เสนอหน้าทางทีวีบ่อยครั้งก็มักพูดทำนองว่า ข้อเรียกร้องของเสื้อแดงเกี่ยวกับองคมนตรีนั้นสบสน ตนไม่อาจยินยอมให้ได้ ประเด็นนี้จะได้ภาพเห็นชัดขึ้นจากงานของดันแคน แมคคาร์โก ที่เสนอว่า บทบาทองคมนตรี เช่น พล.อ.เปรมนั้น คือการเป็นศูนย์กลางเครือข่ายของราชสำนัก ทำหน้าที่ในการแทรกแซงการเมือง คอยจัดระบบการเมืองให้เอื้อประโยชน์ต่อสถาบัน และบ่อนเซาะทำลายประชาธิปไตย เมื่อเห็นว่าประชาธิปไตยจะคุกคามความอยู่รอดของสถาบัน ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่สาธารณะจะแยกขาดได้อย่างที่ทักษิณกับแกนนำคาดหวัง และข้อเรียกร้องอันนี้ถูกมองว่าเป็นข้อเรียกร้องต่อสถาบันไปด้วยโดยปริยาย การเล่นงานพล.อ.เปรม แล้วบอกยังจงรักภักดีต่อสถาบัน ก็จึงไม่อาจเป็นเกราะป้องกันให้มวลชนรอดพ้นจากกระสุนปืนในเหตุการณ์ครั้งนี้

ตรงข้ามประเด็นนี้แหล่ะที่เป็นจุดเร่งให้การปราบปรามเกิดขึ้น และดูมีความชอบธรรมในสายตาของเหล่าชนผู้จงรักภักดี แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรแตะต้ององคมนตรีนะครับ เพียงแต่ต่อไปคงต้องชัดเจนว่าเราไม่อาจพึ่งหวังว่า การเรียกร้องหรือแยกอะไรอย่างนี้ จะทำให้รอดการปราบ อย่าเชื่อมั่นอะไรอย่างนั้น อันที่จริงสัญญาณอันตรายนี้ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่กรณีนายเนวิน ชิดชอบ ภายหลังจากเข้าพบ พล.อ. เปรม เพียง ๒ วัน ก็ออกมาตีหน้าเศร้ากล่าวหาฝ่ายเสื้อแดงว่า ละเมิด “พระราชอัธยาศัย” นอกจากนี้ยังเชื่อแน่ได้ว่านายเนวินคือผู้อยู่เบื้องหลังกลุ่มเสื้อน้ำเงินที่สกรีนคำ “ปกป้องสถาบัน” กล่าวง่าย ๆ คือ ขณะที่ฝ่ายแดงใช้ประเด็นนี้เป็นเกราะป้องกัน แต่ฝ่ายน้ำเงิน (รวมทั้งรัฐบาลและทหาร) ใช้ประเด็นนี้สำหรับเป็นไม้ตายเล่นงานอีกฝ่ายเลยทีเดียว

เป็นที่รู้กันว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมจากการเป็นตัวแทนของประชาชนแม้แต่น้อย ผู้ที่ให้การยอมรับรัฐบาลชุดนี้ในชั้นแรก ๆ ก็คือ กลุ่มชนชั้นนำส่วนน้อยแต่มีอำนาจมากล้น ฉะนั้น จึงเป็นธรรมดาที่รัฐบาลชุดนี้จะอ้างอำนาจจากสถาบันเช่นเดียวกับรัฐบาลเผด็จการที่มาจากรัฐประหารชุดอื่น ๆ ที่เคยมีในอดีต อ้างปกป้องสถาบัน ใช้ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเล่นงานผู้ที่เห็นต่างจากตน บังคับใช้กฎหมายอย่างป่าเถื่อน (และ/หรือ “สองมาตรฐาน”) เมื่อแรกเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์เข้าพบ พล.อ. เปรม และ พล.อ. เปรม ก็ให้การรับรองรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมนี้ ด้วยคำกล่าวแสดงความชื่นชมยินดีที่ว่า :

“ต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรีและทุกคนที่มาในวันนี้ ผมมีความปิติยินดีมาก และจะจดจำน้ำใจอันดีงามของนายกรัฐมนตรีและพวกเราที่มาในวันนี้ เมื่อนายกรัฐมนตรีได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านได้พระราชทานพระบรมราโชวาทไม่ค่อยยาวเท่าไหร่ แต่ก็ชัดเจนดีว่าท่านรับสั่งอย่างไรบ้าง และนายกรัฐมนตรีได้มาพูดให้สาธารณะได้ยินว่านายกรัฐมนตรีได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม เพื่อจะปฏิบัติให้บรรลุตามที่ทรงพระราชทานกระแสรับสั่ง ผมคิดว่าโจทย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสั้นและชัดเจน แต่คำตอบของนายกรัฐมนตรีคงจะใช้เวลานาน และผมมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะตอบโจทย์ข้อนี้ได้ ขณะนี้บ้านเมืองเรากำลังลำบาก ประชาชนไม่ค่อยมีความสุข พระองค์ท่านจึงรับสั่งเรื่องความสุข บ้านเมืองเราโชคดีที่ได้ท่านมาเป็นนายกรัฐมนตรี ผมมั่นใจว่านายกรัฐมนตรีจะแก้ไขปัญหาของชาติบ้านเมืองได้ด้วยความร่วมมือของคนทั้งประเทศ
ผมดีใจที่ได้นายกรัฐมนตรีชื่ออภิสิทธิ์ และคิดว่าคนไทยก็ดีใจ แต่คนไทยยังคงไม่หายกลัวเท่าไหร่ คงต้องรอดูว่านายกรัฐมนตรีจะเอาอะไรไปมอบให้เขาได้บ้าง ในระยะเวลาที่คุณอภิสิทธิ์เป็นผู้นำรัฐบาล
ผมรู้จักคุณอภิสิทธิ์มานานพอสมควร และเข้าใจดีว่าคุณอภิสิทธิ์เข้ามาเล่นการเมืองเพื่ออะไร จึงมั่นใจว่าคุณอภิสิทธิ์จะช่วยแบ่งเบาภาระ... อย่างที่บอกแล้วว่าโจทย์นี้ยาก แต่ไม่ยากเกินกว่าจะทำได้ ดีใจที่มีพวกเราเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระ คิดว่างานนี้ไม่เบา และต้องเหนื่อยมาก ๆ”

อีกอย่างที่ไม่ควรลืมก็คือว่า ทหารอยู่ในฐานะพี่เลี้ยงผู้อุปถัมภ์ค้ำจุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ เพราะการกดดันของพล.อ.อนุพงษ์ ทำให้กลุ่มเนวินตัดสินใจย้ายขั้วมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาล และเป็นที่รู้กันว่าประโยคเด็ดที่พล.อ.อนุพงษ์ ใช้ข่มขู่เนวินนั้นคือประโยคที่ว่า “รู้ไหมว่าพวกคุณกำลังสู้อยู่กับใคร ไม่มีวันชนะหรอก ...อยู่ตรงนี้” และรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็แถลงอยู่เสมอตั้งแต่วันแรก ๆ ของการจัดตั้งรัฐบาลแล้วว่า รัฐบาลจะทำหน้าที่ปกป้องสถาบันอย่างแข็งขัน มีการเล่นงานฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอยู่เสมอ และบทบาทของทหารที่มีต่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ในช่วงจัดตั้งรัฐบาลดังกล่าวข้างต้นนั้นก็ทำให้บุคคลสำคัญ เช่น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาต, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในทางปฏิบัติแล้วท่านเหล่านี้ล้วนอยู่ในฐานะที่มีอำนาจมากกว่านายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ ตรงนี้ก็ทำให้เชื่อแน่ได้ว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่ในสถานะที่จะสั่งการให้ทหารทำอะไรได้จริง แม้การปราบปรามประชาชนเสื้อแดงจะกลายเป็นผลประโยชน์ร่วมกันในหมู่ชนชั้นนำไปแล้วก็ตาม แต่สุเทพกับอภิสิทธิ์ก็ไม่ได้มีอำนาจและสติปัญญามากพอที่จะสั่งให้ทหารทำการปราบปรามถึงขั้นนั้นได้

คำถามก็คือว่า ในเมื่อรัฐบาลทักษิณยังเป็นแต่เพียง “จ๊อกกี้” ในสายตาของบุคคลระดับสูง แล้วรัฐบาลอย่างอภิสิทธิ์-สุเทพนี้จะเป็นเจ้าของม้าไปได้อย่างไร ? ข้อน่าสังเกตก็คือว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่าเพราะผู้มีอำนาจที่แท้จริงรู้ดีว่าตนจะไม่ตกเป็นจำเลยผู้รับผิดชอบต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นจริง ที่เหลือหากมีอะไรหลุดรอดก็เป็นหน้าที่ของ “จ๊อกกี้” อย่างอภิสิทธิ์อย่างสุเทพที่ต้องรับไปแก้ไขตอบโต้เอาเอง! ถึงตรงนี้คงต้องกล่าวด้วยว่า เป็นความจริงทีเดียวที่ในสังคมไทยปัจจุบัน “รัฐ” ไม่ใช่ที่มาของอำนาจหลักอย่างแท้จริง แต่ “รัฐ” ถูกใช้เป็นเพียงที่มั่นสุดท้ายของความขัดแย้งและการต่อสู้ที่สำคัญ ๆ เท่านั้น

การปราบปรามประชาชนในครั้งนี้ก็จึงทิ้งข้อน่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า น่าจะมีบุคคลระดับสูงที่มีอำนาจสั่งทหารได้จริงเกี่ยวข้อง หรือไม่รัฐบาลก็คงได้รับ “ไฟเขียว” จากบุคคลระดับสูงกว่ารัฐบาลขึ้นไป (นอกเหนือจาก “ไฟเขียว” ที่ได้รับจากสื่ออย่างสม่ำเสมอ) อย่าลืมนะครับว่าช่วงนี้อยู่ในช่วงของการจัดระบบการเมือง เพื่อรองรับปัญหาการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดในอนาคต เป็นไปได้อย่างไรที่ชนชั้นนำไทยขณะนี้มืดบอดกับการจัดการปัญหาอันนี้ ถึงขนาดเอาสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นมาเป็นปัญหาก่อความขัดแย้งในปัจจุบัน ถูกต้องใช่แน่แล้วหรือว่า การเมืองแบบเผด็จการสุดขั้วนั้นจะช่วยปกปักรักษาสถาบันชั้นสูงได้ดีกว่าการเมืองระบอบประชาธิปไตย ต้องให้เสียหายอีกเท่าไหร่ถึงจะคิดได้ว่าที่ทำกันอยู่นี้น่ะผิดพลาดอย่างสิ้นเชิง!?

กล่าวโดยสรุป หากจะพิจารณาว่าการปราบปรามประชาชนในครั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะมีสาเหตุมาจากอะไรใน ๓ ประเด็นข้างต้น ก็น่าสนใจว่าประเด็นที่ ๓ ยังคงเป็นประเด็นที่น่าจะพิจารณามาเป็นลำดับแรก ประเด็นที่ ๒ ก็มีส่วนไม่น้อยที่ทำให้ฝ่ายชนชั้นนำอดรนทนไม่ได้ในที่สุด ส่วนประเด็นแรกนั้นไม่มีความเป็นไปได้เท่าไรนัก อย่างไรก็ตาม แม้เสื้อแดงจะถูกปราบจนต้องสลายการชุมนุมไปในวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ แต่อย่างน้อยที่สุดนั้นการต่อสู้ครั้งนี้เสื้อแดงก็ประสบความสำเร็จใน ๔ ประการด้วยกันดังนี้

๑.เสื้อแดงได้พิสูจน์ให้เห็น “ความเป็นทรราช” ของรัฐบาลอภิสิทธิ์และกลุ่มอำนาจชนชั้นนำผู้อยู่เบื้องหลัง การปราบปรามประชาชนครั้งนี้จะเป็นตราบาปของรัฐบาลชุดนี้ต่อไปอีกนาน เหตุการณ์ปราบปรามครั้งนี้ก่อให้เกิดความเจ็บแค้น ไม่พอใจในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เพียงต่อบุคคลระดับรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงอีกกลุ่มอำนาจที่วางตัวอยู่เหนือรัฐบาลขึ้นไปอีกด้วย เพราะถึงอย่างไรก็ยากจะอธิบายว่าการปราบปรามประชาชนในครั้งนี้มีที่มาจากเพียงคำสั่งของนายอภิสิทธิ์ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น

๒. การต่อสู้ครั้งนี้ทำให้ประชาชนระดับพื้นฐานตื่นตัวทางการเมืองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เท่าที่สอบถามหลายคนยังใจสู้ หากเกิดการต่อสู้แบบนี้อีกก็จะเข้าร่วมอีกแน่นอน ปัญหาจึงตกอยู่ว่าในการสู้อีกครั้งนั้นจะสู้อย่างไร พลังของประชาชนจึงจะแสดงผลในทิศทางที่ถูกต้องที่ควรจะเป็นและได้รับชัยชนะในท้ายสุดเท่านั้น แนวโน้มหนึ่งก็คือการให้ความสำคัญกับสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง

๓. (สืบเนื่องจาก ๒ ประการข้างต้น) ปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม หรือที่คนเสื้อแดงเรียก “สองมาตรฐาน” จนถึงความจำเป็นที่ต้องเรียกร้องความเท่าเทียมกัน เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจว่าเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ แม้แต่ในหมู่ฝ่ายตรงข้ามเสื้อแดง ก็เห็นความพยายามที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ เช่น พูดถึงกระบวนการเยียวยา การปฏิรูปการเมืองเป็นต้น ปัญหาคือเสื้อแดงเองก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะคิดหวังอะไรให้คนพวกนี้หยิบยื่นความช่วยเหลือหรือการแก้ปัญหาที่ถูกต้องอะไรได้ ยังคงเป็น “สองมาตรฐาน” อยู่ดังเดิมนั่นแหล่ะ และเป็นอย่างนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะสร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลและกลุ่มชนชั้นนำขณะนี้อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะงั้นในท้ายสุดก็เชื่อแน่ได้ว่า ปัญหานี้จะคลี่คลายหรือถูกแก้ไขได้ลุล่วงก็แต่โดยประชาชนเองเท่านั้น

๔. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ หนึ่งในข้อเรียกร้องของฝ่ายเสื้อแดง เกิดกระแสได้รับความสนใจ แต่ใครจะเป็นผู้แก้ ประเด็นอยู่ตรงนี้ รัฐบาลอภิสิทธิ์ก็บอกจะพิจารณาเรื่องนี้ แต่เราต่างรู้ดีคือ “ไม่มีทางที่งาช้างจะงอกจากปาก...” พวกเขากำลังเอาเรื่องนี้มาดับกระแส ชะลอให้การแก้ไขที่แท้จริงต้องเลื่อนออกไป ไม่ก็ใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นป้องกันไม่ให้เกิดกาชุมนุมใหญ่อีก ในอนาคตเรื่องนี้จะตกเป็นภาระหน้าที่ของขบวนการประชาธิปไตยอย่างไม่ต้องสงสัย

นอกจากนี้แล้ว ผลจากการชุมนุมใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการคือ หลังสลายชุมนุมผ่านไปแล้วรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็ยังไม่กล้าจะประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินโดยทันที แถมยังปิดวิทยุชุมชน ปิดสถานี D-Station ปิดเวบไซต์ของฝ่ายเสื้อแดง ทั้งที่รัฐบาลแถลงแล้วว่าได้จัดการนำความสงบกลับคืนมาเรียบร้อยแล้ว แต่กลับต้องสาละวนกับการตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามผ่านสื่อแบบวันต่อวัน แต่ถึงอย่างไรข้อเท็จจริงของ ๑๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๒ ก็จะไม่เพียงทำให้บุคคลในรัฐบาลชุดนี้หลุดจากตำแหน่งไปเท่านั้น แต่จะรับโทษในฐานะฆาตกรมือเปื้อนเลือดหรือไม่ยังต้องรอดูกันต่อไป...

(สรุปของสรุป) มองในแง่ประวัติศาสตร์แล้ว เหตุการณ์นี้จะไม่เป็นเหมือน ๑๔ ตุลา’ และพฤษภา’ ๓๕ เพราะชัยชนะของประชาชนจะไม่ใช่ได้มาในเวลาอันสั้น และก็ไม่เป็นเหมือนแม้แต่เหตุการณ์ ๖ ตุลา’ ที่พ่ายแพ้เพราะถูกปราบถูกฆ่า ไม่มีป่า ไม่มีพรรค ให้ถอยหนีไปพึ่งพิง แม้จะมีชนบทอันไพศาลอยู่ก็ตาม แต่ครั้งนี้จะเป็นชัยชนะในการต่อสู้ระยะยาว ระหว่างนี้เราทุกคนต่างจะได้เรียนรู้ร่วมกัน หาทางออกให้ได้ในที่สุดว่า สังคมที่มีความยุติธรรมและเท่าเทียมกันอย่างที่เราค้นหาและต่อสู้เพื่อได้มานั้นเป็นแบบไหน เรากำลังเริ่มประวัติศาสตร์ใหม่กันจริง ๆ ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ ขับเคลื่อนประชาธิปไตยไทยให้ก้าวเดินไปในทิศทางที่ควรจะเป็น... ก็เท่านั้นเองมิใช่หรือ ?








เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์