กรุงเทพธุรกิจ
เป็นคดีที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
เมื่อศาลอาญาชั้นต้นมีคำพิพากษาสั่งจำคุก พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และ นายวีระชัย แนวบุญเนียร 3 กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คนละ 4 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
คำพิพากษาดังกล่าวส่งผลให้ทั้ง 3 คนขาดคุณสมบัติ ต้องหลุดจากตำแหน่ง กกต. ไปโดยไม่จำเป็นต้องเซ็นใบลาออก ทั้งยังถูกส่งตัวเข้าไปควบคุมในเรือนจำ เนื่องจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว
ถือเป็นฉากจบที่มีทั้งคน "สะใจ" และ "สะเทือนใจ"
ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่มองว่าเป็นคำตัดสินที่ "สมน้ำสมเนื้อ" หากดูจากพฤติกรรมการแสดงออกที่ผ่านมาของ กกต. ทั้ง 3 คน ไม่ว่าจะเป็นโดยการกระทำ หรือวาจาคำพูด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการเมือง หลังจากนายกรัฐมนตรีประกาศ "ยุบสภา" จนนำไปสู่การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน ต่อเนื่องการเลือกตั้งรอบสองวันที่ 29 เมษายน เป็นต้นมา
พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นำทีม กกต. ยืนหยัดต้านทานกระแสเสียงขับไล่ ที่ดังกระหึ่มไปทั่วทุกซอกทุกมุมในบ้านเมืองอย่างเหลือเชื่อ จนได้รับฉายาว่า "พี่หนา" และ "3 หนา" สื่อถึงความหมายในแง่ลบกับการไม่ยอมลาออกจากตำแหน่ง
ความดื้อด้านของ กกต. ทั้ง 3 เป็นที่โจษจันหนักมากขึ้น หลังจากประมุข 3 ศาล ซึ่งรับพระราชกระแสรับสั่งโดยตรงให้ลงมาแก้ไขวิกฤตบ้านเมือง หารือร่วมกันและมีคำแนะนำให้ กกต. เสียสละลาออก แต่ทั้ง 3 คนยังเพิกเฉย
กระทั่งต่อมาศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งตัดสินให้การเลือกตั้ง 2 เมษายน เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่มิชอบด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ กกต. ทั้ง 3 ก็ยังไม่ยอมลาออก
หลายคนสงสัยว่าอะไรกันแน่
ที่อยู่เบื้องหลังความดื้อด้านอย่างน่าอัศจรรย์ใจนี้?
ย้อนกลับไปดูที่มาของ 5 เสือ กกต. ชุดที่สอง ซึ่งผ่านการลงคะแนนคัดเลือกจากที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2544 เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว คือ ขั้วที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์ เช่น นายจรัล บูรณพันธ์ศรี ซึ่งเสียชีวิตไปแล้ว และ นายปริญญา นาคฉัตรีย์
กับอีกขั้วที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพรรคไทยรักไทย คือ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ, นายวีระชัย แนวบุญเนียร และ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ ที่ลาออกไปเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา ว่ากันว่าการลาออกของ พล.อ.จารุภัทร เป็นการ "ตัดช่องน้อย" หลีกหนีปัญหาและความผิดพลาดที่ กกต. ร่วมกันก่อเอาไว้ และกำลังถูกไล่เช็คบิลอย่างหนัก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ พล.ต.อ.วาสนาได้รับเลือกเข้ามาเป็น กกต. นั้น มีข่าวว่าเป็นเพราะมีความสนิทสนมกับ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ผลักดันกระทั่งได้ขึ้นเป็นเลขาธิการ ปปง. ในยุคที่ นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี
แต่อีกด้านหนึ่งก็ลือกันว่า พล.ต.อ.วาสนา มีความสนิทสนมกับ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เช่นกัน ที่สำคัญ พล.ต.อ.วาสนา ยังมี "สายเลือดตำรวจ" เหมือนกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งต่อมากลายเป็นประเด็นว่า เพราะการที่มีสายเลือดตำรวจเหมือนกัน ที่ทำให้ พล.ต.อ.วาสนามีรูปแบบความสัมพันธ์กับ พ.ต.ท.ทักษิณ
ในลักษณะ "นาย" กับ "ลูกน้อง"
ซึ่งธรรมชาติของตำรวจคนที่เป็น "นาย" จำเป็นจะต้องให้การอุ้มชู เลี้ยงดูและช่วยเหลือในยามที่ลูกน้อง มีปัญหาเดือดร้อนขัดสน ขณะที่คนเป็น "ลูกน้อง" จะมีความจงรักภักดี มีสัญชาตญาณในการปกป้อง ตลอดจนช่วยเคลียร์ปัญหาต่างๆ ให้นาย เป็นการตอบแทนส่วนจะมีการ "ต่างตอบแทน" ในรูปอื่นหรือไม่ เป็นข้อสงสัยที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน
สำหรับ นายวีระชัย แนวบุญเนียร สมัยที่ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ก็มีความสนิทสนมกับ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และ นายเสนาะ เทียนทอง อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย
นายปริญญา นาคฉัตรีย์ ถึงตอนแรกจะมีข่าวว่าสนิทสนมกับซีกประชาธิปัตย์ แต่ก็เข้ามาเป็น กกต. จากการเสนอชื่อของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จนทำให้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า นายปริญญา น่าจะลาออกเป็นคนแรกในทันทีที่ 3 ศาลมีคำแนะนำลงมา
ในยุค 5 เสือ กกต. ที่มี พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ เป็นประธาน ยังมีการปรับโครงสร้างการบริหารใหม่
จากเดิมที่แบ่งงานดูแลรับผิดชอบตามความเชี่ยวชาญของแต่ละคน เช่น ด้านสืบสวนสอบสวน ด้านการเลือกตั้ง ด้านการมีส่วนร่วม และด้านกิจการพรรคการเมือง ขณะที่ประธาน กกต. จะดูแลงานด้านบริหารกลาง และด้านกิจการพรรคการเมืองในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง
เปลี่ยนมาเป็นการแบ่งงานรับผิดชอบเป็นเขตพื้นที่รายภาค โดย นายวีระชัย แนวบุญเนียร รับผิดชอบภาคเหนือ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ รับผิดชอบภาคอีสาน นายปริญญา นาคฉัตรีย์ รับผิดชอบภาคใต้ นายจรัล บูรณพันธ์ศรี รับผิดชอบ กทม. ปริมณฑล และภาคกลาง
ส่วน พล.ต.อ.วาสนา รับผิดชอบภาคตะวันออกและตะวันตก และดูแลงานในภาพรวมทั้งหมด
ถึงแม้ 3 กกต. จะอ้างเหตุผลการไม่ลาออกว่า ต้องการอยู่เพื่อสะสางงานที่คั่งค้าง ไม่ว่าการพิจารณาสำนวนการร้องคัดค้านผลการเลือกตั้งท้องถิ่น การรับรองผล ส.ว. ที่ยังไม่ครบ 200 คน การเลือกตั้ง ส.ก. ตลอดจนจุดมุ่งหมายที่จะอยู่เพื่อจัดการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 15 ตุลาคม
แต่เหตุผลที่ลือกันก็คือ กกต. นั่งทับ "ขี้ก้อนใหญ่" เอาไว้
โดยเฉพาะในการปรับโครงสร้างการบริหารงานใหม่ ที่เป็นการแบ่งเค้กให้ กกต.แต่ละคนมีอำนาจเบ็ดเสร็จในแต่ละเขตพื้นที่ ทั้งการบริหารการเลือกตั้ง การสืบสวนสอบสวน และการทำคำวินิจฉัย เปิดช่องให้มีการเอื้อประโยชน์แก่ผู้สมัครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ทั้งยังมีข่าวแพร่สะพัดว่า มีคนใกล้ชิด กกต. ในหลายพื้นที่ "แบล๊คเมล์" เรียกรับผลประโยชน์จากบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้ง แลกกับการไม่ต้องถูกใบเหลือง-ใบแดง
กรณี "ม็อบลวงตา" ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ พล.ต.อ.วาสนา เกิดแรงฮึดในการต่อสู้ฝืนกระแสขับไล่
ข่าวจากวงใน กกต. เผยว่า ช่วงปลายเดือนเมษายน หลังถูกกระแสสังคมบีบรัดอย่างหนัก พล.ต.อ.วาสนาเริ่มมีอาการถอดใจ ถึงขั้นเตรียมทำเรื่องส่งคืนตัวนายตำรวจ ที่ได้ยืมตัวมาช่วยงานด้านการสืบสวนสวน กลับต้นสังกัดของใครของมัน
แต่บังเอิญว่าถัดจากนั้นไม่กี่วัน ได้มีม็อบชาวบ้านจากหลายจังหวัดในภาคอีสาน เดินทางมาให้กำลังใจ พล.ต.อ.วาสนา และ กกต. ถึงหน้าอาคารศรีจุลทรัพย์ เลยทำให้ พล.ต.อ.วาสนาที่อยู่ในอาการ "ใจฝ่อ" เตรียมลาออก กลายเป็น "ใจฟู" ขึ้นมา
โดยไม่ได้เอะใจว่าเป็นม็อบจัดตั้งของพรรคการเมืองหรือไม่?
จากนั้นเป็นต้นมา ถึงแม้ พล.ต.อ.วาสนาจะให้สัมภาษณ์เปิดใจเป็นครั้งคราวว่าพร้อมจะลาออกจากตำแหน่ง แต่ก็มาพร้อมกับเงื่อนไขแลกเปลี่ยนที่ไม่มีทางเป็นไปได้ สะท้อนว่า พล.ต.อ.วาสนาไม่ได้มีความคิดที่จะลาออกอย่างจริงๆ จังๆ
จนกระทั่งถูกศาลตัดสินสั่งจำคุก
ต่อเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พล.ต.อ.วาสนาพร้อมด้วยนายปริญญา และนายวีระชัย จึงได้ยอมเซ็นใบลาออกจากตำแหน่ง กกต. ภายในสถานที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ปิดตำนาน 3 กกต. แบบบอบช้ำที่สุดในชีวิต