ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (21 ม.ค.) ไม่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ครั้งที่ 1/2552 ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล แทน
ซึ่งมีกรรมการเป็นรัฐมนตรี และผู้บริหารจากกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ส่วนภาคเอกชนมีตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วม ทั้งนี้ ภาคเอกชนต้องการเสนอให้รัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นทางการเมืองและเศรษฐกิจ แก้ปัญหาการว่างงาน การตั้งคณะกรรมการ กรอ.ระดับจังหวัด การเสริมสภาพคล่องด้วยการขอให้รัฐบาลลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เป็นต้น
เอกชนพอใจผลถก กรอ. รัฐสนองคำขอช่วยอุ้มธุรกิจ
ต่อมา นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมว่า นายกรัฐมน ตรีรับข้อเสนอจากภาคเอกชนมาพิจารณา
โดยได้มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ โดยเฉพาะการให้รัฐบาลลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ด้วยการเพิ่มค่าลดหย่อนจาก 150,000 บาท เป็น 200,000 บาท เพื่อให้เม็ดเงินอยู่ในมือผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง เพราะยังไม่เคยมีการช่วยเหลือในช่วงนี้ รวมถึงการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 20-25 การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายทุกประเภทให้เหลือร้อยละ 1 เพียงอัตราเดียว แต่ต้องไปดูรายได้และการจัดทำงบประมาณของรัฐบาลเพื่อให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเป็นมาตรการระยะกลางและระยะยาว
รองโฆษกสำนักนายกฯ กล่าวถึงข้อเสนอให้รัฐบาลหาแหล่งทุน 50,000-60,000 ล้านบาท ว่า นายกฯ มอบให้กระทรวงการคลังไปจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อดึงให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีดอกเบี้ยต่ำ
ส่วนการตั้งกองทุนค้ำประกันความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออก 5,000-10,000 ล้านบาท เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออก ต้องให้สถาบันการเงินมาร่วมตั้งกองทุนด้วย เพื่อให้ผู้ส่งออกมีความเชื่อมั่นมากขึ้น สำหรับการแก้ไขปัญหาการว่างงานได้มีการเสนอให้ตั้งศูนย์การช่วยเหลือปัญหาว่างงานแบบวันสต็อปเซอร์วิส และการมีมาตรการจูงใจให้บริษัทเอกชนชะลอการเลิกจ้าง
นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมเอกชนเสนอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับโรงงานที่ไม่ต้องการเลิกจ้าง แต่มีปัญหาทางธุรกิจ เพื่อมีเงินทุนเบื้องต้นในการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน และในกรณีบริษัทเริ่มมีปัญหาและอาจจะมีการประท้วงยืดเยื้อ เอกชนจะต้องเร่งประสานกับหน่วยงานรัฐเพื่อสะสางปัญหาก่อนเกิดการประท้วงเกิดขึ้นหลายแห่งจนเป็นภาพที่ไม่สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้น ทางภาค เอกชนและรัฐบาลจะต้องป้องกันปัญหาก่อนพนักงานจะมีการประท้วง หรือ การปิดถนนเพื่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่บุคคลภายนอก โดยในเรื่องนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงานรับไปดูในเรื่องแหล่งเงินทุนและการแก้ไขปัญหาการว่างงาน
สำหรับด้านการท่องเที่ยว รองโฆษกสำนักนายกฯ กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้เสนอของบประมาณรัฐบาลช่วยภาคเอกชนวงเงิน 30,000 ล้านบาท
เพื่อใช้จัดประชุมสัมมนา กระตุ้นการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และเสนอให้รัฐบาลกำหนดวันหยุดนักขัตฤกษ์ หากตรงกับวันหยุดกลางสัปดาห์ควรให้มีการหยุดต่อเนื่องกัน เพื่อส่งเสริมให้ครอบครัวมีวันหยุดยาวและออกไปท่องเที่ยวได้ และอาจมาชดเชยวันทำงานในวันอาทิตย์หากหยุดเกิน 3 วัน เพื่อส่งเสริมให้มีการเที่ยวในประเทศมากขึ้น นายพุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไปพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน สำหรับงบประมาณในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวระยะยาวนั้น ที่ประชุมจะนำไปพิจารณาในการจัดทำงบประมาณปี 2553 ด้านนายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ภาคเอกชนพอใจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการทางภาษี และการลดค่าธรรมเนียมวีซ่าให้ชาวต่างชาติ อย่างไรก็ตาม จะมีการทบทวนบางมาตรการเพิ่มเติมที่อยู่ระหว่างการพิจารณา
เลขาฯ สศช. กล่าวต่อว่า มาตรการที่เอกชนขอมาร้อยละ 80 ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว หลังจากนี้ จะมีการหารือมาตรการระยะกลางและระยะยาว
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ นายกฯ ยัง รับเป็นประธานคณะกรรมการ 3 ชุด คือ คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ (เซาท์เทิร์น ซี บอร์ด) คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (อีสเทิร์น ซีบอร์ด) และคณะกรรมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ รวมถึงการตั้งคณะกรรมการ กรอ.ระดับจังหวัดเพื่อให้ภาคเอกชนและภูมิภาคเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังตกลงตั้งกรรมการร่วมในการรับฟังข้อร้องเรียนภาค เอกชน โดยจะมีการประชุมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง 2-3 สัปดาห์ต่อเดือน
ขณะที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับต่างชาติ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมืองและการประท้วงของโรงงานต่างๆ ต้องเร่งดำเนินการให้ยุติโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ต่างชาติมองว่าไทยยังมีปัญหาอยู่ โดยมาตรการที่เสนอไปส่วนใหญ่รัฐบาลรับไปพิจารณา ซึ่งก็ต้องมีการติดตามแผนดำเนินการในการประชุมครั้งต่อไป ส่วน นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มาตรการระยะสั้นที่รัฐบาลได้ทำไป บางส่วนอาจยังไม่ครบจึงต้องมีการเสนอเพิ่มเติม แต่มาตรการระยะกลางและระยะยาวซึ่งจะมีผลต่อศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชนต้องเร่งดำเนินการ โดยภาคเอกชนเป็นห่วงเรื่องปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้น จึงต้องการให้รัฐบาลร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น