เรียบเรียงคำชี้แจงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ปัดอุ้มนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 6 และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเพราะไม่ยอมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
หลังจากนำเสนอเอกสารหลักฐานบางส่วนว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีพฤติการณ์ที่อาจทำให้เชื่อได้ว่า ต้องการอุ้มนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา เขต 6 และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเพราะไม่ยอมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ให้ใบแดง) นายบุญจง และยังดำเนินคดีอาญาล่าช้า ทั้งที่ กกต.มีมติเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 ว่า นายบุญจงกระทำฝ่าฝืน (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 53(5) หลอกลวง ใส่ร้ายด้วยความเท็จจริงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเพื่อจูงใจฯนั้น
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. ได้ออกมาชี้แจงกล่าวชี้แจง ดังนี้
1.สำนักเลขาธิการ กกต. ได้มอบหมายให้ฝ่ายกิจการสืบสวนส่งเรื่องให้สำนักวินิจฉัยคดีดำเนินการต่อ แต่เหตุที่ล่าช้าเพราะสำนักดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ ขณะที่เรื่องร้องเรียนมีเข้ามามาก เฉพาะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 ก็มีสำนวนกว่า 700 เรื่องแล้ว ซึ่งกกต. ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นหมดแล้ว
ล่าสุดทราบว่า การยกร่างคำวินิจฉัยและสำนวนในคดีนายบุญจงเสร็จแล้ว และเสนอให้กกต. ชุดใหญ่ลงนามแล้ว ดังนั้นจะเร่งดำเนินคดีอาญาต่อไปแน่ ซึ่งคดีอาญามีอายุความถึง 10 ปี
2.ยืนยันว่า กกต. ไม่เคยคิดช่วยเหลือคุณบุญจง เพราะเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นายบุญจงได้ลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคพลังประชาชน(พปช.) กกต. ถูกวิจารณ์มากว่าจ้องแจกใบแดงเฉพาะผู้สมัครจาก พปช. ดังนั้นจึงไม่มีมูลเหตุจูงใจให้กกต. ต้องเข้าไปโอบอุ้มนายญจงเลย กกต. ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคุณบุญจงเป็นใคร และจะได้เข้ามาเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดปัจจุบัน
3.การมีความผิดตามมาตรา 53 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯไม่ได้หมายความว่า ต้องถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งทุกกรณีไป แต่ขึ้นอยู่กับการใช้ดุลพินิจของ กกต. ถ้าเห็นว่า มีระดับความร้ายแรงฯ
ตัวอย่างคดีที่นายสุทธิพลยกเทียบเคียง กรณีที่ กกต. มีมติว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่ได้รับเลือก มีความผิดตามมาตรา 53 แต่ไม่ได้ยื่นคำร้องให้ศาลฎีกาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อาทิ
-การประชุมกกต. ครั้งที่ 61/2551 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 กกต. ให้ยกคำร้องคัดค้าน แต่ให้ดำเนินดคีอาญากับผู้สมัคร ส.ส. สุรินทร์ พรรคเพื่อแผ่นดิน 3 คน
-การประชุมกกต. ครั้งที่ 81/2551 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2551 กกต. ให้ยกคำร้องคัดค้านผู้สมัครส.ส. พะเยา พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และผู้สมัครส.ส. ศีรษะเกษ พรรคประชาราช แต่ให้ดำเนินดคีอาญา
-การประชุมกกต. ครั้งที่ 139/2551 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 กกต. ให้ยกคำร้องคัดค้านผู้สมัครส.ส. ประชาราช แต่ให้ดำเนินคดีอาญา
4. มติกกต. เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 พบว่า กกต. 4 คนมีมติให้ดำเนินคดีอาญากับคุณบุญจงเพราะเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 53 แต่มีเพียง 1 คนที่เห็นควรสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งฯ
จากคำชี้แจงของนายสุทธิพลมีข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่งดังนี้
หนึ่ง กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญาเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 แต่มีคำสั่งตั้งสำนักงานสำนักคดีและวินิจฉัยขึ้นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2551 หรือ ประมาณ 4 เดือนหลังจาก กกต.ลงมติ คำถามคือ เวลา 4 เดือนนั้นสำนวนดังกล่าวถูกดองอยู่ที่ไหน ในฝ่ายกิจการสืบสวนฯ
นอกจากนั้นตามขั้นตอนปฏิบัติสำนักวงาน กกต.ปฏิบัติอยู่ เมื่อ กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ต้องมีการทำคำวินิจฉัย แต่เป็นหน้าที่ของสำนักงานกฎหมายและคดีจะทำเรื่องบันทึกถึงประธาน กกต.ให้มอบอำนาจให้แก่ กกต.จังหวัดหรือ กกต.เขตเพื่อแจ้งความแก่พนักงานสอบสวนในพื้นที่ แต่ทำไมกรณีนายบุญจง ไม่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน แต่อ้างว่า คำวินิจฉัยยังร่างไม่เสร็จ
สอง ในเรื่องแจงจูงใจในการอุ้มนายบุญจงหรือไม่ ไม่มีใครพิสูจน์ได้ แต่การจะลงมติให้ใบแดงนายบุญจงนั่นต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ซึ่ง ในกกต.นั้นมีอย่างน้อย 1-2 เสียงแต่แกว่งอยู่เสมอในการวินิจฉัยคดีต่างๆ ดังนั้น ถ้ามีการล็อบบี้หรือวิ่งเต้นอีกเพียงเสียงเดียวก็จะรอดจากการถูกให้ใบแดงได้
ส่วนคดีอาญาที่ต้องผ่านพนักงานสอบสวนนั้น การวิ่งเต้นสามารถทำได้ง่ายโดยเแพาะพนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่เป็นเขตอิทธิพลของ ส.ส.
สาม การที่อ้างว่า มีการที่ กกต.มีมติว่า ผู้สมัครผิดตามมาตรา 53 ไม่จำเป็นต้องให้ใบแดงเสมอไปขึ้นอยู่กับดุพินิจเห็นว่า มีความผิดร้ายแรงหรือไม่ นายสุทธิพลอ้างการประชุม กกต. 3 ครั้งมาเป็นตัวอย่างเทียบเคียงคือ ครั้งที่ 61/2551, 81/2551และ 139/2551
ผู้สื่อข่าวพยายามตรสวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของ กกต.พบว่า การเผยแพร่ข้อมูลไม่เป็นระบบ ไม่มีการเผยแพร่ผลการประชุมมติ กกต.ทุกครั้ง นอกจากนั้นยังไม่เรียงลำดับชัดเจน การสืบค้นจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก
แต่ในที่สุดก็พบเอกสารการแถลงข่าวตามมติ กกต.ครั้งที่ 61/2551 (ข่าวที่ 69/2551)ซึ่งมีมติดำเนินคดีอาญาผู้สมัคร ส.ส.สุรินทร์เขต 3 พรรคเพื่อแผ่นดินเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ให้ใบแดงซึ่งนายสุทธิพลอ้างว่า เป็นความผิดตามมาตรา 53(เกี่ยวกับการทุจริตเรื่องตั้ง)
แต่จากเอกสารการแถลงข่าวดังกล่าวระบุว่า เป็นความผิดตามมาตรา 59 มาตรา 60 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการติดแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงไม่เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องทุจริตเลือกตั้งตามมาตรา 53 ซึ่งข้อความในเอกสารแถลงข่าวมีดังนี้
"1. กกต.มีมติโดยคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดสุรินทร์ เขต 3
1.1 นายศุภรักษ์ ควรหา ผู้สมัคร ส.ส. หมายเลข 4 เขต 3 พรรคเพื่อแผ่นดิน (ไม่ได้รับเลือกตั้ง)
1.2 นายสินชัย ตันติรัตนานนท์ ผู้สมัคร ส.ส. หมายเลข 5 เขต 3 พรรคเพื่อแผ่นดิน (ไม่ได้รับเลือกตั้ง)
1.3 นายสมบัติ ศรีสุรินทร์ ผู้สมัคร ส.ส. หมายเลข 6 เขต 3 พรรคเพื่อแผ่นดิน (ไม่ได้รับเลือกตั้ง)
ในข้อกล่าวหาว่า ติดแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงในเขตเลือกตั้งที่ 3 โดยไม่ระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้างอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศ กกต. โดย กกต.ให้ยกคำร้องคัดค้านและดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ถูกคัดค้านทั้ง 3 ตามมาตรา 59 มาตรา 60 ประกอบมาตรา 147แห่ง พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2550"
จึงไม่แน่ใจว่า มติ กกต.อีก 2 ครั้งตามที่นายสุทธิพลอ้างเป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน
สี่ ในการประชุมา กกต.เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551 นั้น มี กกต.ถึง 2 คนที่ให้ใบแดงนายบุญจงคือ นายสุเมธ อุปนิสากร และนายประพันธ์ นัยโกวิท(เอกกสารการลงคะแนนของ กกต.) ไม่ใช่ 1 คนตามที่นายสุทธิพลอ้าง ส่วนอีก 3 คนที่ให้ดำเนินคดีอาญาอย่างเดียวคือ นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ นางสดศร สัตยธรรม และนายสมชัย จึงประเสริฐ
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น ถ้าต้องการให้สาธารณชนไว้วางใจ กกต.ควรเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างแท้จริงโดยเฉพาะมติ กกต.ที่ต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่สับสนอย่างเช่นนั้นในปัจจุบัน
จับพิรุธ คำชี้แจง กกต.หตุไม่แจก ใบแดง-ดองดำเนินคดีอาญา บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ชัวร์หรือมั่วนิ่ม?
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง จับพิรุธ คำชี้แจง กกต.หตุไม่แจก ใบแดง-ดองดำเนินคดีอาญา บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ชัวร์หรือมั่วนิ่ม?