การเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา
ภายหลังรัฐบาลประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ส่งกองกำลังทหารออกมาสลายม็อบเสื้อแดงจนสงบราบคาบ
เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดการณ์แต่แรก นั่นคือทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างฝ่ายต่างใช้สภาเป็นเวทีสาดสีใส่กันตลอดช่วงการประชุม 2 วันเต็มเหยียด
เปิดสงครามคลิปวิดีโอหักล้างกันช็อตต่อช็อต
แล้วก็เป็นฝ่ายรัฐบาลที่คุมเกมไว้ได้หมด ถึงจะมีจังหวะเพลี่ยงพล้ำบ้างแต่ก็น้อย
เช่นกรณีคลิปวิดีโอทหารใช้กระบองรุมฟาดชายเสื้อแดง ที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทยนำมาเปิดแฉ ทำเอารัฐบาลถึงกับพูดไม่ออก
หรือภาพรถบรรทุกแก๊สที่ไปจอดพักอยู่ในคิง เพาเวอร์ ที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและแกนนำเสื้อแดง ยกขึ้นมาโชว์กลางสภา
รัฐบาลก็แกล้งทำลืมไม่ชี้แจง
ถึงอย่างนั้นก็ตามถ้านับกันหมัดต่อหมัดแล้ว ฝ่ายค้านยังด้อยกว่าด้านการนำเสนอข้อมูลไพ่ตาย ที่พยายามกล่าวหารัฐบาลสั่งทหารปราบม็อบด้วยวิธีรุนแรง ทำให้มีประชาชนเสียชีวิต
แต่ก็ขาดพยานหลักฐานยืนยัน
ยิ่งข้อกล่าวหาว่าทหารซ่อนเร้นอำพรางศพ ถ้าจริงก็ไม่น่ารอดพ้นสายตาสื่อไทยและต่างประเทศที่เกาะติดสถานการณ์ในพื้นที่นาทีต่อนาทีได้
ตรงนี้เองทำให้ส.ส.ซีกรัฐบาลหยิบขึ้นมาเป็นประเด็นซัดกลับฝ่ายค้าน ว่าต้องการบิดเบือนยัดข้อหาฆาตกรมือเปื้อนเลือดให้กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ เพื่อปลุกกระแสประชาชนให้เคียดแค้นชิงชัง
นำไปสู่การลุกฮือขับไล่รัฐบาล
ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริงหลังจบการอภิปราย ฝ่ายค้านถือว่ายังอยู่ไกลจากเป้าหมายดังกล่าวลิบลับ
หลังทุบม็อบเสื้อแดงจนกระเจิง พร้อมเปิดประชุมรัฐสภาให้ฝ่ายตรงข้ามได้ระบายอารมณ์ น่าจะช่วยให้รัฐบาลคลายความกดดันลงได้มาก
แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังไม่น่าไว้วางใจอยู่ดี
เนื่องจากแกนนำเสื้อแดงที่หลบหนีหมายจับไปตั้งหลักต่างประเทศ ประกาศปลุกเร้าให้มวลชนจับอาวุธขึ้นสู้ หันมาเล่น"เกมใต้ดิน"เป็นหลัก
ขณะที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ศูนย์กลางความขัดแย้งตัวการทำให้ประเทศไทยแตกเป็นเสี่ยงๆ ยังมีข่าวบินไปโผล่ประเทศแถบแอฟริกา ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศโจมตีรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีท่าทียอมจำนนต่อกระแสมวลชนที่ดีดกลับ
สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจดังกล่าวนี้เอง เป็นตัวกดดันให้นายอภิสิทธิ์จำเป็นต้อง"เปิดก๊อกสอง" เสนอแนวคิดแก้รัฐธรรมนูญ และนิรโทษกรรมคดีการเมือง
ในการประชุมรัฐสภา นอกจากประเด็นการใช้ความรุนแรงเข้าสลายม็อบเสื้อแดง อีกประเด็นที่ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทยหยิบยกขึ้นมาโจมตีรัฐบาล
คือการปฏิบัติตัวสองมาตรฐาน
โดยเฉพาะมาตรฐานปฏิบัติระหว่างม็อบเสื้อเหลืองกับม็อบเสื้อแดงที่ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และดูเหมือนเป็นข้อกล่าวหาที่รัฐบาลดิ้นไม่หลุด
ด้วยเหตุนี้เองนายอภิสิทธิ์ จึงเสนอต่อรัฐสภาให้ตั้งคณะกรรมการร่วมฝ่ายวุฒิสภา รัฐบาลและฝ่ายค้าน เพื่อประมวลตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด
กับอีกเรื่องคือเสนอให้ทุกพรรคการเมือง รวมทั้งวุฒิสภา ใช้เวลา 2 สัปดาห์ รวบรวมข้อข้องใจหรือประเด็นที่มองว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายฉบับใดไม่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นธรรม
จากนั้นเสนอต่อประธานสภาผู้แทนฯ ประธานวุฒิสภา และวิป 3 ฝ่าย เพื่อหาข้อตกลงกันว่าจะเดินหน้าอย่างไร และเมื่อดำเนินการจนได้กฎกติกาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายแล้ว
ค่อยมาพูดถึงเรื่องยุบสภา
ยังไม่มีใครทราบเจตนาแท้จริงของนายอภิสิทธิ์ ในการออกมาเปิดประเด็นแก้รัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรม
ว่าต้องการทำเพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้งทางการเมือง หรือต้องการซื้อเวลาอยู่รอดของรัฐบาลเพราะรู้ดีว่าจะต้องเกิดกระแสต่อต้านจนไม่สามารถทำได้สำเร็จ
แต่เท่าที่เห็นคือไม่ทันไรหลังจากนายกฯ โยนความคิดนี้ออกมาไม่กี่วัน ก็มีสัญญาณคัดค้านออกมาจากหลายฝ่ายทั้งที่เป็นตัวคนและกลุ่มองค์กร
โดยมองตรงกันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของศาลเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง
กับอีกพวกที่คัดค้านเพราะเกรงว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นการ"ปล่อยผี"บ้านเลขที่ 111 และ 109 ให้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง
แน่นอนว่านั่นหมายถึงการสะสางความแค้นครั้งใหญ่
แม้แต่นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน สองผู้อาวุโสพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนี้กลับมามีความเห็นในทางเดียวกันว่ายังไม่สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญตอนนี้
ไม่เช่นนั้นผลร้ายจะตกอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์เอง
ที่สำคัญแต่ไหนแต่ไรมาประวัติศาสตร์ทางการเมืองบันทึกไว้ ทุกครั้งที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญยากจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางความคิด และหลายครั้งบานปลายเป็นความแตกแยกรุนแรง
ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันบาดแผลประเทศชาติยังไม่ทันตกสะเก็ด
ดังนั้น การเปิดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญและการนิรโทษกรรมขึ้นมา นายอภิสิทธิ์จะต้องระมัดระวังและต้องแน่ใจว่าการสานประโยชน์เฉพาะในหมู่นักการเมืองด้วยกัน
จะไม่เป็นการจุดชนวนความขัดแย้งในสังคมรอบใหม่ขึ้นมาอีก