วิวาทะทางความคิด นักวิชาการ เหลือง-แดง

การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงวันที่ 8-10 เมษายน พุ่งเป้าไปที่รัฐบาล และอำนาจที่แบ๊คอัพรัฐบาล

นั่นคือ ขุนนางอำมาตย์ และมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ องคมนตรี ลาออกทันที 2.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องลาออกทันที และ 3.การบริหารราชการแผ่นดินต้องเป็นไปตามครรลองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การปรับปรุงใดๆให้ดีขึ้นต้องเป็นไปตามหลักสากล โดยผู้ที่มีประวัติเป็นประชาธิปไตยเป็นที่ประจักษ์

มุมหนึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และลูกน้องที่เรียกหาประชาธิปไตยและเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าว

ในสมัยที่ตนเองอยู่ในอำนาจก็ไม่ได้บริหารประเทศไปตามหลักนิติรัฐ ใช้อำนาจแทรกแซงหน่วยงานต่างๆ มากมาย และมีคดีทุจริตทั้งที่ตัดสินไปแล้ว และอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลอยู่หลายเรื่อง

อีกมุมหนึ่ง รัฐบาลปัจจุบันเห็นชัดว่า มีการจัดตั้งโดยการเดินสายหานักธุรกิจ และไปจับเข่าคุยกันถึงในค่ายทหารจนน่าสงสัยว่า มีอำนาจอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องในการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงสถานการณ์ปัจจุบันไปไหนก็โดนขับไล่

ไม่ต่างจากรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ที่โดนกลุ่มคนเสื้อเหลืองขับไล่ และกลุ่มคนเสื้อเหลืองก็เคยยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลที่แล้วลาออกหรือยุบสภามาแล้ว ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมัยที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านก็เคยสนับสนุน ข้อเรียกร้องของแต่ละฝ่ายแต่ละสีต่างมีเหตุมีผล โดยมีอคติตามกรอบของการแบ่งสีเป็นตัวเสริมหลักการของตนเอง ไม่เว้นแม้แต่นักวิชาการที่ตอนนี้เกิดการแบ่งสีแบ่งขั้วความคิดที่ชัดเจนที่สุด

ลองฟังข้อสนับสนุนของนักวิชาการจาก 2 ค่ายต่อสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้น

สมบัติ ธำรงธัญวงศ์

อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศาสตราจารย์ด้านรัฐประศาสนศาสตร์

"เป็นการเรียกร้องจอมปลอม"

การแต่งตั้งองคมนตรี แต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย หากจะพ้นจากตำแหน่งก็ต้องเป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งพระองค์ท่านจะเป็นผู้มีพระบรมราชวินิจฉัย การที่มีกลุ่มบุคคลมาเรียกร้องให้ 3 องคมนตรีลาออก เป็นการก้าวก่ายพระราชอำนาจ ซึ่งไม่บังควร และควรหยุดการกระทำดังกล่าวโดยเร็ว ผู้เรียกร้องควรรู้ว่า เรื่องใดควรกระทำหรือไม่ ไม่เช่นนั้น สังคมจะแคลงใจว่า การเรียกร้องนั้นมีเจตนาเช่นไร

ส่วนข้อเรียกร้องให้นายกฯลาออก ระบบรัฐสภามีการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาลด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคฝ่ายค้านก็ทำไปแล้ว ปรากฏว่าไม่ชนะรัฐบาล ตามกติกาประชาธิปไตยพรรคฝ่ายค้านก็ต้องติดตามตรวจสอบต่อไป แต่ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทย กลุ่มคนเสื้อแดง และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันกลับออกมาเรียกร้องทั้งที่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า นายกฯประพฤติมิชอบชัดเจน และคนเหล่านี้ก็สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณที่ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสิน และยังมีอีกหลายคดีอยู่ในการพิจารณา การเรียกร้องดังกล่าวจึงไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย ทั้งนี้ การเรียกร้องไม่ใช่ใช้สิทธิอย่างเดียว แต่ต้องมีเหตุผลด้วย ซึ่งท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ การยุบสภาหรือลาออกจะยิ่งซ้ำเติมประเทศ เพราะหากยุบสภาแล้วมีรัฐบาลรักษาการ ก็จะทำให้ทำอะไรไม่ได้ประมาณ 4 เดือน และพิจารณางบประมาณแผ่นดินไม่ได้ ทำให้เสียหายมาก การเรียกร้องดังกล่าวสะท้อนว่า เมื่อฝ่ายตนเองไม่ได้เป็นรัฐบาล ก็ยอมไม่ได้ พฤติกรรมที่ผ่านมาตั้งแต่ให้นำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้ การนิรโทษกรรม การยุบสภา ชี้ว่า เป็นการเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของตนเองและพรรคพวกไม่ได้อยู่บนพื้นฐานประโยชน์ของประชาชน เป็นการเรียกร้องจอมปลอม ดังนั้น ประชาชนต้องมองให้ดี

ส่วนที่มองว่า รัฐบาลใช้อำนาจรัฐดำเนินการตามกฎหมายไม่ได้เต็มที่ และไปไหนก็โดนขับไล่ไม่ต่างจากรัฐบาลที่แล้วที่โดนกลุ่มคนเสื้อเหลืองขับไล่นั้น ผมคิดว่า หากยุบสภา แล้วพรรคเพื่อไทยมาเป็นรัฐบาล กลุ่มอื่นก็จะมาต่อต้านอีก สภาพก็จะเป็นแบบนี้ไม่จบ เล่นเกมกันต่อ ประเทศจะอยู่รอดได้อย่างไร ขอให้มองดีๆ ว่า การชุมนุมเรียกร้องที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ใครเรียกร้องเพื่อประโยชน์ประเทศ ใครเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของบุคคล นี่คือความแตกต่างเรื่องเป้าประสงค์

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

"ต้องทำให้ปลอดอำนาจอำมาตย์"

การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงสะท้อนถึงความพยายามทำให้อำนาจรัฐไม่ทำงาน ซึ่งเหมือนกับที่กลุ่มคนเสื้อเหลืองเคยทำ ทั้งนี้ข้อเสนอ 3 ข้อ ของกลุ่มคนเสื้อแดงบางอย่างมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น ข้อ 3 ที่บอกว่าให้ปรับปรุงกฎเกณฑ์กติกาให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยแบบสากล จุดนี้หมายความว่า การแก้ไขกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญก็ต้องเข้าสู่กระบวนการทางรัฐสภา ขณะที่ปัจจุบันรัฐสภาไม่สามารถแบกรับความต้องการของข้อขัดแย้งทั้งหมดได้ ผมคิดว่า ข้อเสนอทั้งหมดเป็นการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าคือ การทำให้ระบบรัฐสภาพ้นไปจากอำนาจอำมาตยาธิปไตย ทำให้มองต่อไปว่า สิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าคือ ถ้ารัฐบาลแก้ไขปัญหาไม่ได้จริงๆ การยุบสภาก็น่าจะนำมาคิดกัน จากนั้นการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนั้นก็ต้องทำให้ปลอดอำนาจอำมาตย์ แล้วค่อยมาคิดกันในการแก้ไขกฎกติกาต่างๆ ทางกระบวนการรัฐสภา ซึ่งพอจะทำให้สภา และรัฐบาลชุดใหม่มีความชอบธรรมมากขึ้น และเข้าสู่กระบวนแก้ไขเรื่องต่างๆ ทางรัฐสภา

สำหรับข้อเรียกร้องให้นายกฯลาออก ผมคิดว่าหากลาออกตอนนี้ทำให้ต้องจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก็ไม่แคล้วแบบเดิมคือ มีอำนาจอำมาตย์เข้ามาเกี่ยวข้อง ตอนนี้ไม่มีทางใดทางเดียวจะแก้ปัญหาทั้งหมดโดยฉับพลัน การยุบสภาจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ

ส่วนข้อเรียกร้องให้ 3 องคมนตรี ลาออก ผมคิดว่า เป็นการสร้างแรงกดดันทางสังคมไปสู่องคมนตรีทั้ง 3 คน แต่การจะลาออกหรือไม่ขึ้นกับตัวองคมนตรีเอง สิ่งที่สังคมผลักดันได้คือ องคมนตรีไม่ควรมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม ถ้ามายุ่งสังคมต้องตักเตือน ซึ่งสังคมร่วมกันสร้างบรรทัดฐานได้ และให้องคมนตรีทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสถาบัน หากมาเกี่ยวข้องกับการเมืองก็จะทำให้กระทบสถาบันไปด้วย ซึ่งเป็นเรื่องไม่บังควร

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์