"ตุลาการไม่สามารถใช้อำนาจบริหารได้ ศาลไม่ได้ชี้ว่า ดีหรือไม่ดี ถูกใจหรือไม่ถูกใจ แต่ศาลตัดสินว่า ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ปัจจุบันนี้ ตุลาการถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เกี่ยวกับความเที่ยงตรงและอำนาจในการตัดสินคดีความทางการเมืองที่สำคัญๆ เพื่อผ่าทางตันของวิกฤติที่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่อง อำนาจตุลาการกับประชาธิปไตย ไว้ในหนังสือ "เข็มทิศ ประเทศไทย" ดังนี้
เจิมศักดิ์ : มีคนพยายามปลุกกระแสว่า การยึดอำนาจโดยทหารมันลำบากแล้ว แต่"การยึดอำนาจผ่านกระบวนการยุติธรรม" จะแนบเนียนกว่า?
อภิสิทธิ์ : ผมคิดว่า ถ้ากระบวนการยุติธรรมเองเป็นอย่างนั้นจริง ก็เป็นอันตรายมาก เท่ากับว่าเราจะไม่มีที่พึ่งอีกเลยในวันข้างหน้า ความขัดแย้งก็จะไม่มีกฎกติกากันอีกต่อไป
ผมไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริง
ผมยังมั่นใจในระบบและกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะอำนาจตุลาการที่เป็นหลัก และเป็นที่ยุติของปัญหาความขัดแย้งในประเทศไทยเรามาช้านาน
อำนาจตุลาการ มีหน้าที่ตัดสินพิพากษาอรรถคดีที่เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ในส่วนของผม ผมก็ยังยืนยันว่า กระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะศาล จะต้องไม่เอาเรื่องเป้าหมายทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง
ผมเห็นว่า มันมีความแตกต่างกันค่อนข้างชัดว่า การรัฐประหารนั้น ถึงแม้จะไม่มีการปะทะ การเสียเลือดเสียเนื้อกัน แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันเป็นการตัดสินใจโดยคนที่ถือกำลังอยู่ และอาจจะเข้ามามีส่วนได้เสียโดยตรง แต่สำหรับอำนาจตุลาการนั้น ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยทุกประเทศ จะมีกลไกนี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบ ไม่ใช่เป็นอำนาจนอกระบบ และตุลาการก็ไม่สามารถเข้ามามีส่วนได้เสียโดยตรง หลังการยึดอำนาจนั้น ผมเป็นนายพล ผมยึดอำนาจเสร็จ ก็อาจจะต้องทูลเกล้าฯ ให้ตัวเองเป็นนายกฯ หรือทูลเกล้าฯ เสนอคนอื่นเป็นนายกฯ แต่ศาลตัดสินเสร็จ ศาลก็ยังกลับไปเป็นศาลเหมือนเดิม
ผมย้ำว่า การใช้อำนาจของตุลาการในขณะนี้ เป็นการใช้อำนาจในฐานะ ส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย เป็นการใช้อำนาจตามระบบ ไม่ใช่อำนาจนอกระบบ
เจิมศักดิ์ : หลังวิกฤติ "ตุลาการ" จะเป็นอย่างไร? บทบาทที่มีผลต่อสังคม การเมืองอย่างมากในขณะนี้ จะมีผลสะท้อนกลับอย่าไรไหม?
อภิสิทธิ์ : ผมยังเชื่อว่า ถ้าตุลาการทำงานอย่างตรงไปตรงมา ก็จะไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเมื่อไหร่ ตุลาการไม่สามารถที่จะแสดงให้สังคมเห็นถึงความตรงไปตรงมาได้ นั่นจึงจะเป็นปัญหา
ต้องไม่ลืมว่า ก่อนหน้านี้ เราก็มีองค์กรอิสระที่เข้ามาทำงานคู่กับตุลาการในหลายๆ ส่วน เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ กกต. ป.ป.ช. เพียงแต่องค์กรเหล่านี้ในยุคระบอบทักษิณ ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองลงไปจนหมดสิ้น ในที่สุด บ้านเมืองถึงได้เป็นปัญหา แต่ถ้าหากตุลาการในปัจจุบันหรือองค์กรอิสระ ในปัจจุบัน สามารถกลับมาทำงานได้อย่างตรงไปตรงมาแล้ว มันน่าจะทำให้คนมองเห็นว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของระบบ มีขอบเขตอำนาจของเขา และเขาต้องชี้ขาดในบางเรื่องได้ เพราะเรื่องว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง ผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ไม่พึงจะตัดสินกันด้วยเสียงข้างมากหรือกระแสนิยม
ผมหวังว่า การใช้อำนาจตุลาการ ต้องไม่ใช้พร่ำเพรื่อ คือ เมื่อตัดสินแล้ว ชี้ขาดแล้ว บรรทัดฐานถูกวาง มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว สิ่งที่ผมหวังก็คือ สังคมและคนที่เกี่ยวข้องจะเรียนรู้ นำไปปฏิบัติตามกระบวนการที่ถูกต้อง แล้วก็จะได้ไม่ต้องไปรบกวนเขามาก เขาก็สามารถอยู่ในมุมของเขาต่อไปได้
ดูอย่างคำพิพากษาที่ผ่านมา กรณีคดียุบพรรคก็ดี หรือกรณีคุณหญิงพจมานก็ดี แทบทุกเรื่องมีบทเรียนที่น่าสนใจมาก สะท้อนว่า ตุลาการก็ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องอธิบาย และผมคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่จะต้องอธิบาย
ต่อไปนี้ เราน่าจะรู้และเรียนจากการตัดสินต่างๆ ว่า อะไรถูก อะไรผิด ผมหวังว่า คงไม่ต้องมาทดสอบกันซ้ำซากๆ ว่าคนนี้ผิด งั้นผมลองดูบ้างว่าผมจะผิดไหม แล้วก็มีคนตามมาอีก ลองดูอีกคนว่าจะผิดไหม ผมหวังว่ามันไม่เป็นอย่างนั้น
เมื่อตุลาการเขาตัดสินไปแล้ว คนต่อๆ ไป ต้องรู้ สังคมต้องรู้ เมื่อรู้ว่าแบบนี้ทำไม่ได้นะ ใครก็ทำไม่ได้ แล้วก็อย่าไปทำ เดินกันต่อไปข้างหน้าดีกว่า
เจิมศักดิ์ : หลังวิกฤติ ศาลไม่น่าจะกระทบกระเทือนอะไรหรือ?
อภิสิทธิ์ : จะไม่ถูกกระทบกระเทือนเลยมันก็คงไม่ได้ ก็คงกระทบกระเทือนบ้าง เพราะว่าความรู้สึกของคนที่เผชิญหน้ากันอย่างรุนแรง และผลการตัดสินนั้น ไม่ว่าจะตัดสินทางไหน ก็ต้องมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย มันย่อมมีผู้ที่ผิดหวัง ในแง่นั้นก็ต้องมีกระทบกระเทือนบ้าง แต่หากศาลแสดงออกถึงความตรงไปตรงมา ก็คงไม่กระทบกระเทือนถึงขั้นมีความสั่นคลอน
เจิมศักดิ์ : จะมีผลให้ตุลาการถูกดึงลงมา จนมีภาพเหมือนฝ่ายบริหารเสียเองไหม?
อภิสิทธิ์ : ตุลาการไม่สามารถที่จะใช้อำนาจบริหารได้ ศาลอาจจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งว่า รัฐบาลทำผิดกฎหมาย เพราะไม่ได้ทำตามขั้นตอน กระบวนการนั้น-กระบวนการนี้ แต่ศาลไม่ได้บอกว่านโยบายนี้ดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด ศาลไม่สามารถมาบอกได้ และก็ยังไม่เคยมาก้าวล่วง
ลองดูตัวอย่างชัดๆ เช่น การทำสัญญาเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอ อย่างมากที่สุด ศาลก็ชี้ได้ว่า ข้อตกลงที่รัฐบาลฃไปทำนั้น ไม่ทำตามขั้นตอน ตามกฎหมาย ไม่ถูกต้องตรงนั้น-ตรงนี้ โดยที่ศาลไม่ได้ไปสั่งว่า รัฐบาลห้ามทำเอฟทีเอเด็ดขาด เพราะว่ามันไม่ดี-ไม่เหมาะสม หรือบอกว่าต้องทำเอฟทีเอเพราะมันดี น่าจะดี การตัดสินใจส่วนนั้น ยังคงเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร
หรือ กรณีประสาทเขาพระวิหาร ศาลก็บอกว่า ข้อตกลงนั้นเป็นข้อตกลงที่ต้องผ่านความเห็นชอบของสภาหรือไม่ แล้วรัฐบาลทำตามขั้นตอนกฎหมายอย่างถูกต้องหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านก็คือไม่ถูกต้อง ถือว่าโมฆะ โดยที่ศาลไม่ได้มาชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาลทำนั้น เหมาะสมหรือไม่ ถูกใจใครหรือไม่
ตรงนี้สำคัญมาก คือ ศาลไม่ได้ชี้ว่า ดีหรือไม่ดี ถูกใจหรือไม่ถูกใจ แต่ศาลตัดสินว่า ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่อง อำนาจตุลาการกับประชาธิปไตย ซึ่งสามารถอ่านทั้งหมดได้ในหนังสือ "เข็มทิศ ประเทศไทย"
แนวคิดมาร์ค ในอำนาจตุลาการกับประชาธิปไตย ที่ผู้อ่านต้องอึ้ง
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง แนวคิดมาร์ค ในอำนาจตุลาการกับประชาธิปไตย ที่ผู้อ่านต้องอึ้ง