ม็อบพธม.192วัน ยืดเยื้อและย่อยยับ

กลายเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตึงเครียดให้กับประชาชนต่อเนื่องตลอดปี 2551

นั่นคือ การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชน เพื่อประชาธิปไตย ที่ยืดเยื้อกว่าครึ่งปีถึง 192 วัน

ภายใต้ 5 แกนนำ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์

เป็นม็อบที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รมว.มหาด ไทย ในรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เรียกว่า"ม็อบมีเส้น"

กลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มเคลื่อนไหวเปิดเกมขับ ไล่รัฐบาลพรรคไทยรักไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2548 ด้วยข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และปฏิญญาฟินแลนด์

คณะทหารในชื่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เข้ายึดอำนาจ เมื่อ 19 ก.ย.2549

ช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มีการไล่เช็กบิลคดีทุจริตต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพ.ต.ท.ทักษิณ และเครือญาติคนใกล้ชิด รวมทั้งตัดสิทธิ์คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนจากคดียุบพรรค

แต่หลังเลือกตั้ง 23 ธ.ค.2550 แผนบันได 4 ขั้นของคมช.ไม่เข้าเป้า

พรรคพลังประชาชนหรือไทยรักไทยเดิม มี นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค ชนะเลือกตั้งกวาดส.ส.มากถึง 233 เสียง และจับมือกับพรรค ชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย เพื่อแผ่นดิน รวมใจไทยชาติพัฒนา และประชาราช จัดตั้งรัฐบาล

โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว

เปิดทางให้พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กลับมาเหยียบแผ่นดินไทยอีกครั้ง หลังเร่ร่อน อยู่ต่างแดนพักใหญ่

ม็อบพันธมิตรฯฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง จัดชุมนุมเมื่อ 28 มี.ค.2551 ที่หอ ประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

และนัดชุมนุมใหญ่ 25 พ.ค.2551 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เน้นสัญลักษณ์ เสื้อเหลืองและผ้าโพกหัวเขียนข้อความ "กู้ชาติ"

ชูธงคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 และโจมตีการทำงานของรัฐบาลนายสมัคร รวมถึง นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ ในประ เด็นหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

ค่ำวันเดียวกัน ม็อบพันธมิตรฯเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล แต่ถูก ตำรวจสกัดกั้นไว้ตรงบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์

กลุ่มพันธมิตรฯจึงปักหลักอยู่บริเวณนั้นพร้อมปิดถนนราชดำเนินนอก ตั้ง แต่หน้าสำนักงานยูเอ็น กระทรวงศึกษาฯ จนถึงแยกจปร.

แต่ใช่ว่าจะง่ายเหมือนครั้งก่อน เพราะเจอฤทธิ์กลุ่มต่อต้านหรือกลุ่มนปช. ก่อกวนตั้งแต่วันแรก ถึงขั้นเลือดตกยางออก

30 พ.ค. กลุ่มพันธมิตรฯประกาศเปลี่ยนเป้าชุมนุมหันมาเรียกร้องให้รัฐ บาลนายสมัครลาออกทั้งคณะ ด้วยเหตุผลว่าเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของทักษิณ

ถัดมา 1 วัน นายสมัครแถลงผ่านช่อง 9 และเอ็นบีที ว่าเตรียมจะสลาย การชุมนุมด้วยกำลังทหารและตำรวจ แต่ท้ายสุดไม่มีอะไรเกิดขึ้น

พร้อมการเข้าร่วมของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ และการเดินสายตามยุทธศาสตร์ "ดาวกระจาย" ไปตามสถานที่ต่างๆ อาทิ สำนักงานใหญ่ปตท. ถนนสีลม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

20 มิ.ย. เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และชุมนุมต่อบนถนนพิษณุโลก ทำให้สถานศึกษา หน่วยงานต่างๆ ใกล้เคียงประสบปัญ หาในการเดินทางเข้าออกอย่างหนัก

โดยเฉพาะโรงเรียนราชวินิตมัธยม และพณิชยการพระนคร

ผู้ปกครองนักเรียนร.ร.ราชวินิต ยื่นร้องต่อศาลแพ่งและศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้กลุ่มผู้ชุมนุมเลิกปิดถนนและปิดเครื่องขยายเสียงตามเวลาที่กำหนด

กลางเดือนส.ค. ผู้สนับสนุนพันธ มิตรฯ ปิดสนามบินภูเก็ต และสนาม บินกระบี่ ปิดการเดินทางรถไฟสายใต้เพื่อกดดันรัฐบาลให้ลาออก

เช้ามืดวันที่ 26 ส.ค. ผู้ชุมนุมได้แบ่งกำลังเข้าบุกยึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที และสถานที่ราชการหลายแห่ง

ก่อนจะเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลและใช้เป็นเวทีชุมนุมแบบถาวรตั้งแต่นั้นเป็น ต้นมา

รัฐบาลจึงยื่นเรื่องฟ้องศาลเพื่อออกหมายจับแกนนำ รวมทั้ง นายสุริยะใส กตะศิลา นายเทอดภูมิ ใจดี นายอมร อมรรัตนานนท์ และ นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์

แต่ขณะที่เจ้าหน้าที่พยายามนำหมายศาลซึ่งมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้น ที่ภายในทำเนียบมาติดประกาศบริเวณรอบๆ ทำเนียบ แต่ถูกการ์ดพันธมิตรฯ และผู้ชุมนุมขัดขวางจนเกิดการปะทะกัน สุดท้ายตำรวจและเจ้าหน้าที่ศาลต้องล่าถอย

เมื่อคนเข้าไปอยู่รวมกันมากๆ ในสถานที่จำกัด ส่งผลให้ทำเนียบรัฐบาลเกิดปัญหา "ทำเนียบเน่า" ขณะเดียวกันการ์ดพันธมิตรฯเปิดศึกทะเลาะกับสื่อมวลชนไม่เว้นแต่ละวัน

เช้าวันที่ 2 ก.ย. รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร

หลังมีม็อบนปช.เสียชีวิต 1 ราย จากการยกพลจากท้องสนามหลวงมาปะทะกับม็อบพันธมิตรฯ บริเวณแยกจปร. โดยให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. เป็นประธานคณะกรรมการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ความแตกแยกระหว่างม็อบเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเริ่มลุก ลาม ขยายวงกว้างเกิดเหตุทำร้ายร่างกายกันรุนแรงทั้งในกรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ เชียงราย สกลนคร มหาสารคาม ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุดรธานี ฯลฯ

พันธมิตรฯ ยิ่งคึกคัก เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้นายสมัคร ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี จากการจัดรายการชิมไป บ่นไป

การเผชิญหน้ารุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พันธมิตรฯ เล่นงานคนที่คิดต่างแบบไม่มีข้อยกเว้น

ไม่ว่าจะเป็น นายอาสา สารสิน ราชเลขาธิการ นายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา หรือ นายดิสธร วัชโรทัย ประธานมูลนิธิราชประชานุเคราะห์

รวมถึงนักวิชาการ นักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวทางสายกลาง "ริบบิ้นสีขาว" เรียกร้องความสมานฉันท์ในบ้านเมือง

เช้าวันที่ 5 ต.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ระหว่างออกจากทำเนียบไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.

นำมาสู่การระดมพลปิดล้อมรัฐสภา ช่วงค่ำวันที่ 6 ต.ค. เพื่อไม่ให้ส.ส.-ส.ว.เข้าร่วมฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

เช้ามืดวันที่ 7 ต.ค. ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมหน้ารัฐสภา ไล่มา ถึงหน้าบช.น. มีผู้เสียชีวิต 2 รายคือ "น้องโบว์"น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ และ "สารวัตรจ๊าบ"พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี อดีตนายตำรวจ แกนนำพันธมิตรฯ จากภาคอีสาน

และมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประกาศลาออกจากรองนายกฯ และยังนำมาซึ่งการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงทั้งจากหลายฝ่าย ทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและรัฐบาล

ผบ.เหล่าทัพยังตบเท้ากดดันนายกฯ รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ 7 ตุลา แต่นายกฯ ยังยืนยันไม่ยุบ-ไม่ลาออก

แต่พอเริ่มเข้าสู่ช่วงเดือนพ.ย. การชุมนุมเริ่มเดินสู่ทางตัน ทั้งจากกรณีการยึดยื้อไม่ยอมเปิดถนนราชดำเนินในช่วงงานพระราชพิธีพระศพพระพี่นางฯ

บรรยากาศการชุมนุมอบอวลไปด้วยไสยศาสตร์มนต์ดำ ที่ฮือฮามากคือกรณี "โกเต๊ก" แกนนำบางคนเดินประพรมน้ำมนต์ไปรอบทำเนียบฯ ให้ผู้ชุมนุมหมอบกราบ

รวมทั้งการทำพิธีคลุมผ้าดำองค์พระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล

ระยะนั้นการ์ดพันธมิตรฯหลายคนถูกตำรวจตั้งด่านจับกุมพร้อมอาวุธปืนและ ระเบิด ขณะเดียวกันการชุมนุมในทำเนียบฯ ก็ถูกมือดียิงระเบิดเข้าใส่เป็นระยะ

บั่นทอนแนวร่วมผู้ชุมนุมให้ลดน้อยลง

ขณะที่ม็อบเสื้อแดงเดินสายจัดรายการความจริงวันนี้สัญจร ทั้งที่เมืองทอง ธานี สนามราชมังคลากีฬาสถาน วัดสวนแก้ว โชว์พลังคนเสื้อแดงเฉียดแสน โดยมีการโฟนอินจากพ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจุดขาย

ปฏิบัติการประกาศสงครามครั้งสุดท้าย "ม้วนเดียวจบ" ของกลุ่มพันธ มิตรฯ จึงเริ่มขึ้น

แกนนำสั่งระดมพลจากทั่วประเทศรวมตัวกันที่ทำเนียบฯ ตลอดวันที่ 23 พ.ย. เพื่อเตรียมบุกรัฐสภาเช้าวันที่ 24 พ.ย. ซึ่งจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อหารือกรอบการประชุมอาเซียน

ทำให้รัฐสภาตัดสินใจเลื่อนการประชุมออกไป กลุ่มผู้ชุมนุมหันหัวมุ่งไปปิดยึดสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ

27 พ.ย. รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครอบคลุมพื้นที่สนามบินทั้งสองแห่ง ท่ามกลางข่าวการปะทะระหว่างการ์ดพันธมิตรฯกับฝ่ายต่อต้าน

การยึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิของพันธมิตรทำให้พันธมิตรฯถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

อีกทั้งข่าวแตกแยกภายในหมู่แกนนำที่มาพร้อมกับเหตุการณ์บึ้มรายวันที่มีทั้งคนเจ็บและตาย ทำให้การชุมนุมซวนเซ คนที่ปักหลักอยู่เริ่มถอดใจ

กระทั่ง 2 ธ.ค. ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย จากคดีทุจริตเลือกตั้ง

แกนนำพันธมิตรฯประกาศทันทีว่าเป็นชัยชนะของประชาชน

พร้อมกับประกาศยุติการชุมนุมทุกพื้นที่ทั้งทำเนียบรัฐบาล สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินดอนเมือง ในวันที่ 3 ธ.ค.

แต่ความเสียหายย่อยยับที่เกิดขึ้น ยังจะต้องใช้เวลาอีกนับปีในการแก้ไขเยียวยา

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์