จับตา ดัชนีความสุข ชี้ทิศทาง พรรคร่วม... พลิกขั้ว?

แม้จะคาดเดาผลการวินิจฉัยของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน (พปช.) พรรคชาติไทย (ชท.) และพรรคมัชฌิมาธิปไตย (มฌ.) แต่เมื่อวันนั้นมาถึงก็ทำให้ปั่นป่วนอยู่ไม่ใช่น้อย

โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงฝ่ายสนับสนุนพรรคพลังประชาชนได้ยกขบวนไปปิดล้อมทางเข้า-ออกศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถนนจักรเพชร

ทำให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแจ้งย้ายด่วนไปออกนั่งบัลลังก์เพื่อฟังคำชี้แจงปิดคดีของ 3 พรรคที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ แทน คล้อยหลังการปิดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่กี่นาที ศาลรัฐธรรมนูญก็ออกบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคทั้งสาม ส่งผลให้ "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" นายกรัฐมนตรี และ ครม.ทั้งคณะต้องพ้นจากหน้าที่ไปทันที โดยเหลืออดีตรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็น "กรรมการบริหาร" ของ พปช. ชท. และ มฌ. ทำหน้าที่ "รักษาการ" ได้ไม่กี่คน

คำสั่งยุบพรรคถือเป็น "แผ่นดินไหว" ครั้งสำคัญต่อการเมืองไทย ซึ่งคาดว่าจากนี้ไปจะมี "อาฟเตอร์ช็อค" ตามมาอีกหลายระลอก โดยเฉพาะการฟอร์มรัฐบาลใหม่

ปมการเมืองที่ต้องไถ่ถามกันมากที่สุดคือ พรรคร่วมรัฐบาลยังจะร่วมหัวจมท้ายกับ "เพื่อไทย" พรรคนอมินีรุ่น 3 ของพรรคไทยรักไทยอีกต่อไปหรือ...?

ชท.และ มฌ.เป็น 2 พรรคร่วมชะตากรรมกับ พปช.ที่ถูกยุบพรรค กรรมการบริหารพรรคที่เป็น ส.ส.ต้องพ้นสมาชิกภาพไปหลายสิบคน แต่รวมกันแล้วก็ยังมีเสียงที่เหนือกว่าฝ่ายค้านพรรคเดียวอย่างประชาธิปัตย์ วิเคราะห์กันว่าโอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ทั้ง พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคประชาราช พรรคชาติไทยในชื่อใหม่ "ชาติไทยพัฒนา" หรือแม้กระทั่งมัชฌิมาธิปไตยในชื่อ "ภูมิใจไทย" น่าจะ "ล็อคคอ" กันแน่น

แต่การสลายไปของ "สมชาย 1" ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งๆ ที่รัฐบาลเพิ่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ทำให้ "ความกระตือรือร้น" ในการที่จับขั้วเดิมตั้งรัฐบาลคลอนแคลนลง ...และยิ่งคลอนแคลนมากขึ้นๆ เมื่อแก่นแกนของพลังประชาชนแตกคอกันเพราะแย่งชิงกันเป็นใหญ่?

"วิทยา บุรณศิริ" ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)

บอกว่า ส.ส.จะเข้าชื่อกันเพื่อขอให้ "ชัย ชิดชอบ" ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยื่นเปิดประชุมสภาเพื่อจะได้เร่งรัดกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาแทน "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" เพราะบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสุญญากาศไร้ผู้นำเป็นเวลานานๆ ไม่ได้ พร้อมกับพูดเป็นนัยว่า "...พรรคร่วมได้พูดคุยไปในทางเดียวกัน ถือว่าเป็นสัญญากันอยู่"

แต่ "นิกร จำนง" รองหัวหน้าพรรคชาติไทย คนคู่ใจ "บรรหาร ศิลปอาชา" กลับแบ่งรับแบ่งสู้ ไม่ได้พูดจา "ภาษาเดียวกัน" กับ "วิทยา บุรณศิริ" แต่อย่างใด!!

เหตุและปัจจัยที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนขั้วการเมืองได้นั้น พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดจะต้องพร้อมใจกันไปแท็คทีมกันกับประชาธิปัตย์ ซึ่งวิเคราะห์กันว่าหากเจรจาต้าอวยกันดีๆ นอกจากจะรักษา "โควต้าเดิม" เอาไว้ได้แล้ว โอกาสที่จะ "เพิ่มเก้าอี้" ยังมีสูง นั่นเพราะเป็นการหยิบยื่นโอกาสทองให้ฝ่ายค้านได้พลิกวิกฤตมาเป็นรัฐบาล นับว่า "เดิมพันสูง" ถึงสูงมากที่พรรคฝ่ายค้านยากที่จะเมิน แต่นั่นหมายความว่า พรรคร่วมรัฐบาลอาจประเมินพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี "สุเทพ เทือกสุบรรณ" เป็นแม่บ้าน "ต่ำเกินจริง"

หากแลกกับ "ความปลอดภัย" ที่ไม่ต้องถูกรุกไล่จากกลุ่มผู้ชุมนุมที่ "ไม่เอาระบอบทักษิณ" การพลิกขั้วมาอยู่กับฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีกลุ่มมวลชนคนเสื้อเหลืองเป็น "มหามิตร" แล้ว สามารถวิเคราะห์จุดแข็งของพรรคประชาธิปัตย์แล้ว โอกาสที่จะอยู่ในฐานะรัฐบาล อาจจะยาวนานกว่า!!

ซึ่งทราบกันดีว่าจุดแข็งของประชาธิปัตย์ ก็คือจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทย เพราะไม่รู้ว่าขึ้นมาแล้วจะถูกรุกไล่ที่ทำงานเหมือนที่ผ่านๆ มาสักแค่ไหน

แต่หากย้อนถึงการร่วมทุกข์สุข ตามประสาคนที่ "ลงเรือลำเดียวกัน" ระยะเวลาไม่ถึง 1 ปีของการทำงานร่วมกัน คงพูดได้ว่า "ดัชนีความสุข" ของพรรคร่วมพรุ่งปรี๊ดเต็มปรอท โดยวัดง่ายๆ จากทุกครั้งที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี พปช. "ให้เกียรติ" พรรคร่วมอย่างเต็มที่

พลันที่มีคำสั่งยุบพรรคออกมา จึงเป็นจังหวะที่พรรคเล็กพรรคน้อยที่อยู่ตรงกลางจะได้มีโอกาส "เล่นเกมของตัวเอง" อีกครั้ง!!

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์