" ... ผมยอมรับว่าความขัดแย้งในขณะนี้คงปล่อยให้วิกฤตยืดไปมากกว่านี้ไม่ได้ หลายคนมองถึงการสร้างความสมานฉันท์ ผมคิดว่าทำได้ แต่ไม่ใช่สร้างความปรองดองบนความไม่ถูกต้อง ... การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องยากมาก แต่ปฏิวัติง่าย เพราะปฏิรูปการเมืองต้องอาศัยความรอมชอมจากทุกฝ่าย ไม่เช่นนั้น จะติดวัฏจักรอันเลวร้ายแบบนี้ ... "
ที่มา - การปาฐกถาพิเศษของนายสุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง เรื่อง "ปัญหาและแนวทางของการเมืองไทยภายหลังวิกฤต" ในงาน "วันสัญญา ธรรมศักดิ์" ประจำปี 2552 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 5 เมษายน
ปัญหาวิกฤตในปัจจุบันจะยุติเมื่อไหร่ ผมไม่ทราบ หลายคนตั้งคำถามว่าจะยุติในวันสองวันหรือจะบานปลาย อย่างไรก็ดี การที่มีวิกฤตแสดงว่าบ้านเมืองมีปัญหาต้องมีการแก้ไข หลายคนบอกต้องปฏิรูป ผมคิดว่าไม่ว่าจะปฏิรูปการเมืองอย่างไรก็ตาม ต้องอยู่ในกรอบระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
คงไม่ต้องอธิบายว่าทำไมระบอบนี้เหมาะกับประเทศไทย แต่อยากให้ลองมองประเทศอื่นที่ปกครองด้วยระบอบดังกล่าว ก็มีประชาธิปไตยที่มั่นคง ประเทศเจริญก้าวหน้า และประเทศเหล่านี้ก็พยายามรักษาสถาบัน แสดงว่าสถาบันอยู่คู่กับประชาธิปไตยได้โดยไม่มีความขัดแย้ง อย่างอังกฤษ เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน สเปน ญี่ปุ่น ฉะนั้น ต้องหันมามามองว่าประเทศไทยจะปฏิรูปอย่างไร ที่มีปัญหาคาราคาซังตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ซึ่งใหญ่และซับซ้อน ครอบคลุมทั้งประเด็นโครงสร้าง ได้แก่ สถาบันการเมือง คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ราชการ ระบบการเลือกตั้ง รวมไปถึงค่านิยม วัฒนธรรมทางการเมือง ทัศนคติ จิตสำนึกประชาชน และจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำทางการเมือง นักการเมือง ข้าราชการ และเศรษฐกิจและสังคมที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ซึ่งคงต้องพูดกันเป็นปี
ประเด็นที่ต้องคิดถึงอย่างมากในการพัฒนการเมืองในอนาคตคือ การสร้างการเมืองภาคพลเมืองให้เข้มแข็ง และตระหนักในความเป็นพลเมืองให้กับประชาชนหรือปัจเจกบุคคลในสังคมไทย อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการชุมนุมประท้วงกว้างขวางไม่ว่าจะเสื้อสีไหน แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังบ่งบอกไม่ได้ว่าคนไทยเข้มแข็งทางการเมือง
ทั้งนี้ การสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองของประชาชนมีความสำคัญ เนื่องจากปัจจุบันเป็นยุคโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้เรื่องต่างๆ ทะลักเข้ามาอย่างเสรี ปราศจากการจำกัด แนวคิดสิทธิเสรีภาพ ซึ่งมีฐานมาจากความคิดค่านิยมประชาธิปไตยตะวันตกก็เข้ามาด้วย ทั้งนี้ โลกาภิวัตน์ยังทำให้มีการเคลื่อนย้ายทุนเสรี ระบบเศรษฐกิจเสรีพัฒนาต่อเนื่องอย่างกว้างขวาง มีผลให้เกิดการยอมรับในสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีรากฝังลึกในสังคมเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้
หลายประเทศให้ความสำคัญสิทธิเสรีภาพ แต่ประเด็นที่ให้ความสำคัญต่างกัน รวมถึงการตีความว่าอะไรคือสิทธิ อะไรคือเสรีภาพ อย่างประเทศในตะวันตกส่วนใหญ่ยอมให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างกว้างขวาง ส่วนบางประเทศตีกรอบสิทธิเสรีภาพเคร่งครัด เช่น สิงคโปร์ ต้องขออนุญาตหากจะประท้วงรัฐบาล ล่าสุดมีข้อกำหนดถึงขนาดว่า หากรัฐรู้ว่า ใครจะไปชุมนุมประท้วงก็จะไม่ให้ออกจากบ้าน เป็นต้น
เราจึงไม่สามารถบอกได้ว่าความสมดุลที่ถูกที่ควรอยู่ตรงไหน อย่างไรก็ดี สังคมตะวันตกถือว่าสิทธิเสรีภาพมากับการเป็นมนุษย์ จะจำกัดได้คือภายใต้กฎหมาย แต่รัฐก็ไม่สามารถออกกฎหมายมาจำกัดทั้งหมดได้
ส่วนสังคมไทยมักยอมให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพมากกว่าตะวันตก แต่ปัจจุบันมีการยอมรับเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ดูจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ ปี 2550 แต่ก็มีคนกังวลว่าสิทธิเสรีภาพ และความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่ตรงไหน
ในสภาพโลกาภิวัตน์มีการไหลอย่างเสรี รวดเร็ว กว้างขวางของข้อมูลที่หลากหลายมาก ทั้งข้ามพรมแดนหรือหลั่งไหลในประเทศ ข้อมูลนี้มีทั้งข้อเท็จจริง ความเห็น คำวิจารณ์ หรือการบิดเบือนข้อมูลเพื่อประโยชน์ของบางกลุ่มบางพวก ปรากฏในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระบบส่งข้อมูลข่าวสารผ่านอินเตอร์เน็ต โฟนอิน วิดีโอลิงก์ ทำให้มีความพยายามของคนบางกลุ่ม ทั้งในและนอกประเทศ ที่จะชักจูงให้คนทั้งหลายคล้อยตามความคิดของตน ด้วยหลายวิธีการ เช่น การตัดต่อเอาส่วนที่ตรงกับความต้องการของตนเองมาออก
นอกจากนี้ การเสนอข้อมูลข่าวสารยังมีแบบตอกย้ำ ต่อเนื่อง ใช้ภาษาปลุกระดม พร้อมกับให้เหตุผลว่าเป็นสิทธิเสรีภาพการแสดงออก และมองว่าการเคลื่อนไหวตามการชี้นำสามารถทำได้ ฉะนั้น การสร้างความเข้มแข็งความเป็นพลเมืองจะทำให้ประชาชนแยกแยะข้อมูล เป็นตัวของตัวเองทางความคิดและการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตรงนี้จึงต้องเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วน ซึ่งไม่ใช่เรื่องแก้กฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเรื่องการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตร การใช้สื่อเพื่อให้เข้าใจถึงความสมดุล ซึ่งอยู่ที่สังคมร่วมกันกำหนด โดยถ้าประชาชนเข้มแข็งก็จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่าความสมดุลจะอยู่ตรงไหน จึงต้องพัฒนาประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ทั้งในการเมือง หรือในชุมชน ไม่ให้อยู่ภายใต้ผู้นำที่ชักจูงไปทางใดก็ได้
นอกจากนี้ ยังต้องเปิดให้ประชาชนมีช่องทางเรียกร้อง และเปิดโอกาสให้พวกเขาตัดสินใจทางการเมือง ซึ่งเป็นแนวทางพัฒนาระยะยาว สร้างสำนึกคุณค่าพลเมืองที่ตนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่ใช่บนการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ของผู้นำ หรือประเภท เงินไม่มา กาไม่เป็น
ผมยอมรับว่าความขัดแย้งในขณะนี้คงปล่อยให้วิกฤตยืดไปมากกว่านี้ไม่ได้ หลายคนมองถึงการสร้างความสมานฉันท์ ผมคิดว่าทำได้ แต่ต้องตั้งอยู่บนรากฐานความถูกต้อง ไม่ใช่สร้างความปรองดองบนความไม่ถูกต้อง
" ... การปฏิรูปการเมืองเป็นเรื่องยากมาก แต่ปฏิวัติง่าย เพราะปฏิรูปการเมืองต้องอาศัยความรอมชอมจากทุกฝ่าย แต่ก็ต้องทำ ไม่เช่นนั้นจะติดวัฏจักรอันเลวร้ายแบบนี้ และขอให้คนที่รักชาติบ้านเมืองช่วยกันขบคิดหาทางออกให้ประเทศ ... "
ปาฐกถาพิเศษสุจิต บุญบงการ ปล่อยวิกฤตกว่านี้ไม่ได้แล้ว ชี้ทางออก ปฏิรูปการเมืองต้องรอมชอมทุกฝ่าย
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง ปาฐกถาพิเศษสุจิต บุญบงการ ปล่อยวิกฤตกว่านี้ไม่ได้แล้ว ชี้ทางออก ปฏิรูปการเมืองต้องรอมชอมทุกฝ่าย