ป.ป.ท. ฮึ่ม ! หากกบข.ไม่ยอมให้สอบ จะใช้กฎหมายบังคับแทน วิสิฐ ปัดร่วมปั่นหุ้น ยานภัณฑ์


ป.ป.ท.ฮึ่มใส่ "กบข." ถ้าไม่สมัครใจให้ตรวจสอบ จะใช้กฎหมายบังคับ ด้าน"ศุภวุฒิ"อนุ กก.ลงทุนชี้ ไม่มีใครหยั่งรู้อนาคตว่าซื้อแล้วราคารูด ทำให้ต้องลงทุนตามปัจจัยพื้นฐาน เลขาฯกบข.ปัดร่วมปั่นหุ้น"ยานภัณฑ์" เคยคิดขายออกแต่ราคาตก เลยต้องเก็บงำไว้เหมือนเดิม

 
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ถึงกรณีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ระบุว่า กบข.ซื้อหุ้นบางตัวในปี 2551 เพิ่มขึ้น ทั้งที่ราคาปรับลดลง นายวิสิฐกล่าวว่า หุ้นที่ถูกระบุคือ หุ้นบริษัท คอวลิตี้เฮาส์ จำกัด (มหาชน) หรือคิวเฮาส์ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ กบข.ลงทุน นอกเหนือจากบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ส่วนสาเหตุที่กลับเข้าไปซื้อคิวเฮาส์ใหม่ เนื่องจาก กบข.ซื้อหุ้นคิวเฮาส์ครั้งแรกที่ราคาหุ้นละ 70 สตางค์ แต่เมื่อราคาปรับขึ้นไปที่ 1.70 บาท เห็นว่าได้กำไรจึงขาย และกลับมาซื้อใหม่เมื่อราคาหุ้นปรับลง ทำให้ กบข.ได้หุ้นจำนวนมากขึ้น

"เป็นการเล่นรอบตามปกติของการลงทุนที่ผู้จัดการกองทุนจะพิจารณาว่าเมื่อได้กำไรก็เทขายออก แล้วนำกำไรกลับมาซื้อใหม่ในบางตัว จึงอยากให้ดูในรายละเอียดของการซื้อขายของ กบข.มากกว่าตั้งคำถามว่าทำไม กบข.เข้าซื้อหุ้นตัวนั้นในจังหวะที่ราคาลง" นายวิสิฐกล่าว

ส่วนกรณีที่ กบข.เข้าซื้อหุ้นบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ที่ผู้บริหารเคยถูก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปรียบเทียบปรับฐานสร้างราคาหุ้นนั้น นายวิสิฐกล่าวว่า กบข.ลงทุนในยานภัณฑ์ในส่วนหุ้นเพิ่มทุนและเสนอขายให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะเจาะจง (พีพี) สัดส่วนประมาณ 4-5% โดยขออนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาลงทุนของ กบข.ด้วย เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว และเป็นการลงทุนตั้งแต่ยานภัณฑ์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และหลังจากนั้นไม่เคยซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพิ่ม หรือร่วมปั่นหุ้นกับผู้บริหารที่ถูก ก.ล.ต.เปรียบเทียบปรับ และช่วงที่เกิดปัญหายังได้เสนอคณะกรรมการขอขายหุ้นออกด้วย แต่ราคาหุ้นที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถขายออกได้

ด้าน นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ในฐานะคณะอนุกรรมการการลงทุน กบข. กล่าวว่า การลงทุนของ กบข. คณะอนุกรรมการจะดูหลักการลงทุนกว้างๆ คือ จะกระจายการลงทุนไปส่วนไหนบ้าง เป็นตราสารหนี้ หรือตราสารทุนในสัดส่วนเท่าไหร่ ส่วนจะลงทุนหุ้นตัวไหน จะดูจากปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก แต่การพิจารณาคัดเลือกตัวหุ้นที่จะลงทุนเป็นเรื่องที่ กบข.จะพิจารณาเอง จากปัจจัยพื้นฐานเป็นหลักเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การซื้อหุ้นแล้วต่อมาราคาตก เพราะไม่มีใครคาดการณ์อนาคตได้ถูก 100%

"การจะมองย้อนกลับว่าซื้อหุ้นตัวนั้นแล้วราคาหุ้นตก ฉะนั้นไม่ควรซื้อนั้น ใครๆ ก็พูดได้ แต่เราไม่สามารถมองอนาคตได้ เวลาซื้อหุ้นเราจึงมองปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก อย่างบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) ก็เป็นการลงทุนตั้งแต่ต้น เพราะประกอบธุรกิจผลิตอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นธุรกิจที่ดีและถือว่าเป็นอนาคตของประเทศ ก็เห็นว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ดี และเชื่อว่าลงทุนไม่มาก เพราะราคาหุ้นไม่ได้สูงนัก" นายศุภวุฒิกล่าว

ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลขาธิการ สำนักงาน ป.ป.ท.กล่าวถึงกรณีที่นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข. ระบุว่า กบข. ไม่ได้ใช้งบประมาณรัฐ จึงไม่ได้อยู่ภายใต้อำนาจการสอบสวนของ ป.ป.ท. ว่า ยืนยันว่า กบข.มีสถานะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ขณะที่ ป.ป.ท.มีภารกิจด้านการตรวจสอบเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐทุกประเภท ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการแบ่งส่วนราชการสำนักงาน ป.ป.ท. พ.ศ.2551 และ พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้ยืนยันอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ท.แล้ว อย่างไรก็ตาม แม้ กบข.จะเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่เป็นหน่วยงานหลักสำคัญ จึงควรที่จะให้เกียรติกัน จึงขอความสมัครใจจาก กบข.ที่จะให้หน่วยงานภายนอกเข้าตรวจสอบ แต่เมื่อเลขาธิการ กบข.ไม่ตัดสินใจ และโยนเรื่องให้บอร์ด กบข.พิจารณา ป.ป.ท.ก็ขอร้องให้กรรมการ กบข.พิจารณาให้ ป.ป.ท.และหน่วยงานภายนอกเข้าตรวจสอบ เพราะเรื่องมาจนถึงขนาดนี้ การตรวจสอบภายในกันเองโดยระบบปิด หรือจะให้บอร์ดมีมติตั้งกรรมการขึ้นตรวจสอบเองคงไม่ถูกต้อง และจะไม่ได้รับการยอมรับจากสมาชิก กบข.ทั่วประเทศ

นายธาริตกล่าวอีกว่า หาก กบข.ไม่ยินยอมให้ ป.ป.ท.เข้าตรวจสอบ ก็จำเป็นต้องใช้อำนาจตามกฎหมายเข้าไปตรวจสอบ โดย ป.ป.ท.สามารถเข้าไปสืบสวนกรณีที่อาจมีการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐได้เกือบทุกหน่วยงาน ยกเว้นแต่องค์กรอิสระ ศาล อัยการ เท่านั้น ซึ่งการตรวจสอบข้อเท็จจริง ป.ป.ท.จะตรวจสอบข้อมูลในภาพรวมทั้งหมดก่อนจำแนกว่ามีมูลความผิดหรือไม่ หากมีมูลความผิด จะตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐระดับใดเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง จากนั้นจึงจะแยกสำนวนที่เกี่ยวพันกับข้าราชการตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไปส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่มีข้าราชการฟ้องร้อง กบข. ที่บริหารงานขาดทุน ล่าสุดทาง กบข.มีความพยายามที่จะชี้แจงผ่านสาธารณชน โดยการซื้อสื่อโฆษณาบนหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมถึง "มติชน" โดยระบุข้อความว่า "กบข.ขอย้ำให้มั่นใจ ลงทุนรอบคอบตามหลักเกณฑ์ไม่เสี่ยงสูง ติดตามแถลงข้อมูลลงทุน กบข. ทาง น.ส.พ.เดลินิวส์-มติชน-คมชัดลึก วันที่ 16-20 มี.ค. หากสมาชิก กบข. มีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลทุกเรื่อง โปรดติดต่อ กบข. โทร.1179 กด 6 / member@gpf.or.th ให้บริการทุกวัน (จันทร์-อาทิตย์) ในเวลาทำการ"

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์