รอคอยมานานกว่า 4 เดือน สุดท้ายก็ "คว้าน้ำเหลว" ตามความคาดหมาย...
กับผลสรุปของ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุการณ์ความไม่สงบ 7 ตุลาคม 2551" ชุดที่มีนายปรีชา พานิชวงศ์ เป็นประธาน ที่รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ตั้งขึ้น เพราะทั้งที่กรอบการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ จะมีการตั้งประเด็นไปถึงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของ "ฝ่ายการเมือง" และ "ฝ่ายเจ้าหน้าที่"
แต่กลับไม่มีข้อสรุปว่า ใครเป็นคนสั่งการสลายการชุมนุม จนทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก และต้องรับผิดตามกฎหมาย ออกมาให้เห็นเลย !!
โดยเนื้อหาในรายงานกว่า 2,200 หน้า เป็นเพียงข้อมูลการให้ปากคำของพยาน ที่เล่าถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งมีทั้งเรื่องการประชุม ครม. ก่อนมีการสลายการชุมนุม ลักษณะของผู้ชุมนุม การปฏิบัติการของตำรวจ รวมถึงมีการยิงแก๊สน้ำตา และในตอนท้ายมีการเสนอให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการชุมนุมในที่สาธารณะ
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ชาวบ้านเขารู้กันหมดแล้ว ไม่มีใครเขาอยากรู้อีก
แถมตอนหนึ่งของรายงานยังระบุอีกด้วยว่า การสลายการชุมนุมเป็นการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการในตอนนั้น และยังมีพยานฝ่ายตำรวจบางรายบอกว่า ไม่มีการสั่งการจากฝ่ายการเมือง
และที่ผลสอบออกมาไม่น่าเชื่อถือ ก็เพราะที่มาของคณะกรรมการชุดนี้ ไม่เป็นที่ยอมรับมาตั้งแต่ต้น เนื่องจากนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ ในขณะนั้นเป็นคนแต่งตั้งขึ้นมาเองและกรรมการบางคนก็เป็นคนของรัฐบาลสมัยนั้น แถมกรรมการบางคนยังมีการออกตัวว่า คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่เพียง "ตรวจสอบข้อเท็จจริง" เท่านั้น ไม่มีอำนาจชี้ว่า "ใครผิด-ใครถูก"
นอกจากนั้น คณะกรรมการชุดนี้ ยังไม่ได้รับความร่วมมือจาก "พยาน" อีกด้วย มีการเชิญพยานไป 199 ราย แต่กลับมีผู้ให้ความร่วมมือมาเป็นพยานเพียง 72 รายเท่านั้น แถมยังขาดแคลนทั้งกำลังคนและเครื่องไม้เครื่องมือ
แทบจะเรียกได้ว่าผลสอบสวนที่ออกมาครั้งนี้ ไม่มีการสรุปอะไรด้วยซ้ำ คือ ปิดสำนวนเอาดื้อๆ ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น เพราะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ซึ่งผลสอบสวนของคณะกรรมการชุดนี้ หากนำไปเปรียบเทียบกับบทสรุปของ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เป็นข่าวออกมาประมาณ 10 วันหลังวันเกิดเหตุ ก็จะพบว่า แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
โดยตามข่าวที่มีการเผยแพร่ออกมา กรรมการสิทธิฯ ได้ชี้ว่า การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมในครั้งนั้น เป็นการกระทำที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนและละเมิดกฎหมาย ซึ่งเกิดจากการสั่งการของ "รัฐบาลในขณะนั้น" ที่ต้องการเข้าไปแถลงนโยบายในรัฐสภา และยังมีนายตำรวจระดับสูงหลายนายที่ต้องมีชื่อรับผิดชอบในฐานะผู้ปฏิบัติ
นอกจากนี้ยังมีผลสอบของ "คณะกรรมาธิการวุฒิสภา" ที่ได้มีการชี้มูลและระบุถึงผู้ที่ต้องรับผิดชอบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นด้วย
ซึ่งผลสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ได้ส่งให้แก่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ป.ป.ช. แล้วเพื่อทำการไต่สวนต่อ
ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ก็ได้มีการเรียกมาสอบแล้ว ทั้งตัวนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผบ.ชน. (ในขณะนั้น) และ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบ.ชน.
นอกจากนี้..."บางส่วน" ก็ได้มีการส่งเรื่องไปยังศาลยุติธรรมแล้ว
สำหรับ "เหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ" ถือว่าเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของคนไทยจากการสลายการชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551
เมื่อแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 2 นำมวลชนมาชุมนุมต่อเนื่องหน้ารัฐสภาเพื่อไม่ให้รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตร บริเวณหน้ารัฐสภา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากและบางคนถึงขนาดขาขาด
และในช่วงเย็นจนถึงค่ำของวันนั้น ตำรวจยังได้ใช้แก๊สน้ำตายิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
โดยยอดความสูญเสียจาก "เหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ" มีถึง 443 คน และเสียชีวิต 2 คน!!!
ต่อมา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีดูแลความมั่นคงในขณะนั้นได้ลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
"เหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ" จึงเป็นความสูญเสียของคนไทย ที่ไม่ต่างไปจาก เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ "ตุลามหาวิปโยค" "เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือ ตุลามหาโหด" และ "เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535"
ซึ่งทั้ง 3 เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ปรากฏว่า "ผู้มีอำนาจรัฐ" ไม่ต้องรับโทษ ไม่ต้องติดคุกติดตะรางเลย ทั้งที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
"เหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ" ประวัติศาสตร์กำลังจะซ้ำรอยเดิมหรือไม่ ??? .
คิดแล้วก็ได้แต่หวาดเสียวเมื่อเห็นผลสอบของคณะกรรมการอิสระฯ ออกมาชนิด "จับมือใครดมไม่ได้" !!!
...ก็ได้แต่ฝากความหวังไว้กับ ป.ป.ช. และศาลยุติธรรม เท่านั้น