รวมถึงชูวาระ "ปลุกชีพ" คนการเมืองที่ถูกดองเค็มหลังการยุบพรรคทั้ง 2 ครั้งคืนรัง อีกทั้งหมายช่วยบุคลากรที่ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเหตุที่เกี่ยวเนื่องจนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 ไม่ต้องรับโทษทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง จะถือเป็นมาตรการที่ไม่มีใครนึกคิดว่า พรรคเพื่อไทยจะกล้าเสี่ยงเสนอกฎหมายเช่นนี้เข้าสู่สภาในห้วงยามที่พรรคประชาธิปัตย์กุมบังเหียนรัฐบาล
แม้ร่างกฎหมายดังกล่าวถูกคนร่วมพรรคเพื่อไทยและกระแสสังคมตีกลับ
ทว่าปรากฏการณ์นี้ก็ไม่เกินคาดหมาย เพราะภาพฉากการเสนอกฎหมายในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาของพรรคพลังประชาชนกว่า 5 ครั้งก็เป็นบทเรียนสอนใจว่า "กฎหมายเพื่อช่วยนายใหญ่ไม่สามารถคลอดออกมาได้ในช่วงที่สังคมแตกแยก"
หากย้อนประวัติศาสตร์ทางการเมืองที่ผ่านพ้นไปไม่นานก็จะพบว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ครั้งแรกนั้น "สิทธิชัย กิตติธเนศวร" อดีต กก.บห.พรรคไทยรักไทย เป็นหน่วยกล้าตายเสนอคืนชีพสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และยกโทษให้อดีตนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง
ซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงชั้นดีให้กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ยกพลมาเทียบท่าทำเนียบรัฐบาลมีแรงฮึกเหิมขึ้นอีกร้อยเท่าพันทวี
แต่ยังไม่ทันที่กระแสต้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับแรกจะถูกลืม "ปัญญา ศรีปัญญา" ส.ส.ขอนแก่น พรรคพลังประชาชน กลุ่มเพื่อนเนวิน ก็ขายไอเดียล่ารายชื่อประชาชน 1 หมื่นชื่อเพื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมซ้ำรอย "สิทธิชัย" ซึ่งถือเป็นการเพิ่มอุณหภูมิเดือดให้รัฐบาล "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" กระอักกับการแก้ปมความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น
หลังจากนั้นยังมีอีกหลายคนที่เสนอไอเดียเพื่อนิรโทษกรรมคนการเมืองให้คืนงาน อาทิ "นพ.ทศพร เสรีรักษ์" อดีต ส.ส.แพร่ พรรคไทยรักไทย สมาชิกบ้านเลขที่ 111 "นิคม เชาว์กิตติโสภณ" ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย "ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง" ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ที่ขายไอเดียนิรโทษกรรมระหว่างหาเสียงเลือกตั้งซ่อม
แต่ทั้งหมดทั้งมวลไม่มีเสียงตอบรับในทางที่ดี ซ้ำร้ายยังถูกกระถางดอกไม้และก้อนอิฐกระหน่ำซ้ำเติมกับการเสนอไอเดียดังกล่าว เพราะการเสนอร่างนิรโทษกรรมเหล่านั้นถือเป็นการออกกฎหมายเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มุ่งหวังช่วยเหลือคนผิดให้ไร้โทษอย่างชัดเจน
การเสนอไอเดียทั้ง 5 ครั้งที่ผ่านมาของ "ลูกน้องนายใหญ่" ถือเป็นการมองเป้าหมายอย่างไม่รอบด้าน ผิดกับคราวนี้ที่ "ประเกียรติ นาสิมมา-สุรชัย เบ้าจรรยา" เป็นผู้เสนอ
แม้การเสนอกฎหมายครั้งนี้จะส่อเค้าแท้งเห็นๆ แต่ก็เป็นการแท้งอย่างมีความหมาย!!!
ด้วยเพราะเป็นการชิงเสนอกฎหมายในช่วงเหมาะเจาะกับห้วงยามที่พรรคร่วม "ค่ายกลประชาธิปัตย์" ส่ออาการร้าวฉานความสัมพันธ์ อันสืบเนื่องจากการตกลงผลประโยชน์ในช่วงแปรญัตติ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายกลางปี 2552 ไม่ลงตัว
โดยพรรคชาติไทยพัฒนาและพรรคภูมิใจไทย อันเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงให้กับรัฐบาลได้รับส่วนแบ่งเพียง "งบฯแทะกระดูก" !!!
ความไม่พอใจของพรรคร่วมดังกล่าวทำให้ "บรรหาร ศิลปอาชา" อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ที่ถูกดองทางการเมือง 5 ปี ออกโรงเขย่าขวัญพรรคประชาธิปัตย์ถึงการได้รับส่วนแบ่งน้อยแบบเกินคาด
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีข่าวกระสานซ่านเซ็นว่า "บิ๊กเติ้ง" ต่อสายถึงเจ้าของต้นร่างว่า "ขอรับลูกกฎหมายฉบับนี้" พร้อมกับสั่งการให้ลูกปลาไหลแปรพักตร์และเตรียมยกมือหนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ พ.ศ... เพื่อเป็นการ "สั่งสอน" พรรคประชาธิปัตย์ให้รู้หลาบจำ
ขณะเดียวกันก็มีวาระซ่อนแฝงที่แอบคิดว่า หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ "ศิลปอาชาเลือดแท้" จะได้กลับคืนสู่สังเวียนการเมืองอีกครั้งนั่นเอง
จังหวะเดียวกันจึงเป็นการเปิดทางให้ "ชวรัตน์ ชาญวีรกูล" รมว.มหาดไทย หัวหน้า พรรคภูมิใจไทย ออกมาขานรับด้วยเสียงอันดังเพื่อข่มขวัญพลพรรคประชาธิปัตย์ให้กริ่งเกรงกับพลัง ส.ส.ในมือ เพราะถือเป็นพรรคมือวางอันดับสองในพรรคร่วมรัฐบาลที่ควรมีบทบาทกำหนดทิศทางการบริหารบ้านเมืองเช่นกัน
ปฏิบัติการคราวนี้แม้พรรคเพื่อไทยจะอกหัก แต่ก็ถือเป็นการ "ตีวัวกระทบคราด" ที่เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองพอสมควร เพราะถือเป็นการ "เปิดแผล" และ "เสี้ยม" ให้พรรคร่วมรัฐบาลแตกกันเองได้อย่างเห็นผล
แม้วันนี้ศึกสายเลือดพรรคร่วมจะเริ่มสงบ แต่คงต้องใช้เวลานานกว่าแผลจะสมานให้เป็นเนื้อเดียวกัน คราวนี้จึงถือเป็นการวัดกึ๋นรัฐบาล "มาร์ค" ว่าจะประคองรัฐนาวาให้ก้าวพ้นเหตุวิกฤตระลอกนี้ไปได้อย่างไร