สื่อนอกซัดรบ.มาร์คเอียงขวาจัดถูกครอบงำ นายกฯย้ำไม่ทารุณโรฮิงญาให้ยูเอ็นเอชซีอาร์ร่วม


"อภิสิทธิ์"ย้ำไทยไม่เคยทารุณ"โรฮิงญา" พร้อมเปิดยูเอ็นเอชซีอาร์สังเกตการณ์ สื่อนอกตีแผ่บทความรุมอัด "รบ.มาร์ค"เอียงขวาจัด ถูกกองทัพครอบงำ เตือนอาจส่งผลหายนะต่อศก. ผู้อพยพแฉถูกส่งกลับพม่าเท่ากับเผชิญความตายที่รออยู่ หน่วยงานระนอง ชี้แก้ปลายเหตุตั้งศูนย์อพยพในไทย

สำนักข่าวไทยรายงาน เมื่อวันที่ 31 มกราคม ว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวต่างประเทศ ในระหว่างเข้าร่วมประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรั่ม ครั้งที่ 39 ระหว่างวันที่ 30 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ ที่เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส กรณีที่ทางการไทยถูกกล่าวว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้อพยพชาวโรฮิงญากว่า 500 คน โดยยืนยันว่า ไม่เคยมีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น และไทยพร้อมอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เข้ามาสังเกตการณ์วิธีการที่รัฐบาลไทยปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ ทั้งนี้ไทยยึดมั่นในนโยบายปฏิบัติต่อชาวโรฮิงญาในฐานะแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย แต่ยืนยันว่าไทยจะปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน

ส่วนกรณีที่รัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธจะรับผิดชอบต่อคนกลุ่มดังกล่าวนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากการดำเนินการเป็นไปในรูปแบบของพหุภาคี โดยมียูเอ็นเอชซีอาร์ร่วมด้วย ก็เป็นหน้าที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา

ขณะที่หนังสือพิมพ์วอชิงตัน โพสต์ ของสหรัฐอเมริกา ฉบับประจำวันที่ 30 มกราคม และนิตยสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ของอังกฤษ ฉบับวางจำหน่ายในวันที่ 19 มกราคม  วิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของนายอภิสิทธิ์  ต่อกรณีที่กองทัพไทยถูกกล่าวหาว่า ทุบตีและนำเอาผู้อพยพทางเรือชาวโรฮิงญาร่วมพันคนไปปล่อยทิ้งกลางทะเลหลวงโดยไม่มีเสบียงยังชีพเพียงพอ ว่า สะท้อนให้เห็นถึงการถูกกองทัพครอบงำ และเชื่อว่า ขีดความสามารถในการบริหารประเทศของรัฐบาลไทยชุดนี้กลายเป็นต้องไปขึ้นอยู่กับว่า จะสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับกลุ่มการเมืองปีกขวาที่เคยบุกยึดสนามบินหลัก 2 แห่งในกรุงเทพฯก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลให้ลงเอยด้วยหายนะทางเศรษฐกิจติดตามมา

ข้อเขียนดังกล่าวระบุด้วยว่า แม้ว่า โฆษกรัฐบาลจะออกมายืนยันจะมีการสอบสวนกรณีนี้อย่างจริงจัง แต่นักวิเคราะห์การเมืองไทยหลายคนไม่เชื่อว่าจะสอบสวนสร้างความกระจ่างให้กับเรื่องนี้จนสามารถเอาผิดกับทหารรายหนึ่งรายใดได้ 

นอกจากนี้ วอชิงตันโพสต์ยังตั้งข้อสังเกตถึงการให้สัมภาษณ์ของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่ถือเอาว่า การกระทำใดๆ ที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ว่า เป็นการนำเอา 2 อย่างเข้ามาเชื่อมโยงกันอย่างไม่เหมาะสมและอาจทำให้รัฐบาลชุดนี้เอนเอียงไปในทางขวาจัด ซึ่งจะบ่อนเซาะความชอบธรรมและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลได้ในที่สุด

ทางด้านดิ อีโคโนมิสต์นั้น ถือว่า กรณีโรฮิงญาเป็นอีกกรณีหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า กองทัพสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากเพียงใด โดยตั้งข้อสังเกตว่า นายทหารยศนายพันที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในกรณีนี้เป็นนายทหารรายเดียวกันกับที่เคยถูกกล่าวหาว่ากระทำการเกินกว่าเหตุในการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบทางภาคใต้เมื่อปี 2547 ทั้งนี้ ดิ อีโคโนมิสต์เชื่อว่าการที่รัฐบาลนี้ได้อำนาจมาเพราะการหนุนหลังจากกองทัพจะทำให้ไม่สามารถสอบสวนการกระทำผิดของกองทัพในกรณีนี้ได้กระจ่างชัด

นอกจากนั้น ดิ อีโคโนมิสต์ ยังระบุด้วยว่า กรณีนี้แสดงให้เห็นถึงสภาพถอยหลังเข้าคลองของการเมืองไทย ซึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างประชาธิปไตย และเป็นแกนหลักในการดำเนินการทางการทูตในภูมิภาคเมื่อครั้งที่มีการนำเอารัฐธรรมนูญปี 2540 มาใช้ใหม่ๆ โดยการถอยหลังดังกล่าวเริ่มต้นจากการใช้อำนาจอย่างบิดเบือนของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่อด้วยการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านทักษิณ ที่มีนายพลบางคนและรัฐบาลชุดนี้หนุนหลัง เห็นได้จากการแต่งตั้งหนึ่งในผู้ที่เอนเอียงเข้าข้างกลุ่มดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ

ทางด้านรอยเตอร์ รายงานเพิ่มเติมว่า โฆษกของนิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ ในฮ่องกง เปิดเผยว่า นิตยสารฉบับดังกล่าวนี้จะไม่มีจำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้งเป็นสัปดาห์ที่ 2 ต่อเนื่องกัน เนื่องจากผู้จัดจำหน่ายในเมืองไทยเห็นว่า บางข้อความในข้อเขียนเรื่องนี้ ล่อแหลมที่จะส่งผลกระทบสถาบันได้เหมือนกับฉบับเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้

ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ชาวโรฮิงญาหลายพันคนที่อาศัยอยู่ในบังกลาเทศอย่างผิดกฎหมายหรืออาศัยอยู่ในค่ายผู้อพยพประกาศยอมตายดีกว่าถูกส่งตัวกลับไปพม่า ที่ซึ่งมีเพียงความตายรออยู่

โดยนายฮาจี อับดุล โมตาเล็บ ผู้นำกลุ่มมุสลิมโรฮิงญาในค่ายผู้อพยพที่เมืองลิธา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำนาฟ ตามแนวชายแดนระหว่างบังกลาเทศและพม่า เปิดเผยว่า รัฐบาลทหารพม่าพยายามที่จะกำจัดพวกชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโดยบีบบังคับให้ชาวโรฮิงญาทิ้งที่อยู่อาศัยแล้วให้ไปทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้าง ถูกข่มขืน ฆ่า และทรมานด้วยวิธีต่างๆ นานา หลายคนที่กลับไปพม่าแม้ว่าจะกลัวถูกดำเนินคดี กลับไม่พบร่องรอยของบ้านที่เคยอยู่เลย และเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญากว่าร้อยคนออกจากค่ายลิธากลับไปยังพม่าทางเรือ แล้วหายเงียบไปไม่ส่งข่าวกลับมาเลย คาดว่าอาจจะถูกจำคุกหรือเสียชีวิตแล้ว

นอกจากนี้ นายโมตาเล็บ ยังเรียกร้องให้นานาชาติควรจะกดดันผู้ปกครองพม่าให้หยุดการข่มเหงชาวโรฮิงญา ที่พม่าไม่ถือว่า เป็นชนกลุ่มน้อยในพม่า
 
ด้านนายเจะอามิง โตะตาหยง ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์ และคณะศึกษาดูงานเกี่ยวกับปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของชาวโรฮิงญา ที่ จ.ระนอง และรับฟังบรรยายสรุปข้อมูลปัญหาการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของชาวโรฮิงญาและแนวทางแก้ไขร่วมกับนายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดระนอง พร้อมทั้งเยี่ยมชาวโรฮิงญา 4 คน ซึ่งบาดเจ็บและยังรักษาตัวอยู่ในห้องพิเศษโรงพยาบาลระนอง และที่ถูกควบคุมตัวเป็นผู้ต้องขังแทนค่าปรับจำนวน 62 คนที่เรือนจำจังหวัดระนอง ซึ่งครบกำหนดการรับโทษในวันเดียวกันนี้ และต้องส่งตัวไปกักกันไว้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองระนอง เพื่อรอการส่งกลับ

นอกจากนี้ ยังลงเรือตำรวจน้ำไปยังเกาะทรายแดง ที่ถูกระบุว่าเป็นสถานที่ที่ทหารไทยใช้ควบคุมตัวและกระทำทารุณชาวโรฮิงญาด้วย ขณะที่หน่วยงานในพื้นที่ จ.ระนอง ประสานเสียงให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการแก้ไขปัญหาชาวโรฮิงญา และไม่เห็นด้วยที่จะตั้งศูนย์อพยพในประเทศไทย ตามข้อเสนอของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทางออกคือต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ คือพม่าและบังกลาเทศ พร้อมทั้งให้ใช้ทุกเวทีนานาชาติ ชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์