เปิดกฎเหล็กสำนักนายกฯ-ตร.ไม่เพียงแต่ต้องถอดยศ ทักษิณ ต้องเรียกคืนเครื่องราชฯชั้นเจ้าพระยาด้วย


การเสนอถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณที่ตกเป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงเพราะในช่วงที่ผ่านมามีนายตำรวจ-ทหารจำนวนมากถูกถอดยศเพราะต้องคำพิพากษาจำคุกถึงที่สุด


ทั้งส.ส.พรรคเพื่อไทย อดีตโฆษกและโฆษก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาค้านเสียงขรมด้วยเหตุผลต่างๆนานา เมื่อกองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)ทำเรื่องเสนอให้มีการถอดยศ "พันตำรวจโท" อดีตนายกรัฐมนตรีเนื่องจากถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท  ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และ 122 และยังหลบหนีคดีดังกล่าวและอีกหลายคดีอยู่ในต่างประเทศ

ความจริงแล้วประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ "มติชนออนไลน์"เคยนำเสนอเรื่องนี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณถุกศาลฎีกาฯสั่งจำคุก 2 ปีในความผิดที่ไม่ใช่ความผิดโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษเข้าข่ายที่จักต้องถูกถอดยศตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 (มาตรา 28)และ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย การถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547

มาตรา 28   การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ

สำหรับระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย  การถอดยศตำรวจ มี พล.ต.อ. สันต์  ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามและประกาศ  ณ  วันที่  4   มีนาคม  พ.ศ.2547

ระเบียบดังกล่าวเริ่มต้นด้วยคำปรารภเกี่ยวกับเหตุผลในการถอดยศว่า "เนื่องจาก ผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์  มิฉะนั้น  ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป"
 
ส่วนตำรวจที่จะถูกถอดยศได้นั้น มิได้จำกัดเฉพาะที่รับราชการอยู่เท่านั้น

"การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว"(ระเบียบข้อ 1) โดยผู้ที่ถูกถอดยศมีการกระทำหรือเมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง 7 ประการ แต่ที่เข้าข่ายกรณี พ.ต.ท.ทักษิณมีอยู่ 2 ประการคือ

(2) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท

(6) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
 
จากระเบียบดังกล่าว ไม่ว่าจะอ่านตามปกติ  ยืนอ่าน ตีลังกาอ่าน ก็เห็นชัดว่า กรณีพ.ต.ท.ทักษิณซึ่ง "ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก..เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท"หรือ "ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ"อันเป็นพฤติกรรม "ที่ไม่เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์  ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ"

จึงไม่มีเหตุใดๆที่จะหยิบยกขึ้นมาอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่สมควรถูกถอดยศ "พันตำรวจโท"อันเป็นยศพระราชทานเลย
 
เมื่อมีสมควรถูกยอดยศแล้วเป็นหน้าที่ของใคร ระเบียบฉบับเดียวกันระบุว่า "หน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาและดำเนินการถอดยศตำรวจ"มีดังนี้(ข้อ2 )
 
(1) ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศ  แล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาถอดยศ ...

(3) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับทราบข้อมูลการต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ....ทั้งในส่วนของผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้ว หรือยังคงรับราชการอยู่ในหน่วยงานอื่นของรัฐหาข้อมูลเบื้องต้นให้แน่ชัดแล้วส่งเรื่องให้กองวินัยพิจารณา หากเห็นว่าผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศก็ให้ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ถอดยศต่อไป

จากระเบียบดังกล่าว ถ้าผู้บังคับการกองวินัยทราบเรื่องแล้วไม่ดำเนินการเสนอถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณต่อผุ้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย่อมเข้าข่ายละเว้นการการปฏิบัติหน้าที่ เพราะในระเบียบระบุชัดว่า เป็นหน้าที่ "หน้าที่ความรับผิดชอบ" 

เช่นเดียวกับ ถ้าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้รับเรื่องจากกองวินัยแล้ว นิ่งเฉยก็ต้องตกอยู่ในสถานะเดียวกัน

การเสนอถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณที่ตกเป็นข่าวอยู่ทุกวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการตามข้อเท็จจริงเพราะในช่วงที่ผ่านมามีนายตำรวจ-ทหารจำนวนมากถูกถอดยศเพราะต้องคำพิพากษาจำคุกถึงที่สุด
 
ส่วนจะมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่หรือมีใครที่มีการกระทำหรือเหตุเช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ละเว้นไม่ดำเนินการ ก็ต้องถูกดำเนินการฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป

แต่จะมาอ้างเหตุไม่ดำเนินการกับพ.ต.ท.ทักษิณหาได้ไม่

ไม่เพียงแต่จะต้องถูกถอดยศเท่านั้น การที่พ.ต.ท.ทักษิณต้องคำพิพากษาจำคุกถึงที่สุด เป็นเหตุที่จะทำให้ต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณได้รับพระราชทานชั้นสูงสุดคือ ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.)หรือชั้น"เจ้าพระยา"  อีกด้วย

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์พ.ศ. 2548 ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามเองเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2548(ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 18 สิงหาคม 2548) กำหนด เหตุแห่งการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไว้ 8 ประการ แต่ที่เข้าข่ายกรณี พ.ต.ท.ทักษิณในขณะนี้ คือ

(2) เป็นผู้ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

สำหรับขั้นตอนการเสนอเรียกคืนเครื่องราชฯนั้นกำหนดไว้ว่า เมื่อผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์รายใดมีกรณีที่ต้องถูกเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์... ให้ส่วนราชการต้นสังกัดหรือส่วนราชการที่เสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการรวบรวมเอกสารหลักฐานและประวัติการได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของผู้นั้นเพื่อส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

เมื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้รับเรื่องแล้วหรือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรให้เสนอรายชื่อพร้อมทั้งชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สมควรขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอรายชื่อและชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่จะ
ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เรียกคืนแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

เห็นชัดว่า ระเบียบสำนักนายกฯกำหนดขึ้นตอนการเรียกคืนเครื่องราชฯไว้อย่างชัดเจนเช่นกัน ดังนั้นการเสนอเพื่อขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชฯ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนิอนการเช่นกัน เพียงแต่ว่า ต้องทำกันอย่างถ้วนหน้าต่อบุคคลที่เข้าข่าย เช่น

นายวัฒนา อัศวเหม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อแผ่นดินที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุกนาน 10 ปี

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ลงมติว่า กระทำผิดวินัยร้ายแรงเพราะทำให้ราชการได้รับความเสียหาย รอแต่เพียง อ.ก.พ.กระทรวงแรงงานว่า มีมติให้ออกหรือไล่ออกนายสมชายตามมติ ป.ป.ช.,

นายปลอดประสพ สุรัสวดี  อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ถูกไล่ออกจากราชการคดีการส่งออกเสือโคร่ง100 ตัวไปสาธารณรัฐประชาชนจีน

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเสนอถอดยศ และเรียกคืนเครื่องราชฯจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเป็นเรื่องของระเบียบกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน มิใช่เรื่อง"การเมือง"อย่างที่สื่อมวลชนบางฉบับเข้าใจและนักการเมืองพยายามบิดเบือน
---------------------------------------------------------------------------

ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย  การถอดยศตำรวจพ.ศ.๒๕๔๗

เนื่องจากผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ มิฉะนั้นย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ (๔) มาตรา ๒๘ และมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๗  จึงวางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้

(๑) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม
(๒)ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
(๓)ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต
(๔)กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
(๕)ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
(๖) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
(๗)ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็น ข้าราชการตำรวจ

ข้อ ๒ หน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาและดำเนินการถอดยศตำรวจ

(๑)ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศตามข้อ ๑ แล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาถอดยศ เว้นแต่กรณีตามข้อ ๑ (๗) เมื่อมีคำสั่งให้ออกจากราชการแล้วให้หน่วยต้นสังกัด  ดำเนินการส่งเรื่องให้กองทะเบียนพล รวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาถอดยศต่อไป

(๒)ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งยศเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศตามข้อ ๑ แล้วดำเนินการสั่งถอดยศ พร้อมทั้งรายงานให้สำนักงานตำรวจ  แห่งชาติ (ผ่านกองทะเบียนพล) ทราบ

(๓) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับทราบข้อมูลการต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือถูกฟ้องในคดีล้มละลายอันเนื่องมาจากการก่อหนี้สินขึ้นโดยทุจริตของผู้ที่ดำรงยศตำรวจทั้งในส่วนของผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้ว หรือยังคงรับราชการอยู่ในหน่วยงานอื่นของรัฐหาข้อมูลเบื้องต้นให้แน่ชัดแล้วส่งเรื่องให้กองวินัยพิจารณา หากเห็นว่าผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศก็ให้ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ถอดยศต่อไป

ข้อ ๓ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ  ณ  วันที่  ๔  มีนาคม  พ.ศ.๒๕๔๗
  
(ลงชื่อ)  พลตำรวจเอก  สันต์  ศรุตานนท์
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์