ไพฑูรย์ ยอมถอยใช้วิธีแจกเงิน 2 พันเป็นเช็ค ชี้ไม่ยุ่งยาก ก.ท่องเที่ยวของบฯ 5 พันล้านช่วงเอสเอ็มอี


สรุปวิธีแจกเงิน 2 พัน เป็นเช็ค "ไพฑูรย์" ยอมถอย หลังคุย "กอร์ปศักดิ์" แล้ว เชื่อไม่ยุ่งยาก ใช้แบบเดียวกับการคืนภาษี ด้าน สศค.เตรียมคลอด 5 มาตรการช่วยเหลือแรงงาน ให้นายจ้างที่ขาดทุน แต่ไม่ปลดคนงาน สามารถนำรายจ่ายค่าจ้างไปลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ก.ท่องเที่ยวฯของบฯ 5 พันล้าน ช่วยเอสเอ็มอี

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ "มติชน" เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงความชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการจ่ายเงินช่วยค่าครองชีพแก่ผู้ประกันตนที่มีรายได้ไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท รายละ 2,000 บาท ว่า ได้หารือกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี แล้วได้ข้อสรุปตรงกันว่าจะใช้วิธีการสั่งจ่ายเป็นเช็คเงินสด ในรูปแบบเดียวกับการจ่ายเช็คคืนภาษีให้กับประชาชน ซึ่งไม่ยุ่งยากเหมือนการการออกเช็คปกติที่จะต้องมานั่งเซ็นชื่อกำกับกัน เพราะแค่ป้อนข้อมูลเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ และจัดพิมพ์ออกมาก็เรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนการใช้ง่าย หากใครต้องการนำเงินเข้าบัญชีไว้ก่อนสามารถนำไปแจ้งกับธนาคารได้ทันที หรือจะนำไปใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าก็ได้

"ตอนแรกผมเข้าใจว่า จะทำกันเป็นเช็คปกติ จึงกลัวว่าจะเสียเวลาในการให้เจ้าหน้าที่มานั่งเซ็นกัน เพราะจำนวนคนที่ได้รับสิทธิมีมากกว่า 8 ล้านคน ขณะที่เวลามีจำกัด เพราะเราตั้งใจว่าจะจ่ายเงินให้กับประชาชนให้ได้ครบก่อนวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ เพื่อที่จะให้ประชาชนนำเงินไปจับจ่ายใช้สอย แต่พอได้คุยกับคุณกอร์ปศักดิ์จึงเข้าใจตรงกันแล้ว" นายไพฑูรย์กล่าว

นายไพฑูรย์กล่าวว่า สำหรับผู้มีสิทธิในต่างจังหวัดจะให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดต่างๆ เป็นจุดให้บริการ ผู้มีสิทธิได้รับเงินสามารถมาติดต่อขอรับเช็ค โดยนำบัตรประจำตัวประชาชนมาแสดง ส่วนโรงงานและบริษัทต่างๆจะส่งเจ้าหน้าที่ไปให้บริการถึงที่ ส่วนคนที่อยู่ที่บ้านจะจัดส่งเอกสารทางไปรษณีย์ไปให้ ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายไม่มากนัก

ผู้สื่อข่าวถามว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เห็นชอบกับแนวทางนี้หรือยัง นายไพฑูรย์กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่านายกอร์ปศักดิ์แจ้งผลการหารือเรื่องนี้ให้ทราบหรือยัง แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่านายกฯไม่ได้กังวลกับรูปแบบการจ่ายเงิน แต่สนใจว่าเมื่อมีการจ่ายเงินไปแล้ว เงินจะถูกนำไปใช้จ่าย เศรษฐกิจก็จะเกิดการหวุนเวียนหลายรอบ

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงาน 5 มาตรการ ของ สศค.ว่า คาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเพื่อเสนอต่อนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายในเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงาน 5 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการทางด้านภาษี ที่จะให้บริษัทที่ขาดทุนจากการดำเนินกิจการ หากไม่เลิกจ้างคนงาน จะให้นำต้นทุนที่เป็นค่าจ้างแรงงานมาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ยอมรับว่าทำได้ไม่ง่ายนัก

2.การจัดตั้งกองทุนแรงงานนอกระบบ เพื่อดูแลแรงงานนอกระบบประมาณ 20 ล้านคน ให้ได้รับสวัสดิการ เช่น คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง พ่อค้าแม่ค้าแผงลอย คนขับรถแท็กซี่ เป็นต้น 3.ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำงบประมาณที่ยังค้างท่ออีกกว่า 1 แสนล้านบาท มาดำเนินโครงการที่เป็นการจ้างงาน ซึ่งรัฐบาลอาจจะช่วยจ่ายสมทบส่วนหนึ่งด้วย

4.ให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐคิดโครงการเฉพาะด้านแรงงานขึ้น โดยเชื่อมโยงกับหลายๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นต้น 5.ผลักดันการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ที่เสนอมาแล้วหลายรัฐบาลแต่ยังไม่ผ่าน โดยเบื้องต้นจะต้องจัดตั้งเป็นกองทุนแรงงานนอกระบบ อาจจะรวมเข้ากับกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นกองทุนเดียว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 กุมภาพันธ์ นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติหลักการโครงการช่วยเหลือ

ด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการปิดท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ และ ดอนเมือง โดยแยกเป็นการให้วงเงินกู้เพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่เป็นลูกหนี้เดิมของธนาคารพาณิชย์ ประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยให้รัฐบาลจัดสรรวงเงินเพื่ออุดหนุนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และอุดหนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกันเงินกู้แก่บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ร้อยละ 1.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี

ส่วนมาตรการที่ 2 การสนับสนุนเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินกู้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ให้รัฐบาลจัดสรรวงเงินเพื่ออุดหนุนอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และอุดหนุนค่าธรรมเนียมค้ำประกันเงินกู้แก่ บสย. ร้อยละ 1.50 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี 

แหล่งข่าวกล่าวว่า ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเสนอขออนุมัติวงเงิน 245 ล้านบาท เป็นค่าดำเนินการ โดยแยกเป็นงบกลาง จำนวน 122 ล้านบาท จากรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ประจำปีงบประมาณ 2552 ที่ ครม.พิจารณาอนุมัติเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 โดยจัดสรรให้แก่ ธพว. เป็นเงิน 107 ล้านบาท บสย. 11 ล้านบาท และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ 4 ล้านบาท

ส่วนเงินอีกก้อนจำนวนกว่า 122 ล้านบาท ให้จัดสรรจากงบฯปี 2553 โดยจัดสรรให้กับ ธพว. จำนวน 107 ล้านบาท บสย.กว่า 11 ล้านบาท และกระทรวงการท่องเที่ยวฯ อีก 4 ล้านบาท โดยจะตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการขึ้นมาหนึ่งชุดด้วย

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯยังจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติให้ ธพว. แยกบันทึกบัญชีตามมนโยบายของรัฐ Public Service Account (psa) ออกจากการดำเนินงานปกติ และอนุมัติให้รัฐบาลชดเชยความเสียหายจากการสนับสนุนโครงการนี้ด้วย

"อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะขอให้ที่ประชุม ครม.อนุมัติให้คณะกรรมการบริหารโครงการนี้ มีอำนาจพิจารณาปรับวงเงินกู้ในโครงการนี้ตามความต้องการวงเงินกู้ที่ผู้ประกอบการมีความประสงค์ได้ตามความเหมาะสมด้วย" แหล่งข่าวระบุ

อนึ่ง ก่อนหน้านี้กระทรวงท่องเที่ยวฯเสนอให้รัฐบาลจัดทำมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ในวงเงิน 55,000 ล้านบาท แต่หลังจากที่หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่าเป็นวงเงินที่สูงเกินไป จึงลดวงเงินเหลือเพียง 5,000 ล้านบาท ก่อนเป็นระยะแรก และลดเวลาการชดเชยส่วนต่างของดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อ จาก 4 ปี เหลือเพียง 2 ปี และลดอัตราชดเชยส่วนต่างของดอกเบี้ยจาก 3% เหลือเพียง 2%

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุม ครม. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ กระทรวงคมนาคมจะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาการขออนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2551 รายการค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน สายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ด้วย 

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศขึ้นมาอีกครั้ง โดยมอบหมายให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อผลักดันขีดความสามารถของประเทศด้วยการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการใน 6 อุตสาหกรรม คือ อาหาร, ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากภูมิปัญญา หรือครีเอทีฟ โปรดักส์, การท่องเที่ยว, ระบบโลจิสติกส์, พลังงานทางเลือก และผลิตภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อม หรือกรีนโปรดักส์ เพื่อยกระดับให้ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยวางเป้าหมายให้เป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน และจะมีการจัดทำในรูปแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศไทยปี 2030

"นายกรัฐมนตรีจะเชิญภาคเอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมกันระดมสมองว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการที่ไทยมีศักยภาพเหล่านี้ได้อย่างไร ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศมาจากภาคบริการมากถึง 40% ดังนั้น หากไทยสามารถพัฒนาขีดความสามารถโดยการเพิ่มมูลค่าให้กับ 6 อุตสาหกรรมได้ จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากขึ้น" นายอภิรักษ์กล่าว

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวยันยืนว่า แนวทางการจ่ายเงิน 2,000 บาทให้กับผู้มีสิทธิในรูปแบบเช็คเงินสดเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด และจะไปศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการออกเช็คว่าจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด และในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (ครม.เศรษฐกิจ) วันที่ 18 กุมภาพันธ์ จะมีตัวแทนจากคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) มาหารือในเรื่องนี้ด้วย โดยเฉพาะการประสานงานให้ผู้ประกอบการสนับสนุนแนวทางการใช้เช็คแทนเงินสดในการซื้อสินค้า รวมถึงการให้สิทธิลดพิเศษด้วย หากดำเนินการในรูปการจัดมหกรรมส่งเสริมครั้งใหญ่ได้ ก็จะยิ่งดี

"ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการธุรกิจ คงไม่มีปัญหาในการรับเช็ค เพราะเป็นเช็คของรัฐบาล ไม่มีการปลอมแน่ และยืนยันว่า ผู้ประกอบการทุกรายมีสิทธิเข้าร่วมด้วย ตั้งแต่ร้านโชห่วยไปจนถึงโรงแรม" นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

นายกอร์ปศักดิ์กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาเรื่องงบประมาณปี 2553 ในการประชุม ครม. วันที่ 17 กุมภาพันธ์ นี้ จะเป็นการพิจารณาในเรื่องกรอบการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งในส่วนของรายได้ และรายจ่าย รวมถึงการกู้เงิน  อย่างไรก็ตาม การพิจารณาใช้จ่ายงบประมาณปี 2553 จะเน้นเรื่องการจ้างงานเป็นหลัก

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์