แม้เหตุความวุ่นวายในเขตพื้นที่ กทม. และปริมณฑล กลับเข้าสู่ "ภาวะปกติ" ในระดับหนึ่ง
ภายหลังเจ้าหน้าที่สลายการชุมนุม "เวทีคนเสื้อแดง" สิ้นสุดลงไป เมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ตามที่รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) มอบ "อาญาสิทธิ" ให้ทหารเข้าปฏิบัติภารกิจ
แต่จากการประเมินสถานการณ์ของรัฐบาลและหน่วยความมั่นคง ยังเห็นพ้องให้คงประกาศ "พ.ร.ก.ฉุกเฉิน" ไว้ เพื่อให้สิทธิเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติตามอำนาจที่มีอยู่ของกฎหมายฉบับพิเศษนี้
มูลเหตุที่หน่วยความมั่นคงประเมินแล้วอ้างถึง "ความจำเป็น" ที่ต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อาทิ
1.ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ในการปฏิบัติภารกิจดูแลความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เนื่องจากหน่วยงานด้านการข่าวรายงานว่า แม้สถานการณ์ที่มีการกระทำผิดกฎหมายชัดเจน เช่น ปิดเส้นทางจราจร ยึดสถานที่ราชการจะลดความเคลื่อนไหว และมีแนวโน้มว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่การก่อเหตุวินาศกรรมจากกลุ่มบุคคลที่ 3 ต้องการสร้างสถานการณ์รุนแรงขึ้น ยังมีความเคลื่อนไหวอยู่
ดังนั้น ยังจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายที่รองรับการปฏิบัติภารกิจของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น
2.เอื้อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจให้การเร่งหาพยานหลักฐาน และสรุปสำนวนคดีที่เกิดขึ้นทั้งการควานหากลุ่มบุคคลที่มีส่วนในการพยายามสังหารนายกรัฐมนตรี และสรุปคดีความผิดทางอาญาที่เกิดขึ้นในระหว่างสลายการชุมนุมในแต่ละจุด
3.เจ้าหน้าที่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมตัวแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) อาทิ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ และแกนนำคนอื่นๆ ด้วยเหตุที่หน่วยงานความมั่นคง เห็นว่ายังต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไว้ ซึ่งอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้สิทธิเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยได้ครั้งละ 7 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน เพื่อสอบถามในข้อเท็จจริงในการดำเนินการต่างๆ
ทั้งนี้ หากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อำนาจดังกล่าวก็ต้องเข้าสู่อำนาจตามกฎหมายปกติ คือ กฎหมายอาญา และกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่อำนาจควบคุมตัวทำได้เฉพาะบุคคลที่มีความผิดในคดีอาญาเท่านั้น หากบุคคลใดไม่มีการแจ้งความผิดอาญาไว้ก็ต้องปล่อยตัวไป และการดำเนินการกักขัง คุมขัง นั้น ต้องขออนุมัติหมายศาลเพื่อดำเนินการทุกครั้ง ซึ่งอาจไม่อำนวยความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ในการสรุปสำนวนคดี
ด้วยมูลเหตุที่กล่าวมา ทำให้หน่วยความมั่นคงมีความเห็นว่ายังจำเป็นต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้ไว้