"มติชน"เปิดร่างสคริปต์ "คำถาม-คำตอบ" "พัชรวาท" เตรียมไว้แจงสาเหตุ คดี "เหลือง-แดง"ต่างกัน ผ่าน สทท. เมื่อค่ำวันที่ 20 เม.ย. ซึ่งในที่สุด ไม่ได้ตอบตามที่เตรียมไว้ แต่ให้ผู้รับผิดชอบโดยตรงเป็นคนตอบเอง
- ทำไมเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงดำเนินการกับผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ไม่เหมือนกัน ทั้งที่กระทำผิดในลักษณะเดียวกัน เช่น ออกหมายจับกลุ่ม นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ออกหมายเรียก พธม.?
การอำนวยความยุติธรรมในทางอาญา มีกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง ข้อบังคับที่ชัดเจน ดังนั้นจะเลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มใดหรือสีเสื้อใดแตกต่างกันไปไม่ได้ ในการพิจารณาว่าจะออกหมายเรียกผู้ต้องหาก่อน หรือจะออกหมายจับโดยทันที หลักเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งนอกเหนือจากความหนักเบาของข้อหาแล้ว จะต้องพิจารณาว่าจำเป็นจะต้องจับกุมเพื่อระงับเหตุ ยับยั้งผลร้ายที่จะเกิดขึ้นโดยทันทีหรือไม่ ขอยกตัวอย่างเช่น พบเห็นขณะคนร้ายกำลังทุบรถผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องจับกุมทันทีเพื่อระงับเหตุ แต่ถ้าหากทุบรถเสร็จเรียบร้อยกลับบ้านไปแล้ว ความจำเป็นที่จะจับกุมเพื่อระงับเหตุผ่านพ้นไปแล้ว เจ้าหน้าที่อาจพิจารณาออกหมายเรียกก่อนแทนการออกหมายจับทันที ย่อมอยู่ในวิสัยจะทำได้ตามหลักการและเหตุผลดังกล่าว
- มีการประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขณะมีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อเหลือง และเสื้อแดงเหมือนกัน เหตุใดการควบคุมตัวแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงจึงอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก. แต่กรณีกลุ่มเสื้อเหลืองไม่ใช้?
การบังคับใช้ให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อผู้มีอำนาจออกประกาศ ข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการปฏิบัติ ให้ครบถ้วนก่อน เช่น เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจสืบสวนสอบสวน สถานที่ควบคุมตามที่กำหนดซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติสามารถดำเนินการได้ แต่ในครั้งก่อนไม่มีการออกประกาศข้อกำหนดให้ครบถ้วนเพื่อเอื้ออำนวยต่อการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่จึงไม่สามารถดำเนินการได้ จึงแตกต่างกับครั้งนี้
- "ดีสเตชั่น" ของกลุ่มคนเสื้อแดงถูกจับดำเนินคดีและถูกตัดสัญญาณ ขณะที่ "เอเอสทีวี" ของกลุ่มคนเสื้อเหลืองไม่ถูกดำเนินการในมาตรฐานเดียวกัน?
ดีสเตชั่นถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหาผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนเอเอสทีวีมีข้อจำกัดไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีได้ เนื่องจากได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ 147-148/2549 ลงวันที่ 24 เมษายน 2549 ปัจจุบันยังได้รับความคุ้มครองตามคำสั่งดังกล่าวอยู่
- ตำรวจให้ความสำคัญในการติดตามจับกุมผู้ต้องหากลุ่มคนเสื้อแดงมาดำเนินคดีถึงขนาดตั้งรางวัลนำจับรายละ 50,000 บาท ขณะที่หมายจับของกลุ่มคนเสื้อเหลืองไม่ให้รางวัลแต่อย่างใด?
กรณีที่ตำรวจประกาศให้รางวัลนำจับกับผู้แจ้งเบาะแสรายละ 50,000 บาทนั้น เป็นการให้รางวัลพลเมืองดีที่สามารถชี้ช่องเบาะแสให้ตำรวจสามารถติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหา เพราะขณะนี้มีเพียงภาพถ่ายขณะก่อเหตุ ยังไม่ทราบชื่อ ที่อยู่ของบุคคลเหล่านั้นจำนวน 19 คนที่ก่อเหตุที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 ทราบเพียงคนเดียวคือ นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน อีกทั้งเป็นการกระทำที่อุกอาจมาก
เปิดร่าง คำถาม-คำตอบ พัชรวาท เตรียมแจงสาเหตุ คดี เหลือง-แดงต่างกัน ผ่าน สทท.
- ดำเนินคดีต่างๆ กับกลุ่มคนเสื้อแดงด้วยความรวดเร็ว ขณะที่คดีของกลุ่มคนเสื้อเหลืองเป็นไปด้วยความล่าช้า?
การดำเนินคดีแต่ละเรื่องจะมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันด้านระยะเวลาของการดำเนินการ เช่น ความยุ่งยากในการรวบรวมพยานหลักฐาน ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงในการดำเนินคดีที่กระทำผิดต่อเนื่องหลายท้องที่ เช่น ทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวนผู้กระทำความผิด การดำเนินคดีกับ พธม.ทุกคดีมีความคืบหน้า เช่น กรณีการบุกรุกทำเนียบรัฐบาล ได้สอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว มีความเห็นสั่งฟ้อง 9 แกนนำ ส่งสำนวนให้อัยการไปหลายเดือนแล้ว (5 พฤศจิกายน 2551), การดำเนินคดีกับ พธม.ปิดล้อมรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 สอบสวนเสร็จสิ้นและได้แจ้งข้อหาบรรดาแกนนำและผู้ร่วมกระทำผิดรวม 21 คนเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2552 ผู้ต้องหาขอให้การเพิ่มเติมในวันที่ 27 เมษายน 2552 ภายหลังให้การเพิ่มแล้ว จะสามารถสรุปสำนวนเสนออัยการได้ทันที ปัจจุบันคงค้างเฉพาะกรณีบุกยึดสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิเท่านั้น
สำหรับคดียึดสนามบินสุวรรณภูมินั้น เราสอบสวนเสร็จสิ้นไปแล้วประมาณ 95% คงเหลือพยานความเสียหายด้านเศรษฐกิจ พยานหลักฐานที่รวบรวมแล้วเพียงพอที่จะยืนยันความผิดและตัวผู้กระทำความผิดได้แล้ว สามารถไปรวมกับเหตุการณ์ที่สนามบินดอนเมืองเพื่อดำเนินคดีผู้กระทำผิดได้ สาเหตุที่ใช้เวลาสอบสวนเนื่องจากเป็นการกระทำผิดความหลายข้อหา บางข้อหามีโทษสูงถึงประหารชีวิต มีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคน มีความจำเป็นจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบในการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐาน แต่รายละเอียดแห่งคดีซึ่งหมายรวมถึงรายชื่อผู้ที่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาถือเป็นความลับ เปิดเผยต่อสาธารณชนไม่ได้
- เหตุการณ์กลุ่มคนเสื้อแดงบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจ-ทหารเข้าไปในโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช แอนด์ รีสอร์ท พัทยา ได้โดยง่าย ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนไม่เด็ดขาด จนเกิดความเสียหาย?
ผู้ปฏิบัติทุกระดับชั้นยึดถือหลักตามนโยบายรัฐบาลในการดำเนินการควบคุมฝูงชนคือไม่ให้ใช้ความรุนแรงกับประชาชนอย่างเคร่งครัด จึงพยายามผ่อนปรน ประนีประนอมอยู่ตลอดเวลา ประกอบกับตำรวจผู้ปฏิบัติยังขาดความชัดเจนด้านมาตรฐานที่ใช้ควบคุมฝูงชน เช่น การกระทำเพียงใดถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สงบ ตัวอย่างที่พบประจำคือ ผู้ชุมนุมจำนวนมากเดินฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่จนเกิดการกระทบกระทั่งกัน
การลงไปเดินในผิวการจราจร เห็นได้จากเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ตำรวจเข้าควบคุมฝูงชนจนเกิดการกระทบกระทั่งกับผู้ชุมนุม และตำรวจถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนชี้มูลตำรวจหลายนายอยู่ในข่ายต้องแจ้งข้อกล่าวหา ยิ่งทำให้ตำรวจขาดความมั่นใจในการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งที่ 166/2552 ลงวันที่ 17 เมษายน 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง เพื่อให้ได้ข้อยุติว่ากรณีดังกล่าวเป็นความบกพร่องอย่างไร หรือไม่
- ทำอย่างไรให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ถูกสังคมตั้งข้อสังเกตในทำนองว่าปล่อยเกียร์ว่างเช่นที่ผ่านมาอีก?
สิทธิการชุมนุมเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 63 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในการชุมนุมสาธารณะเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ... เท่ากับว่ากรณีชุมนุมในสาธารณะได้ก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง กระทบต่อสิทธิของประชาชนโดยทั่วไป ฝ่ายนิติบัญญัติจำเป็นต้องบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้ใช้เป็นเครื่องมือรักษาความสงบเรียบร้อยเช่นเดียวกับนานาอารยประเทศ แม้กระทั่งกัมพูชาก็มีบังคับใช้กฎหมายในลักษณะนี้
กรณีฝ่ายนิติบัญญัติรู้ หรือควรจะรู้แล้วว่าจากการชุมนุมหลายครั้งที่ผ่านมาในประเทศไทยได้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่พิจารณาสร้างกฎหมายเพื่อบังคับใช้ในสังคม แล้วละเว้นไม่ดำเนินการเช่นว่านั้น จะมีความผิดหรือไม่ กรณีนี้ได้เคยตั้งคำถามในกรรมาธิการคณะหนึ่งแล้ว ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติเคยเสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะ เข้าสภาไปเมื่อ พ.ศ.2550 อยู่ในสภาได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
ร่างกฎหมายของเรามีหลักการดังนี้ 1.เป็นบัญญัติเฉพาะการชุมนุมสาธารณะ 2.ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการ ใครเป็นผู้จัดการชุมนุม แกนนำ ผู้ปราศรัย วัตถุประสงค์การชุมนุม เรื่องที่จะปราศรัย จำนวนผู้ชุมนุม, วัน, เวลา, สถานที่ 3.ผู้จัดการชุมนุมต้องรับผิดชอบ 4.เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในการสลายการชุมนุมจะได้รับความคุ้มครอง ฯลฯ
- ความคืบหน้าคดีคนร้ายลอบยิงนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำ พธม.?
คดีนี้แม้ว่าเหตุจะเกิดเวลากลางคืน ประมาณ 05.00 น.เศษ แต่จากการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานโดยผู้บังคับบัญชาระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ลงไปควบคุม กำกับ ดูแล ตรวจสอบ และสั่งการการสืบสวนสอบสวนด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด จนสามารถได้ข้อเท็จจริงเป็นที่แน่ชัดในเรื่อง 1.จำนวนคนร้าย 2.อาวุธที่ใช้ 3.ยานพาหนะที่คนร้ายใช้ 4.จุดเกิดเหตุ 5.กล้องวงจรปิดตามเส้นทางที่นายสนธิใช้จนมาถึงที่เกิดเหตุ ส่วนรายละเอียดในคดีเป็นความลับ ไม่สามารถเปิดเผยได้ อย่างไรก็ตาม การคลี่คลายคดีนี้จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากผู้เสียหายด้วย