คมชัดลึก : นับตั้งแต่มีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง โดยหยิบเอาสีเสื้อมาเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์แสดงตัวตนของกลุ่ม ทั้งสีเหลือง สีแดง และสีน้ำเงิน โดยเฉพาะการชุมนุมครั้งล่าสุดของกลุ่มเสื้อแดง จนกลายเป็นการจลาจลย่อมๆ ทำให้ผู้คนเดือดร้อนกันไปทั้งเมืองนั้น ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจจำหน่ายเสื้อสีแดงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
"คม ชัด ลึก" ออกสำรวจธุรกิจจำหน่ายเสื้อสีย่านบางกะปิและประตูน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งจำหน่ายเสื้อผ้าแหล่งใหญ่ ได้รับคำตอบจากบรรดาลูกค้าที่เดินช็อบปิ้ง ส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงที่จะซื้อเสื้อสีแดงและสีเหลือง ส่งให้รายได้ของ "รุ่งรัชนี มีบุญ" แม่ค้าเสื้อย่านบางกะปิ วัย 37 ปี ลดลงอย่างเห็นได้ชัดตลอดช่วงที่มีการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง
"มีผลกระทบมาก คนไม่เลือกซื้อเสื้อสีแดง บางคนจะซื้อเพื่อนก็ท้วงติงว่า ยังไม่ต้องซื้อเสื้อสีแดงตอนนี้ เคยถามลูกค้าว่าเอาเสื้อสีแดงไหม ลูกค้าหยิบแล้วก็วางเลย ทั้งที่ก่อนหน้าจะมีม็อบเสื้อแดง เสื้อสีแดงจะขายดีมาก ส่วนสีเหลืองยังขายได้ปกติ" รุ่งรัชนี กล่าว
ขณะที่สถานการณ์ของร้าน "ฮัมกา" พ่อค้าเสื้อเชิ้ตโทนสีแดงในศูนย์การค้าตะวันนา วัย 29 ปี ก็ย่ำแย่ไม่ต่างไปจากรุ่งรัชนี เขาบอกว่าเมื่อก่อนนี้เสื้อสีแดงขายดีมาก ตรงกันข้ามกับทุกวันนี้ลูกค้าไม่เลือกซื้อเสื้อสีแดงเลย สาเหตุก็เพราะไม่กล้าซื้อ แต่จะหันไปเลือกโทนสีอื่นแทน แม้ว่าลูกค้าบางคนจะชอบเสื้อสีแดงก็ตาม แต่ก็ให้เหตุผลว่าตอนนี้ไม่กล้าใส่
"ตอนนี้เสื้อสีขาว สีดำขายดีมาก ต่างจากเมื่อก่อนที่คนจะชอบซื้อเสื้อสีแดงมาก แต่เดี๋ยวนี้คนไม่กล้าซื้อเสื้อสีแดงและสีเหลืองแล้ว" แสง ยืนยง แม่ค้าสาววัย 20 เจ้าของแผงขายเสื้อยืดคละสีอีกคนให้ความเห็น
จากศูนย์การค้าตะวันนาย่านบางกะปิมุ่งหน้าไปตลาดประตูน้ำ หลังจากกลุ่มเสื้อแดงประกาศยุติการชุมนุมไปเมื่อวันที่ 14 เมษายน มาวันนี้ "ชัยยศ" พ่อค้าขายเสื้อในตลาดหยิบเอาเสื้อสีแดงมาสวมใส่ เขาบอกว่าเป็นคนชอบเสื้อสีแดงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และตั้งใจจะใส่มาหลายวันแล้ว แต่การชุมนุมประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงยังคงดำเนินอยู่ต่อไป เลยไม่กล้าใส่ เมื่อสถานการณ์คลี่คลายกลับคืนสู่ภาวะปกติจึงหยิบมาใส่ ประกอบกับไม่ได้ออกไปไหนไกลเลยกล้าใส่เสื้อสีแดง
สำหรับ "โอ๋" พ่อค้าจำหน่ายเครื่องพลาสติกย่านเดียวกัน ที่วันนี้ใส่เสื้อสีแดงสดใสเช่นเดียวกัน แต่มีเหตุผลแตกต่างออกไป เขาไม่ได้ตั้งใจจะใส่เสื้อสีแดงเป็นการเฉพาะ เพียงแต่มีเสื้อเหลืออยู่เพียงตัวเดียวเท่านั้นที่ยังไม่ได้ซัก พร้อมกับยืนยันเสียงดังฟังชัดว่า ไม่ได้อยู่กลุ่มเดียวกับผู้ชุมนุมเสื้อแดงอย่างแน่นอน
จากการสอบถามพ่อค้าแม่ค้าเสื้อผ้าในตลาดประตูน้ำต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เสื้อสีแดงขายไม่ได้เลยในช่วงนี้ ส่วนสีเหลืองเองก็ขายได้น้อย แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมครั้งล่าสุดก็ตาม
"ตั้งแต่มีการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มเสื้อสีต่างๆ ทำให้ยอดขายเสื้อสีเหลืองและสีแดงลดลง ลูกค้าหันไปเลือกซื้อสีชมพูและสีฟ้าแทน ส่วนสีแดงกับสีเหลืองขายไม่ค่อยดีมาตั้งแต่มีม็อบแล้ว" ชัยยศ เติมพงศ์เจริญกิจ วัย 29 ปี เจ้าของแผงขายเสื้อในชุดเสื้อยืดคอกลมสีแดง กล่าวสรุปกับ "คม ชัด ลึก"
อย่างไรก็ตาม หลังสถานการณ์คลี่คลาย คนส่วนใหญ่ที่ออกมาเล่นสงกรานต์แทบจะหาคนสวมเสื้อสีแดงไม่ได้เลย หรือหากจะมีก็น้อยมากเพียงร้อยละ 1 และจะอยู่ในกลุ่มเพื่อนๆ เท่านั้น จากการพูดคุยส่วนมากพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พ่อแม่ผู้ปกครองกำชับไม่ให้ใส่เสื้อสีแดงออกมาข้างนอก
ขณะที่ผลวิจัยเอแบคโพลล์ยังชี้ชัดถึงผลกระทบจากการเลือกสีเสื้อในการสวมใส่ของประชาชน โดยสีที่ตระหนักในการเลือกซื้อหรือขณะใส่ออกนอกบ้าน โดยเฉพาะเสื้อสีแดงมีสูงถึงร้อยละ 55.1 รองลงเป็นเสื้อสีเหลืองร้อยละ 40.6 เสื้อสีน้ำเงินร้อยละ 9.2 และไม่ได้คิดหนักในการเลือกสวมเสื้อสีไหนร้อยละ 38.4
นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกถึงการเลือกสีเสื้อในการสวมใส่ของประชาชนว่า เป็นการสะท้อนอารมณ์ของสังคมที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีความแตกแยกกันสูง ครั้งหนึ่งเคยมีสีเหลือง ตอนนี้มีสีแดง ซึ่งสีเสื้อเป็นเชิงสัญลักษณ์ ทั้งที่ความจริงสีก็คือสี
นพ.ชาตรี ยังกล่าวอีกว่า อารมณ์ของสังคมทำให้มีความรู้สึกว่าคนที่สวมเสื้อสีแดงเป็นคนละพวกกับคนสวมเสื้อสีเหลือง หากมองในแง่บวกจริงๆ แล้วที่สังคมปฏิเสธที่จะสวมเสื้อสีแดงหรือสีเหลือง สะท้อนให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่ไม่อยากแบ่งแยกกันเป็นฝักฝ่าย สังคมไทยกำลังได้รับบทเรียนว่า อยากมีความสามัคคีในสังคม เป็นเชิงสัญลักษณ์ที่ปฏิเสธความแตกแยกที่เกิดขึ้นในสังคมขณะนี้
"แล้วเวลาจะช่วยรักษาและคลี่คลายความขัดแย้ง สังคมไทยเป็นสังคมที่รอมชอม คนส่วนใหญ่ในสังคมต้องการเห็นความสามัคคี สิ่งที่ผ่านมาคือบทเรียนของสังคมไทย ซึ่งปฏิเสธความแตกแยก แม้ว่าสังคมไทยจะมีความแตกต่าง แต่ต้องไม่แตกแยก ต้องมีวุฒิทางอารมณ์ของสังคม มองได้ว่ามีความขัดแย้งกันได้เป็นเรื่องปกติ แต่ต้องไม่แตกแยก ขนาดคนในครอบครัวยังมีความแตกต่าง อยากให้มองวิเคราะห์ดูถึงสิ่งที่เหมือนกันมีถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แต่มีความขัดแย้งแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ จึงอยากให้คนที่เห็นเหมือนกัน หันสร้างสรรค์สังคมร่วมกันดีกว่า" นพ.ชาตรี กล่าวทิ้งท้าย