คมชัดลึก :ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ ม.หอการค้าไทย ฟันธงม็อบบุกล้มประชุมอาเซียนชาติพังทันทีแสนล้านบาท คาดท่องเที่ยวสูญ 2 แสนล้าน หวั่นวิกฤติลุกลามทั่วประเทศ เผยเลื่อนประชุมชาติผู้นำวืดถกแก้ ศก.-ลงนามสัญญา 26 ฉบับ
จากเหตุการณ์กลุ่มคนเสื้อแดงบุกเข้าโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นสถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจานั้น นายอภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ความร้ายแรงไม่ต่างกับการปิดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการปิดสนามบินสุวรรณภูมิเป็นเหมือนการปิดประตูบ้าน แต่ครั้งนี้แม้จะเปิดประตูบ้าน แต่ในเมื่อบ้านเราไม่ปลอดภัยใครจะเข้ามา ในเมื่อผู้รักษาความปลอดภัยในประเทศไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็ทำให้เขาขาดความเชื่อมั่น การจัดประชุมระดับนานาชาติในประเทศไทยก็จะไม่เกิดขึ้นอีก
จากการประเมินผลกระทบต่อการท่องเที่ยวนั้น แม้ทางการจะตั้งเป้านักท่องเที่ยวเข้าประเทศอยู่ที่ 14 ล้านคนในปีนี้ แต่ทางกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวประเมินว่า ปีนี้หากได้ 12 ล้านคน ถือว่าเก่งมากแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นแบบนี้ และหากยังไม่ยุติภายในเดือนพฤษภาคมนี้ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ถึง 10 ล้านคนอย่างแน่นอน ซึ่งหากนักท่องเที่ยวหายไป 1 ล้านคน ก็จะสูญเสียรายได้เข้าประเทศ 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น หากนักท่องเที่ยวเข้ามาไม่เกิน 10 ล้านคน คาดว่าประเทศไทยจะสูญเสียรายได้เข้าประเทศมากกว่า 2 แสนล้านบาท และยังกระทบต่อภาคธุรกิจอื่นๆ
"ฝากไปถึงรัฐบาลด้วยว่า จะทำอย่างไรที่จะสื่อสารทำความเข้าใจกับกลุ่มรากหญ้าให้ได้ ซึ่งภาครัฐเองสามารถใช้สื่อในมือที่มีอยู่ เช่น ช่อง 11 หรือสถานีวิทยุ ในการอธิบายความเป็นจริงให้ประชาชนกลุ่มรากหญ้า รวมทั้งสื่อไปยัง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ด้วยว่า หากรักประเทศจริงก็ไม่น่าจะทำเช่นนี้จนเกิดการกระทบกระทั่งที่ร้ายแรง" นายอภิชาติกล่าว
สถานการณ์ผู้ชุมนุมบุกที่ประชุมอาเซียนครั้งนี้ นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร้ายแรงไม่แตกต่างจากการปิดสนามบินครั้งที่ผ่านมา เพราะมีการปิดล้อมผู้นำ 15 ประเทศที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งผู้นำประเทศเหล่านี้คือตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย รวมกันแล้วถึง 60% หรือประมาณ 7 ล้านคน ยังไม่รวมอินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศเฝ้าติดตามสถานการณ์ข่าวของผู้นำ ย่อมเกิดความไม่มั่นใจในการเดินทางเข้ามา ส่วนการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมืองพัทยานั้น ความรุนแรงไม่เท่ากับการปิดล้อมผู้นำประเทศ ขณะนี้ประเทศชาติเสียหายไปแล้ว 2 ครั้ง 2 แสนล้านบาท
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เมืองพัทยา และ จ.ชลบุรี ว่า อาจจะกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย และภาพลักษณ์ของประเทศในสายตาต่างชาติ ส่วนการเลื่อนการประชุมอาเซียนออกไปนั้น เชื่อว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยกับอาเซียนไม่มากนัก เพราะสามารถไปจัดการประชุมในประเทศอื่นที่ก่อนหน้านี้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมาแล้วก็ได้
"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นน่าเป็นห่วง เพราะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมทันที เพราะขณะนี้หลายประเทศเตือนประชาชนของตนให้ระมัดระวังการเดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยอยู่แล้ว ซึ่งยอดนักท่องเที่ยวที่ลดลงจะส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวในภาพรวมที่มีมูลค่าสูงถึง 4-5 แสนล้านบาท ต้องหดตัวลงอย่างแน่นอน รวมทั้งกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุนที่ยังไม่เคยเข้ามาลงทุนในบ้านเรา บางรายที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจอาจเลือกประเทศอื่นในอาเซียนแทนไทยก็ได้" นายสันติกล่าว
นายสันติกล่าวอีกว่า จะส่งผลกระทบต่อการเดินทางออกไปชักชวนนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่จะต้องตอบคำถามนักลงทุนมากยิ่งขึ้น และการดึงนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศจะยากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่ลงทุนในประเทศไทยอยู่แล้วก็ไม่ถอนตัวออกไป เพราะเข้าใจการเมืองไทย
"มีความห่วงใยว่า หากสถานการณ์การปะทะกันลุกลามไประดับจังหวัด จะกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นใจของประชาชนส่วนใหญ่และส่งผลให้ประชาชนชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไป เช่น ตั้งใจจะไปท่องเที่ยวในประเทศก็ชะลอออกไป หรือชะลอการจับจ่ายใช้สอย ส่วนผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม จะได้รับจากยอดขายที่ลดลงตามการใช้จ่ายของประชาชนที่ชะลอลง" นายสันติกล่าว
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แค่ภาพการปะทะกันระหว่างกลุ่มคนเสื้อแดงและเสื้อน้ำเงินที่ออกมาก็สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแล้ว และการบุกยึดโรงแรมที่ประชุมอาเซียนของกลุ่มคนเสื้อแดง ถือว่าส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยในสายตาชาวโลกเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการบุกยึดสถานที่ประชุม ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับประเทศที่เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมตามกรอบต่างๆ เลยแม้แต่น้อย
"ประเทศไทยจะถูกมองว่าไม่มีความปลอดภัย จะกระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวและภาพรวมทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน เพราะหลายประเทศจะไม่มั่นใจถึงความปลอดภัยที่จะเข้ามาทำการค้าและการลงทุนกับไทย ผลกระทบที่เกิดขึ้นนับเป็นเม็ดเงินที่ไทยจะต้องสูญเสียในเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ต่ำกว่า 5 หมื่น ถึง 1 แสนล้านบาททันที"นายธนวรรธน์กล่าว
ส่วนการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นาธนวรรธน์กล่าวว่า เดิมมองว่าหากสถานการณ์การเมืองไม่รุนแรง เศรษฐกิจจะติดลบเพียง 2-3% และไตรมาส 4 จะดีขึ้น แต่หากเหตุการณ์ยืดเยื้อ รวมถึงมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ติดลบเพิ่มขึ้นเป็น 4-5% หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมและให้ทุกอย่างกลับมาดีได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจติดลบมากกว่านี้ได้ และน่าจะกลับมาดีขึ้นในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2553
ขณะที่ผลกระทบจากการเลื่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจานั้น ส่งผลให้การลงนามในเอกสารต่างๆ ต้องล่าช้าออกไป โดยเอกสารที่จะลงนามในวันที่ 11 เมษายนนี้ ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนกับจีน มี 2 ฉบับ คือ เอกสารบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งศูนย์อาเซียน-จีน ที่กรุงปักกิ่ง และเอกสารความตกลงด้านการลงทุนอาเซียน-จีน โดยการลงนามด้านการลงทุนนี้จะช่วยส่งเสริมเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในด้านการค้า การบริการ และการลงทุน
ส่วนการประชุมสุดยอดอาเซียนกับญี่ปุ่นที่เดิมกำหนดมีขึ้นเวลา 12.00 นั้น คาดว่าในที่ประชุมนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นจะนำเสนอแผนส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาในเอเชีย ขณะที่การประชุมสุดยอดอาเซียนกับคู่เจรจา (จีน เกาหลี ญี่ปุ่น) ที่กำหนดเดิมคือเวลา 14.30 น. คาดว่าจะมีหารือในประเด็นสำคัญ คือ การรับมือวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลก และอาจจะมีการตกลงให้เพิ่มเงินในกองทุนอัตราแลกเปลี่ยนจาก 3 หมื่นล้าน มาเป็น 1.2 แสนล้านบาท และเร่งรัดการก่อตั้งเอเชียบอนด์
นอกจากนี้ คาดว่าที่ประชุมจะออกแถลงการณ์พัทยาว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาชีวภาพ รวมทั้งยังเสนอให้มีการจัดตั้งระบบสำรองข้าวฉุกเฉินของเอเชียตะวันออกเป็นการถาวร ส่วนวันที่ 12 เมษายนนี้ เดิมกำหนดให้มีการหารือของผู้นำอาเซียนกับนายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้วย
ทั้งนี้ เอกสารที่ไม่ได้รับการลงนาม หรือรับรองโดยผู้นำ หรือรัฐมนตรีของประเทศสมาชิกอาเซียนและประเทศคู่เจรจา จำนวนทั้งสิ้น 26 ฉบับ เช่น บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งประเทศออสเตรเลียกับอาเซียนว่าด้วยโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียระยะที่ 2 แถลงการณ์ของประธานในโอกาสการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกครั้งที่ 4 และบทสรุปของประธานร่วมในโอกาสการประชุมสุดยอดอาเซียน-ยูเอ็น ครั้งที่ 3
ด้าน นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า กลุ่มเสื้อแดง เคยประณามการกระทำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในการยึดสนามบิน แต่การกระทำของกลุ่มเสื้อแดงที่ยึดโรงแรมที่ประชุมอาเซียนนั้นไม่ต่างกับกลุ่มพันธมิตรเลย เพราะผลเสียที่เกิดขึ้น ทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย
วันเดียวกัน นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ขอโทษและแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งบรรดาผู้นำประเทศอาเซียนมีความเข้าใจและเห็นใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะเข้าร่วมประชุมอีกครั้ง แต่ขณะนี้ยังไม่มีการกำหนด เพราะต้องให้ผู้นำทั้ง 10 ประเทศ กลับไปตั้งหลักก่อน จากนั้นจึงจะมีการประสานกันภายหลังว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า สำหรับความเชื่อมั่นในการประชุมครั้งต่อไปนั้น ขึ้นอยู่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีกหรือไม่ ถ้ารัฐบาลไทยสามารถควบคุมได้และให้ความมั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก แต่คงต้องใช้เวลาในการประเมินสถานการณ์
"ผมเห็นใจรัฐบาล และเบื้องต้นเห็นด้วยกับการใช้วิธีที่ละมุนละม่อม หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า แต่ผมก็ไม่คิดว่าสถานการณ์จะลงเอยแบบนี้ เพราะเหตุการณ์น่าจะคลี่คลายได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา เพราะมีการส่งตัวแทนอาเซียนรับหนังสือจากกลุ่มเสื้อแดงตามข้อเรียกร้องแล้ว" นายสุรินทร์กล่าว
อย่างไรก็ตาม บรรดาตัวแทนจากองค์การต่างๆ อาทิ เลขาธิการสหประชาชาติ ประธานธนาคารโลก ซึ่งอยู่ระหว่างการเดินทางมายังประเทศไทย ได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว และกำลังเปลี่ยนเครื่องเพื่อเดินทางกลับประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประกาศยกเลิกการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช พัทยา จ.ชลบุรี ส่งผลให้การประชุมหารือในประเด็นระหว่างประเทศในอาเซียน (อาเซียน โกลบอล ไดอะล็อก) ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ จัดโดยสำนักเลขาธิการอาเซียน โดยจะมีผู้นำสูงสุดขององค์การสำคัญระหว่างประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมือง ได้แก่ นายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ นายโรเบิร์ต บี เซลลิค ประธานธนาคารโลก นายโดมินิค สเตราซ์ คาห์น ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) นายปาสกาล ลามี เลขาธิการองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมว่าด้วยการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (อังค์ถัด) และนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เข้าร่วมงานนี้ ได้ถูกยกเลิกไปด้วย เพราะเกรงปัญหาเรื่องการรักษาความปลอดภัย ที่อาจมีกลุ่มคนเสื้อแดงตามไปชุมนุมและก่อความวุ่นวายเช่นเดียวกับการประชุมที่พัทยา