เอกชนขย่มมาตรการรัฐ สร้างหนี้ท่วมหัวดันจีดีพีขึ้น แค่ 1%

งานสัมมนาในหัวข้อ ฟื้นเศรษฐกิจไทย ใต้เงาวิกฤติเศรษฐกิจโลกซึ่งมีบรรดานักธุรกิจชั้นนำจากภาคเศรษฐกิจหลายสาขามาร่วมกันให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการรัฐบาล วานนี้ (16 ก.พ.) ว่าเพียงพอจะฉุดประเทศไทยให้ฝ่าวงล้อมวิกฤติเศรษฐกิจโลกออกไปได้หรือไม่นั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะองค์ปาฐก ยังคงยืนยันว่า

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะปรับตัวดีขึ้น และรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสที่
3 และ 4 จะกลับมาเป็นบวกได้ เมื่อมาตรการต่างๆของรัฐบาลซึ่งหมายถึงการอัดฉีดเงินงบประมาณเริ่มลงไปในกลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ แม้จีดีพีไตรมาสสุดท้ายของปีก่อนจะติดลบ และอาจติดลบต่อในไตรมาสแรกของปีนี้ แต่รัฐบาลจะพยายามไม่ให้ไตรมาสที่ 2 ติดลบ หรือถ้าติดลบก็ให้น้อยลง กระนั้นก็ตามคงไม่สามารถพูดได้ว่าที่สุดแล้ว สิ้นปีนี้ตัวเลขสุดท้ายจะเป็นอย่างไร และก็ไม่คิดด้วยว่าประเทศไหนจะรู้ว่าตัวเลขสุดท้ายของประเทศตัวเองจะเป็นอย่างไร

 ด้านนายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า

ปีนี้คงจะไม่เห็นเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุด และจีดีพีจะต้องติดลบ อย่างไร ก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การบริหารความคาดหวังของคน ซึ่งนายก้องเกียรติเสนอแนวทางไว้
6
ขั้นตอน ได้แก่

1. เร่งกระตุ้นความต้องการการบริโภคในประเทศ ซึ่งนอกจากจะเน้นที่คนจนแล้ว รัฐบาลต้องมองถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายของคนรวยด้วย ทั้งนี้ หากดูที่บัญชีเงินฝากทั้งหมดที่มีอยู่ 7 ล้านล้านบาท แยกเป็นบัญชีที่เกินกว่า 1 ล้านบาท มีมากถึง 5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 900,000 บัญชี ขณะที่บัญชีที่มีเงินฝากเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไปมี 67,000 บัญชี หรือ 2.8 ล้านล้านบาท ชี้ให้เห็นว่า คนรวยยังคงเก็บเงินไว้เฉยๆรัฐจึงต้องหาวิธีกระตุ้นให้นำเงินออมออกมาใช้

2. ระยะเวลากระตุ้นเศรษฐกิจ ควรทำอย่างจำกัด ไม่ใช้เวลายาวเกินไป เช่น กรณีให้เงินค่าครองชีพ 2,000 บาท กับคน 8 ล้านคน ควรให้จ่ายภายใน 1-2
เดือน ไม่ใช่เก็บไว้ในธนาคาร

3.
นโยบายการเงินการคลังต้องทำอย่างสอดคล้องและไปในทางเดียวกัน เช่น การลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลให้ธนาคารเฉพาะกิจปล่อยสินเชื่อมากขึ้น

4.
กลุ่มประเทศในอาเซียนควรทำงานร่วมมือกันให้มากขึ้น

5.
ไม่ควรมีการกีดกันทางการค้า  เนื่องจากจะทำให้การค้าขายหดตัว

6. รัฐควรใช้ความสามารถของบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่มีความเข้มแข็งก้าวสู่เวทีระดับโลกให้ได้  เมื่อเศรษฐกิจโลกฟื้นก็จะทำให้ไทยฟื้นตัวขึ้นก่อนคนอื่น

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวเตือนว่า

การแก้ปัญหาของรัฐบาลเน้นแต่สร้างการบริโภคให้เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้เน้นการลงทุนเลย จึงมองไม่เห็นว่ารายได้ในอนาคตของประเทศจะมีอะไรบ้าง ขณะเดียวกันมีข้อควรระวังในการใช้นโยบายการคลัง ที่รัฐบาลแทรกแซงระบบเศรษฐกิจโดยไม่มีขอบเขตจำกัด จะสร้างหนี้เพิ่มขึ้น  รัฐบาลต้องคิดให้ดีว่าการสร้างหนี้ให้ ประเทศด้วยการขาดดุลงบประมาณจะกลายเป็นหนี้ในอนาคตที่ไม่คุ้มค่า เพราะมาตรการที่ออกมาทั้งหมด มีส่วนทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้นเพียง
1% ถือเป็นผลลัพธ์ที่ได้กลับมาน้อยไป เพราะจีดีพีที่ประเทศจะอยู่ได้ต่ำที่สุดภายใต้จำนวนหนี้สาธารณะปัจจุบันคือ 3% และต้องทำให้ขยายตัว เกิน 4-5% ขึ้นไป ถึงจะมีรายได้ประชาชาติที่ทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศลดลงได้

นายศุภวุฒิกล่าวด้วยว่า

เศรษฐกิจไทยจะแย่สุดเดือน ก.พ.-มี.ค.ที่จะมีคนว่างงานถึง
2 ล้านคน และมีคนจบการศึกษาใหม่อีก 700,000 -800,000 คน จึงเป็นเรื่องยากในการบริหารในไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ แต่หากไตรมาส 4 ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นและท่องเที่ยวฟื้นก็จะดีขึ้น

นายอภิชาติ สังฆอารี นายกสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว กล่าวในงานสัมมนาเดียวกันว่า

วิกฤติของการท่องเที่ยวครั้งนี้ถือว่ารุนแรงที่สุด มากกว่าในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซียทั้ง
2 ครั้ง ช่วงก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯเมื่อวันที่ 11 ก.ย ช่วงโรคซาร์ส หรือไข้หวัดนกระบาด และหลังสึนามิ โดยล่าสุดยอดนักท่องเที่ยวในยุโรปลดลง 40% กลุ่มสแกนดิเนเวียลดลง 10% ส่วนจีนและญี่ปุ่น ช่วงปิดสนามบินหายไป 90% แต่ช่วงตรุษจีนกลับมา 20-30% เท่านั้น จึงจำเป็นที่รัฐต้องเร่งฟื้นการท่องเที่ยว ทั้งมาตรการ และเม็ดเงินช่วยเหลือ ซึ่งรัฐอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นท่องเที่ยวน้อยมาก ส่วนเงินช่วยเหลือสภาพคล่องผู้ประกอบการ ที่ภาคเอกชนขอไป 15,000 ล้านบาท รัฐขอลดเหลือ 5,000 ล้านบาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการอนุมัติ

ผู้ประกอบการมีปัญหาเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น เพราะปีนี้ไฮซีซั่นไม่จริง มันเป็นโลว์มากกว่า  เงินที่สะสมไว้ก็ใช้ออกมาถ้าเงิน และมาตรการกระตุ้นของรัฐไม่ถึงผู้ประกอบการก่อนเดือน เม.ย.นี้ ปีนี้ภาคท่องเที่ยวจะปลดพนักงานกว่า 80,000 คน หรือ 40% ของแรงงานทั้งหมด และเราจะเจอโลว์ซีซั่นติดต่อกัน 5 ซีซั่น ตั้งแต่เดือน พ.ค.51-เดือน ต.ค.53 แต่ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกัน เงินมา มาตรการรัฐทำงานได้จริง  เดือน พ.ย.52-มี.ค.53 อาจจะมีไฮซีซั่นกลับมา และอาจมีนักท่องเที่ยว  14 ล้านคน อย่างนี้รัฐตั้งเป้าหมายได้

นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า

ตนมีข้อมูลว่าพอเกิดวิกฤติไม่ว่านานเท่าใด รายได้ต่อหัวของคนในประเทศจะลดลง
9% และจากจุดสูงสุดลงมาถึงจุดต่ำสุดก่อนเศรษฐกิจจะฟื้นตัว จะต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี ซึ่งหากต้องใช้เวลานานขนาดนี้ รัฐบาลก็ต้องเตรียมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวไว้ 2-3 ปี เห็นได้จากสหรัฐฯทำแผน 2 ปีไว้เลย ขณะที่ออสเตรเลียทำแผน 5 ปี เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ดังนั้น ไทยต้องมองภาพอย่างนี้ ไม่ใช่กระตุ้นทีละปี และต้องเตรียมเงินไว้หากมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย และงบประมาณก็ต้องเตรียมพร้อมไว้ก่อน รวมทั้งการใช้เงินต้องมีประสิทธิภาพ เพื่อให้รายได้ประชาชาติใน 3-4 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น อัตราหนี้สาธารณะจะได้ลดลง

ไทยถือเป็นประเทศเล็กๆในโลก เหมือนเม็ดทรายบนหาดเวลาคลื่นซัดก็จะกระเด็น ฉะนั้นต้องป้องกันตนเอง หันมากระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ โดยเพิ่มการบริโภคและการลงทุน โดยเพิ่มอุปสงค์ของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำยากมาก ต่างจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 ที่แก้ปัญหาได้รวดเร็วด้วยการลดค่าเงินบาท สินค้าไทยก็ส่งออกได้ แต่ตอนนี้ใช้ไม่ได้เพราะเศรษฐกิจโลกตกลงทั้งหมด ต้องมาพึ่งเศรษฐกิจในประเทศ จึงเป็นโจทย์สำคัญมากว่าจะเพิ่มการบริโภคได้อย่างไร

ส่วนเรื่องการลงทุนจะต้องเน้นทั้งโครง สร้างพื้นฐานที่มีแผนอยู่ รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมด้วย และต้องหารือร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่ามีเรื่องใดต้องลงทุนบ้าง

เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์