เริ่มเห็นเค้าลางกันบ้างแล้วว่าอะไรเป็นอะไร
คดีกลุ่มคนขับรถกระบะดักยิงถล่มนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรที่ทางตำรวจชุดทำคดีพบว่าปลอกกระสุนเอ็ม 16 ซึ่งพบในที่เกิดเหตุ
เป็นกระสุนผลิตโดยกรมสรรพาวุธทหารบก ตีตรา RTA ย่อมาจาก ROYAL THAI ARMY ส่งให้เฉพาะหน่วยทหารในกองทัพภาคที่ 1 ใช้เท่านั้น
แล้วก็ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย ล่าสุดพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ยอมรับจากการตรวจสอบร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นกระสุนที่มาจากกองพลทหารราบที่ 9 ในสายงานการบังคับบัญชาของกองทัพภาคที่ 1 จริง
เป็นกระสุนฝึกและรั่วไหลออกมา
ส่วนรายละเอียดว่ารั่วไหลมาจากหน่วยใดเป็นเรื่องยากในการตรวจสอบ แต่ถึงยากก็ต้องสอบหาผู้รับผิดชอบตามกฎระเบียบกองทัพต่อไป
ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้วจะไปได้ถึงไหน
จะเป็นอย่างที่ใครต่อใครหลายคนเชื่อหรือไม่ว่าคดีใดก็ตามที่ "คนมีสี" เข้าไปมีส่วนพัวพัน โดยเฉพาะ "สีเขียว" ซึ่งหมายถึงคนในกองทัพด้วยแล้ว
ยากจะคลี่คลายจนถึงที่สุด
อย่างไรก็ตามการที่พล.อ.อนุพงษ์ยอมรับเรื่องกระสุนก็เท่ากับยอมรับกลายๆ ว่ามีคนในกองทัพเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการมุ่งสังหารนายสนธิ
แต่จะเกี่ยวข้องในแง่มุมใด มากน้อยแค่ไหน
เช่น อาจเกี่ยวข้องหรือบกพร่องเพียงแค่การทำกระสุนปืนสงครามหลุดรอดไปอยู่ในมือของโจรผู้ร้าย เอาไปใช้เข่นฆ่าประชาชนพลเมืองของประเทศ
หรือถึงขั้นลงมือเองแบบครบวงจรด้วย "อาวุธ" และ "คน" ของกองทัพ
ทั้งหมดเป็นเรื่องท้าทายความสามารถและความกล้าหาญของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดทำคดีอย่างมาก
ในช่วงกระแสการแก้ไขรัฐธรรมนูญกำลังมาแรง โดยเฉพาะมาตรา 237 ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง
ว่าหากปรากฏหลักฐาน "อันควรเชื่อได้ว่า" หัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย
ให้ดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการ "ยุบพรรค" และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคนั้นยกแผงเป็นเวลา 5 ปี
ประเดี๋ยวก็คงจะมีคนออกมาพูดเปรียบเทียบให้ฟังอีกว่า แล้วในคดีนายสนธิ หากมีหลักฐาน "อันควรเชื่อได้ว่า" คนของกองทัพเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง
ถ้าถึงขั้นจะต้องยุบกองทัพทิ้ง หรือให้ผู้นำทหารต้องลาออก
จะเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร