อภิสิทธิ์” ลั่นอัดงบ 3 แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผล พร้อมทิ้งเก้าอี้ ข้องใจเงินค้างที่ อปท.กว่าแสนล้าน ราชภัฏลำปางหวั่นบัณฑิตจบใหม่ตกงาน "อัมมาร"ชี้ปีหน้าเอสเอ็มอีเจ๊งยับ จี้รัฐปรับนโยบายช่วยเหลือ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หลายฝ่ายมองว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ และภาคใต้ จึงมีข้อเสนอให้คืนอำนาจให้แก่ประชาชน เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ว่า ความจริงไม่ว่าใครเข้ามาเป็นรัฐบาลขณะนี้มันไม่ง่ายอยู่แล้ว และนี่คือเหตุผลที่ย้ำเสมอว่า เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย แต่การจะขอความร่วมมือจากทุกฝ่าย รัฐบาลก็ต้องแสดงออกถึงความตั้งใจ มีความจริงใจ โปร่งใส ซึ่งข้อปฏิบัติ 9 ข้อที่ตนมอบให้ ครม.ส่วนหนึ่งก็เพื่อที่จะทำให้ความร่วมมือที่ไปขอจากประชาชนมีโอกาสได้รับมา
"ในส่วนของการแก้ปัญหา ผมก็เป็นนักการเมืองที่ต้องมีความรับผิดชอบ เมื่อเข้ามาก็จะแก้ปัญหาให้ดีที่สุด ถ้าแก้ไม่ได้ก็คิดว่าเป็นโอกาสของคนอื่นที่จะเข้ามาแก้ไข" นายอภิสิทธิ์กล่าวและว่า มีการประมาณการไว้ว่าเศรษฐกิจปีหน้าหลายหน่วยงานบอกว่าไม่โตเลย การส่งออกในเดือนพฤศจิกายนก็ติดลบ เป็นปัญหาที่หนัก ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการปรามาสทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องลบคำปรามาสให้ได้และคิดว่าในเดือนมกราคม 2552 เมื่อแผนกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาตรงนั้นจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด ว่าเราแก้ปัญหาตรงจุดและแก้ได้หรือไม่ และยืนยันว่าจะไม่มีการเอาประเทศเป็นหนูทดลองยา เพราะทุกอย่างรัฐบาลทำจริง
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงที่มาที่ไปของงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แสนล้านบาทว่า ตัวเลขคร่าวๆ ก็มีเงินจากงบประมาณกลางปีประมาณ 1 แสนล้านบาทที่ตั้งไว้เดิม และต้องมีเงินที่ผ่านธนาคารของรัฐโดยเฉพาะในโครงการต่างๆ เช่น พืชผลทางการเกษตร หรือเอสเอ็มอี ซึ่งเงินส่วนนี้จะไม่ใช่เงินงบประมาณแต่เป็นเงินผ่านจากหน่วยงานของรัฐอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท และจะมีงบประมาณที่ค้างอยู่ซึ่งเป็นงบประมาณปกติ สามารถปรับเปลี่ยนมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เป็นเงินที่ค้างอยู่ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือรัฐวิสาหกิจ ก็จะได้เงินอีกประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขกลมๆ ที่รัฐบาลจะระดมจากสามส่วนนี้มากระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 3 แสนล้านบาท ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนเงินของ อปท.จะดึงมาใช้โดยวิธีการใด นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้กำลังดูอยู่ว่า ทำไมเงินจึงค้างอยู่ที่ธนาคารกรุงไทยเป็นแสนล้าน ส่วนวิธีการดึงเงินจากธนาคารภาครัฐมาใช้นั้นที่ผ่านมาก็ทำกันอยู่แล้วในโครงการที่รัฐบาลเข้าไปแทรกแซงราคาพืชผลทางการเกษตร
เมื่อถามว่า ในส่วนโครงการเมกะโปรเจกท์ที่ดูเหมือนนายกรัฐมนตรีไม่เห็นด้วย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นด้วย เพียงแต่อธิบายว่าโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นโครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเราจะต้องดำเนินการต่อ ทั้งเรื่องโครงการรถไฟรางคู่ การจัดสรรแหล่งน้ำ ซึ่งจะเน้นในโครงการขนาดกลางและขนาดเล็กตามลุ่มน้ำต่างๆ มากกว่าโครงการขนาดใหญ่ เรื่องของระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ โครงการเหล่านี้เราจะเดินหน้าต่อ
"การที่ผมพูดนั้นก็เพราะต้องการให้มีความเข้าใจตรงกันว่า ความคิดที่จะใช้โครงการขนาดใหญ่กระตุ้นเศรษฐกิจจะไม่ทันการ เพราะการดำเนินโครงการเหล่านี้จะต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายร่วมทุน กฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งกว่าจะมีการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง ความหวังที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะ 2-3 เดือนข้างหน้าเป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่สามารถไปคาดหวังได้ว่าโครงการเมกะโปรเจกท์เหล่านั้นจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ และโครงการเมกะโปรเจกท์จะเดินต่อได้แต่ไม่ใช่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ" นายกรัฐมนตรีกล่าว
มี.ค.-เม.ย.เงินลงไปถึงพื้นที่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขณะนี้กำลังไล่ดูตัวเลขทั้งหมด ทั้งแง่ของงบประมาณ เงินนอกงบประมาณและแรงจูงใจทางภาษี ซึ่งตัวเลขกลมๆ ที่ตนให้ไว้คือ 3 แสนล้านบาท แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจจะประกาศในเดือนมกราคม 2552 เมื่องบประมาณผ่านสภา คาดว่าเงินจะลงไปได้ในประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน แต่คงไม่ได้ลงไปทั้งหมดทีเดียวภายใน 3 เดือน ทั้งหมดคือแผนที่เราจะประกาศให้เห็นว่าเรากำลังเติมกำลังซื้อของประชาชนในส่วนใดบ้าง
มีรายงานว่า แผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 3 แสนล้านบาท เป็นแผนกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งมีวงเงินเพิ่มจากการประมาณเมื่อสัปดาห์ก่อนถึง 1 แสนล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะใช้เพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชนในชนบทผ่านโครงการสร้างถนน คลอง และการพยุงราคาพืชผลการเกษตร ขณะที่เงินอีกส่วนหนึ่งจะใช้ในการฝึกอบรมพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากภาคการส่งออกที่ชะลอตัว โดยจะใช้เงิน 1 แสนล้านบาทปล่อยกู้ผ่านธนาคารของรัฐเพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตร และเพิ่มสภาพคล่องให้กิจการขนาดกลาง และขนาดเล็ก
อัมมารแนะรัฐกระตุ้นศก.ต้องใช้เงินเร็ว ในการสัมมนาเรื่อง “ศักยภาพของสังคมไทยกับวิกฤติโลก” กรณีศึกษาด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในปี 2552 ประเทศไทยต้องเผชิญกับพายุเศรษฐกิจอย่างรุนแรง เนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกลุกลามสู่ภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ประกอบกับปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อมายาวนานกว่า 3 ปี มีผลต่อการขยายตัวการส่งออกลดลง มีผลกระทบต่อภาคสังคมไทย ซึ่งรัฐบาลใหม่จะต้องดำเนินนโยบาย เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งคาดว่าปีหน้าจะมีการว่างงานในช่วงไตรมาส 1 จำนวน 8.8 แสนคน ไม่ถึง 2 ล้านคนอย่างที่วิตกกัน
สำหรับกลุ่มแรกที่รัฐบาลจะต้องดูแลคือ คนตกงาน 2.เกษตรกร เพราะราคาสินค้าเกษตรปีหน้าจะปรับตัวลดลง หลังจากฟองสบู่ราคาสินค้าเกษตรแตก จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เกษตรกรอย่างถูกต้อง ไม่ใช่การใช้นโยบายประกันราคาพืชผล 3.ร้านโชห่วย ได้รับผลกระทบจากการขยายสาขาของห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ กลุ่ม 4.ภาคการท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบหนัก และ 5.ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)
นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดและถ่องแท้ก่อนที่จะมีการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษีให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีลงร้อยละ 5 เพื่อช่วยเอสเอ็มอี ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ลึกซึ้งมากกว่านี้ เพราะปีหน้ามีโอกาสที่เอสเอ็มอีจะขาดทุน ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายภาษีให้รัฐบาล ดังนั้น การลดภาษีลงร้อยละ 5 จึงไม่ใช่มาตรการตรงจุดที่จะช่วยเหลือเอสเอ็มอี ควรศึกษาข้อมูลเดิมให้มีความเข้าใจว่าเอสเอ็มอี ต้องการการช่วยเหลือลักษณะใด
ส่วนที่หลายคนมองว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนโยบายประชานิยมเหมือนกับรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายอัมมารกล่าวว่า ไม่ได้สนใจว่า เป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีหลักการ 2 ข้อ คือ 1.จะต้องใช้เงินได้เร็ว ส่งเงินเข้าถึงระบบเศรษฐกิจได้ทัน 2.จะต้องเป็นนโยบายที่ถอยหลังหรือยกเลิกได้ ไม่ใช่นโยบายที่หว่านเงินหรือเสพติดจนเกินไป ส่วนเมกะโปรเจกท์ยืนยันว่า ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการขณะนี้ เพราะต้องใช้เวลานานถึง 5 ปี แต่ควรเน้นโครงการในระยะสั้น เช่น การปรับปรุงโรงเรียน การสนับสนุนการศึกษาต่อของนักเรียน โดยเน้นการอัดฉีดเงินให้เร็วที่สุด
ขณะที่รัฐบาลก็ต้องปรับปรุงระบบการออมเพื่อยามชรา รวมทั้งดูแลรัฐวิสาหกิจต่างๆ ที่มีปัญหาขาดทุนว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร และไม่เห็นด้วยกับการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม เพราะปัจจุบันก็อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าประเทศอื่นอยู่แล้ว หากลดภาษีไปแล้วการกลับมาขึ้นใหม่ก็เป็นไปได้ยาก
พ.ย.คนตกงานเพิ่มจาก ต.ค.กว่า 7 หมื่น นางธนนุช ตรีทิพยบุตร เลขาธิการสถิติแห่งชาติ กล่าวถึงผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรเดือนพฤศจิกายน 2551 ว่า มีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นอัตราว่างงานร้อยละ 1.4 หรือประมาณ 5.2 แสนคน เพิ่มขึ้นจากเมื่อเดือนตุลาคม 2551 ถึงกว่า 7 หมื่นคน นอกจากนี้ยังพบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 62 มีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพ การถูกเลิกจ้าง และถูกลดชั่วโมงงาน ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ในอีก 6 เดือนข้างหน้า
เลขาธิการสถิติแห่งชาติ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ตัวเลขความยากจนได้เพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ร้อยละ 8.9 จากปี 2550 ที่ร้อยละ 8.5 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรก นับตั้งแต่ปี 2543 ทั้งนี้รัฐบาลควรเร่งดำเนินการดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับรายได้ที่น้อยลงของประชาชน พร้อมหาแนวทางดูแลราคาผลผลิตการเกษตรไม่ให้ตกต่ำ ขณะที่ในส่วนของผู้ประกอบการต้องดูแลแหล่งเงินทุน การส่งออกและอัตราภาษีการค้า สรรพากรคาดปีนี้เก็บภาษีได้น้อยลง
นายสาธิต รังคสิริ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากภาวะที่เศรษฐกิจของไทยมีปัญหา ทำให้การจัดเก็บภาษีในเดือนธันวาคม ของกรมสรรพากร ติดลบไปถึง 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งคาดว่า ทั้งปี 2551 นี้ การจัดเก็บภาษี จะหายไปกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ตามปกติ กรมสรรพากรจะรับผิดชอบเก็บภาษีทั้งปี อยู่ที่1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเท่ากับว่า หายไปถึงเกือบ 10%
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตจะจัดเก็บภาษีได้ยากลำบากด้วยเช่นกัน ภาครัฐจึงไม่ควรใช้นโยบายลดภาษี เพราะไม่เช่นนั้น งบประมาณจะเหลือน้อยลงด้าน รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่าในปี 2552 การส่งออกของไทย จะขยายตัวได้เพียง 3-4% และจะมีคนตกงานใน 1-1.2 ล้านคน ซึ่งสภาวะเศรษฐกิจที่แย่จะสะท้อนให้เห็นชัดในไตรมาสที่ 1 และ 2 ในปีหน้า แรงงานใช้ 3 ลด 3 เพิ่ม แก้ว่างงาน
นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวภายหลังเดินทางไปประชุมหารือเรื่องแนวทางการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการว่างงาน ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า กระทรวงแรงงานได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแก้ปัญหาการว่างงาน โดยให้ใช้มาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม คือ ลดการเลิกจ้าง ลดการผลิต ลดค่าครองชีพ 3 เพิ่ม คือ เพิ่มตำแหน่งงาน เพิ่มทางเลือก เพิ่มพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยตั้งเป็นคณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาแรงงานแห่งชาติ ให้ นายกฯ เป็นประธาน ทุกกระทรวงเป็นคณะกรรมการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่รวมกันทั้งหมด 1.7 แสนล้านบาท สนับสนุนลงไปที่ท้องถิ่นแต่ละตำบล แต่ละหมู่บ้าน ซึ่งจะสอดคล้องกับมาตรการ 3 ลด 3 เพิ่ม
อย่างไรก็ดี สถานการณ์การเลิกจ้าง และการชุมนุมของพนักงานบริษัทต่างๆ ยังคงเกิดขึ้นทั่วไป ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ รมว.แรงงานเดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามผลการทำงานตามแผนอยุธยาโมเดลในการแก้ปัญหาคนงานถูกเลิกจ้าง ระหว่างนั้นได้มีกลุ่มคนงานจาก บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด รวมกลุ่มกันยกป้ายประท้วงนายจ้างที่บอกเลิกจ้างงานอย่างกะทันหัน และจ่ายเงินชดเชยถูกเลิกจ้างเพียง 2,500 บาทต่อคนเท่านั้น จึงมาเรียกร้อง รมว.แรงงาน ให้ช่วยเหลือเป็นคนกลางในการเจรจากับนายจ้างให้จ่ายเงินชดเชยการเลิกจ้าง 3 เดือน นายไพฑูรย์กล่าวกับกลุ่มพนักงานว่า จะมอบหมายให้หน่วยงานของกระทรวงแรงงานจัดหางานใหม่ให้แก่แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ส่วนคนที่มายื่นข้อเรียกร้องทราบว่า นายจ้างพร้อมเจรจาเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือในวันที่ 7 มกราคม ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมพอใจและสลายการชุมนุมกันในที่สุด
คนงานผลิตลำโพงปิดถนนเทพารักษ์
สายวันเดียวกัน พนักงานบริษัท ซัมมี่ ซาวด์ เท็ค (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 1366 หมู่ 4 ซอยนารายณ์ 2 ถนนเทพารักษ์ ต.เทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ซึ่งประกอบกิจการผลิตลำโพงเพื่อการส่งออก กว่า 200 คน ได้รวมตัวกันประท้วงปิดถนนเทพารักษ์ หลักกิโลเมตรที่ 1 หน้าสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากไม่พอใจนายจ้างซึ่งเป็นชาวเกาหลี ปิดโรงงานกว่า 2 เดือน แต่ไม่ยอมจ่ายเงินชดเชย และเบี้ยวนัดมาโดยตลอด
นายกำธร ถาวรสถิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เดินทางมาร่วมเจรจากับผู้ชุมนุมในช่วงเที่ยงวันเดียวกัน และได้ข้อยุติว่า พนักงานจะได้รับเงินค่าชดเชยคนละ 1,400 บาท ให้มารับได้ในวันที่ 26 มกราคม 2552 ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมุทรปราการ กลุ่มพนักงานจึงเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับนายจ้างในข้อหาฉ้อโกง ก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับ
มรภ.ลำปางผวาบัณฑิตใหม่ตกงาน
ผศ.เล็ก แสงมีอานุภาพ อธิการบดีมหาวิทาลัยราชภัฏลำปาง กล่าวว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางมีความเป็นห่วงว่านักศึกษาที่จบการศึกษาในปี 2551 จำนวน 2,005 คน โอกาสจะตกงานมีแนวโน้มสูง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจปีหน้า 2552 จะทรุดหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมา
ผศ.เล็ก กล่าวว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยราชภัฏลำปางได้ประเมินผลนักศึกษาที่จบการศึกษาออกไปแต่ละปีว่ามีนักศึกษาจำนวนเท่าไหร่ในแต่ละปีการศึกษาที่มีงานทำ เช่นในปี 2549 พบว่ามีนักศึกษาได้ทำงานร้อยละ 80-85 ปี 2550 มีนักศึกษามีงานทำร้อยละ 76-77 ส่วนปี 2551 ขอแค่ร้อยละ 40-50 ก็พอ
มาร์คเดิมพันเก้าอี้นายกฯศก.ไม่พื้น-ออก
เครดิต : ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!