กกต. ร่อแร่กว่า บุญจง..

"กกต.น่าจะมีอาการร่อแร่ยิ่งกว่านายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ เพราะมีพฤติการณ์ที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นการหมกเม็ดหรือเป่าคดีเพื่อช่วย นายบุญจง"

 
ในแวดวงการเมืองกำลังมองรัฐมนตรี 2 คนมีอาการร่อแร่คือ นายวิฑูรย์ นามบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) กรณีการแจกปลากระป๋องเน่าให้แก่ชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วม และ นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กรณีการแจกเงินสงเคราะห์ผู้ยากไร้ของกระทรวง พม.ให้แก่ชาวบ้านรายละ 500 บาทพร้อมนามบัตรของตัวเอง

แต่สำหรับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแล้ว คณะกรรมการการการเลือกตั้ง(กกต.) น่าจะมีอาการร่อแร่ยิ่งกว่า เพราะมีพฤติการณ์ที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่า เป็นการหมกเม็ดหรือเป่าคดีเพื่อช่วย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ให้อยู่ในตำแหน่ง ส.ส.จนในที่สุดได้เป็นรัฐมนตรี

เรื่องดังกล่าวมีอยู่ว่า ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ในจังหวัดนครราชสีมา เขต 6

ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างนายพลพีร์ สุวรรณฉวี ผู้สมัครหมายเลข 3 พรรคเพื่อแผ่นดินกับนายบุญจง ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า นายพลพีร์ ได้คะแนนสูงกว่า ขณะที่นายบุญจงแพ้


อย่างไรก็ตาม มีการร้องเรียนการไปมาระหว่าง 2 ฝ่าย  จน กกต.ให้ใบเหลืองนายพลพีร์ (ให้มีการลงคะแนนใหม่ในวันที่ 20 มกราคม 2550 ) ผลปรากฏว่า นายบุญจงชนะเลือกตั้งและมีการประกาศผลเมื่อวันที่ 21 มกราคม จนนายบุญจงได้เป็น ส.ส.มาจนทุกวันนี้

แต่จากการที่นายพลพีร์ร้องเรียนนายบุญจงต่อ กกต.ไว้ในการลงคะแนนครั้งแรกนั้นได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสืบสวนสอบสวน จน กระทั่งกกต.มีมติเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2551ในการประชุมครํ้งที่ 48/2551ว่า 

นายบุญจงมีพฤติการณ์หลอกลวง ใส่ร้ายด้วยความเท็จจริงหรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเพื่อจูงใจฯ(พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53(5)) ให้ดำเนินคดีอาญาแก่นายบุญจง


ปรากฏว่า นับแต่วันที่ 3 เมษายน 2551 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 10 เดือน กกต.ยังมิได้ดำเนินการใดๆแก่นายบุญจงตามที่  กกต.มีมติแต่อย่างใด ว่ากันว่าแม้แต่คำวินิจฉัยเพื่อแจ้งความดำเนินคดีต่อพนักงานสอบสวนก็ยังร่างไม่เสร็จ

นอกจากนั้น ถ้าดูในแง่การใช้และการตีความกฎหมายของ กกต.แล้วยิ่งทำให้เกิดความสงสัยว่า  กกต.ต้องการช่วยเหลือและอุ้มนายบุญจงจริงหรือไม่

เพราะ การที่ กกต.มีมติว่า นายบุญจงกระทำฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ หลังจากที่ประกาศผลเลือกตั้งแล้ว กกต.ต้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อพิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายบุญจงเป็นเวลา 5 ปี(พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ  มาตรา 111)

มีหลักฐานที่ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กกต.มีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ให้ใบแดง)ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่แพ้การเลือกตั้งหลายคดีดังนี้

หนึ่ง การประชุม กกต.ครั้งที่ 134/2551 เมื่อวันอังคารที่ 28 ตุลาคม 2551  มีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง) นายวิทวัส พันธ์นิกุล ผู้สมัคร ส.ส.อุบลราชธานี เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์(ไม่ได้รับเลือกตั้ง) ตามมาตรา 236(5)และ (6)แห่งรัฐธรรมนูญฯและ มาตรา 10(10)และ(12)แพาง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 และมาตรา 111 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯมาตรา 111(เอกสารแถลงข่าวสำนักงาน กกต.เลขที่ 210_2551X

สอง การประชุม กกต.ครั้งที่ 95/51 เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2551 มีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง)นางกิ่งกาญจน์  ณ เชียงใหม่ ผู้สม้คร ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อแผ่นดินซึ่งไม่ได้รับเลือกตั้ง

สาม การประชุม กกต.ครั้งที่ 84/2551 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2551 มีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง)นายกิตติพงศ์ พรหมชัยนันท์ ผู้สมัคร ส.ส.หมายเลข 8 เขต 3 จังหวัดร้อยเอ็ด พรรคเพื่อแผ่นดินซึ่งม่ได้รับเลือกตั้ง

สี่  การประชุม กกต.ครั้งที่ 106/2551 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2551 มีมติเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบแดง)ผู้สมัคร ส.ว.สุโขทัยซึ่งไม่ได้รับเลือกตั้ง

แต่ทำไมกรณีนายบุญจง กกต.ไม่ยอมให้ใบแดงและส่งคำร้องให้แก่ศาลฎีกาเหมือนกับหลายคดีข้างต้น กลับมีมติเพียงว่าให้ดำเนินคดีอาญาแก่นายบุญจงเท่านั้น และยังดองคดีอยู่นานเกือบ 1 ปี

นอกจากเรื่องนายบุญจงแล้ว ยังมีอีกหลายเรื่องที่สะท้อนการทำงานที่ล้มเหลวของ กกต. แต่แค่หนังตัวอย่างเท่านี้  ก็อาจต้องหามเข้าไอซียูแล้ว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์