เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 24 เม.ย. ที่ศาลอาญา รัชดา พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผบช.น.
ยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งแรกนายวีระ มุสิกพงศ์ อายุ 60 ปี นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อายุ 33 ปี และนพ.เหวง โตจิราการ 58 ปี แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) ผู้ต้องหาที่ 1-3 คดีปลุกระดมมวลชนเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งศาลอาญาได้อนุมัติออกหมายจับพร้อมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 14 คน ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา หลังจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศยุติสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล
นายคารม พลทะกลาง ทนายความ นปช. กล่าวว่า ตนยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน
เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ประกาศยกเลิกพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว และที่ผ่านมาพ้นระยะเวลาการควบคุมตัว 48 ชั่วโมงตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย.แล้ว และยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งสาม ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน ขณะเดียวกันตนก็ยื่นคำร้องขอประกันตัว 3 แกนนำด้วย ซึ่งเตรียมหลักทรัพย์ทั้งเงินสดคนละ 5 แสนบาท และตำแหน่ง ส.ส. ต่อศาล รวมทั้งตำแหน่ง ส.ส. ของนายการุณ โหสกุล และนายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ต้องหาทั้งสามถูกนำตัวจาก บก.ตชด.ภาค1 มายังศาล โดยมีกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล 2 จำนวน 1 กองร้อย 150 นาย
กระจายกำลังรอบบริเวณศาลเพื่อดูแลความปลอดภัย ซึ่งวันนี้มีกลุ่มผู้สนับสนุน นปช. สวมเสื้อแดง และเสื้อผ้าหลากสีประมาณ 30 คน เดินทางมา พร้อมนำดอกกุหลาบสีแดงมามอบให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งนายมานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ และนายการุณ โหสกุล ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางมาให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้งสามด้วย
ต่อมาเวลา 14.00 น. ที่ห้องพิจารณา 801 ศาลได้ไต่สวนคำร้องฝากขังของพนักงานสอบสวนและคำคัดค้านฝากขังผู้ต้องหา
โดยพล.ต.ต.อำนวย เข้าเบิกความสรุปว่า หลังจากศาลออกหมายจับผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 14 เม.ย. เวลา 15.30 น. ผู้ต้องหาแสดงตนต่อพนักงานสอบสวน บช.น. ซึ่งแจ้งข้อหาดำเนินคดี ต่อมาวันที่ 16 เม.ย. เวลา 08.00 น. พนักงานสอบสวนควบคุมตัวผู้ต้องหามายื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาควบคุมตัว ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ตามที่ถูกออกหมายจับ และควบคุมตัว ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 11 อนุ1 มาตรา 12 เป็นเวลา 7 วัน และวันที่ 24 เม.ย. เวลา 12.00 น. นายกฯประกาศยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เจ้าพนักงานจึงหมดอำนาจควบคุมตัว ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ จำเป็นต้องยื่นคำร้องฝากขังในคดีอาญาเป็นเวลา 12 วัน
เมื่อเวลา 17.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกันคนละ 500,000 บาท
พร้อมทั้งสั่งห้ามออกนอกราชอาณาจักร และห้ามพูดจายั่วยุประชาชน ทั้งนี้ 3 แกนนำนปช.ระบุว่าจะขอปรึกษาทนายก่อนว่าจะร่วมชุมนุมที่สนามหลวงในวันพรุ่งนี้ได้หรือไม่ อย่างไรก็ตามสิ่งแรกที่จะทำก็คือเดินหน้าตรวจสอบการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมที่เกิดจากทหารกระทำความรุนแรง