ลำพังการเคลื่อนของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเข้าบุกยึดและครอบครองทำเนียบรัฐบาลเมื่อปลายเดือนสิงหาคม เพื่อขับไล่รัฐบาล "สมัคร สุนทรเวช" ต่อเนื่อง "สมชาย วงศ์สวัสดิ์"
แม้เป็นท้าทายอำนาจรัฐ ก้าวข้ามกรอบกฎหมาย
ทว่า ผลกระทบตลอดช่วง 3 เดือนดังกล่าว อย่างมากเพียงสร้างความกระทบกระเทือนความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล เสมือนไร้ความสามารถควบคุมสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติ หรือแค่สร้างความไม่สะดวกแก่การสัญจรของผู้จำเป็นต้องใช้เส้นทางในรัศมีรอบพื้นที่ยึดครอง
นั่น...แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับสถานการณ์หลังจากแกนนำพันธมิตรตัดสินใจยกระดับแรงกดดันต่อรัฐบาล "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" เปิดยุทธศาสตร์ "ดาวกระจาย" ที่คุ้นเคย แต่เข้มข้นมากขึ้น
ส่วนหนึ่งคงปักหลักฐานที่มั่นที่ "ทำเนียบรัฐบาล"
ส่วนหนึ่งเกาะกุมพื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมือง "ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว"
และส่วนหนึ่งบุกยึดครองท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ "ประตูของประเทศ"
การบุกยึด ปิดล้อม ปักหลัก ล่อแหลมต่อมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยทางการบิน บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ต้องประกาศหยุดให้บริการท่าอากาศยานทั้งสองแห่ง เส้นทางคมนาคมขนส่งทางอากาศของไทยกลายเป็นอัมพาต เหมือนปิดประตูลั่นดาลประเทศ คนในไม่ได้ออกคนนอกไม่ได้เข้า
เพียงหนึ่งสัปดาห์ หลังปฏิบัติการที่แกนนำพันธมิตรอ้างว่า "ม้วนเดียวจบ" กลับสร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งในรูปธรรมและนามธรรมอย่างมหาศาล
ด้านรูปธรรม ผู้โดยสารสายการบินต่างๆ ทั้งชาวไทยและต่างประเทศต้องตกค้างนับแสนคน ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการเกี่ยวเนื่องเสียหายยับเยิน การส่งออก-นำเข้าสินค้าหยุดชะงัก ลามไปถึงการผิดนัดส่งมอบสินค้าตามคำสั่งซื้อ ส่งผลกระทบแผ่เป็นวงกว้างซ้ำเติมภาคแรงงานที่บอบช้ำอยู่แล้วจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก
ลั่นดาลประเทศ! ยึดดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ไล่สมชาย เศรษฐกิจไทยไปก่อน
ด้านนามธรรม การปิดสนามบินส่งผลรุนแรงต่อความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงปลอดภัย ความเชื่อถือของประเทศคู่ค้า ผลลัพธ์คือค่าเสียโอกาสของประเทศที่ยากจะคำนวณมูลค่าความสูญเสีย ประเมินกันว่ากว่าจะฟื้นกลับมาได้ อย่างเร็วต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน กรณีเลวร้ายอาจต้องใช้เวลาเรียกคืนถึง 2 ปี
3 วันหลังการยึดครองสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิของกลุ่มพันธมิตร "รัฐบาลสมชาย" ทำการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นพบว่ามีมูลค่าถึง 1.46 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการสูญเสียนักท่องเที่ยวจากการยกเลิกเดินทางมายังไทยในช่วงพฤศจิกายน-ธันวาคม จำนวน 1.58 ล้านคน คิดเป็นมูลค่า 6 หมื่นล้านบาท
ธุรกิจการขนส่งทางอากาศ 3.2 พันล้านบาท ธุรกิจการขนส่งผู้โดยสารในท่าอากาศยาน 2.8 หมื่นล้านบาท ธุรกิจภายในสนามบิน 2.2 พันล้านบาท ความเสียหายอื่นๆ 592 ล้านบาท และยังมีความเสียหายที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้อีก 1.4 หมื่นล้านบาท
"ท่องเที่ยว"สูญรายได้แสนล้าน
ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์การปิดล้อมสนามบินทั้ง 2 แห่ง โดยเฉพาะกับสนามบินสุวรรณภูมิ คาดว่าจะส่งผลให้การท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) คือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2551-กุมภาพันธ์ 2552 สูญเสียรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท จากปกติประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวในช่วงดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 2.2 แสนล้านบาท
นอกจากนั้น ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวที่สูญเสียไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังจะมีผลต่อเนื่องในระยะยาว โดยเชื่อว่าในปีหน้ารายได้จากการท่องเที่ยวในประเทศจะอยู่ในภาวะติดลบ จากที่ตั้งเป้าไว้ประมาณ 6.3 แสนล้านบาท จะเหลือเพียง 5.7 แสนล้านบาท
ผู้ประกอบการบางส่วนอาจต้องปรับลดแรงงานภาคบริการและท่องเที่ยวไม่ต่ำกว่า 10% โดยเฉพาะภาคเหนือ และอีสานที่คาดว่าจะประสบปัญหาหนัก โดยขณะนี้แรงงานภาคการท่องเที่ยวมีอยู่ประมาณ 1.2 แสนคน
จัดนิทรรศการในไทยสูญ1.1หมื่นล.
ขณะที่สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ทำการสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการจัดงานการประชุมด้านธุรกิจและนิทรรศการในไตรมาส 4 ปีนี้ พบว่าเม็ดเงินหดหายไปแล้ว 11,000 ล้านบาท แม้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้จะยังมีงานจัดประชุมและนิทรรศการใหญ่ๆ อีก 31 รายการ ล่าสุด บอกยกเลิกไปแล้ว 6 รายการ และหากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อก็ไม่แน่ว่างานจัดนิทรรศการที่เหลือ จะอยู่กับประเทศไทยอีกสักกี่แห่ง
ส่งออก-นำเข้าเสียหายยับ
แม้หอการค้าไทยซึ่งมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศ จะยังไม่ประเมินความเสียหายได้อย่างชัดเจน แต่พอจะอ้างอิงจากสถิติได้ว่าความเสียหายรวมทั้งท่องเที่ยว การลงทุน การส่งออก น่าจะอยู่ประมาณแสนล้านบาทต่อวัน หรือเท่ากับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หายวับไปทันทีวันละ 1% หากนับรวมธุรกิจนอกระบบสถิติและอัตราการว่างงานที่กำลังสั่นคลอน และเริ่มมีการมองถึงภาวะเงินฝืด หรือคนเก็บเงินแทนการใช้จ่าย ซึ่งจะกระทบต่อจีดีพีน่าจะลดตัวเกิน 1.1-1.2% หรือเกินกว่า 1.5 แสนล้านบาท ขณะนี้มีการพูดกันแล้วว่าอาจต้องปรับลดอัตราส่งออกติดลบครั้งแรกในปีหน้า
นั่นหมายถึงประเทศไทยต้องสูญรายได้ส่วนต่างที่ปกติเพิ่มปีละ 10% หรือเงินที่เพิ่มขึ้นกว่าหมื่นล้านเหรียญสหรัฐจะหายไป บวกกับเงินที่ต้องติดลบอีก รายได้ส่งออกที่หายไปก็เกือบ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ จากรายงานเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญหาสินค้าเกษตรตกค้างที่สนามบินทั้ง 2 แห่ง ของผู้นำเข้าและส่งออก คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 3 หมื่นล้านบาทต่อวัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีข้อจำกัดด้านระยะเวลาการเก็บรักษา เช่น ไม้ดอก พืชผัก ผลไม้สดต่างๆ ซึ่งจะเน่าเสียง่าย รวมถึงสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ต่างๆ ทั้งสดและแช่แข็ง เช่น กุ้ง ไก่ สุกรแช่แข็ง และผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเก็บรักษาในตู้แช่แข็ง โดยที่ยังไม่สามารถทราบกำหนดเวลาที่แน่นอนที่สายการบินต่างๆ ซึ่งใช้เป็นพาหนะในการขนส่งสินค้าเหล่านี้ จะสามารถทำการบินได้ตามปกติ
"อาเซียนซัมมิท"ลูกผีลูกคน
การจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (อาเซียนซัมมิท) ระหว่างวันที่ 15-18 ธันวาคมนี้ ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพที่จังหวัดเชียงใหม่ งานใหญ่ระดับภูมิภาค ความสำคัญไม่เพียงแค่การประชุมร่วมกันเพื่อวางกรอบความร่วมมือของกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ไฮไลต์ยังอยู่ที่การเจรจาและกรอบข้อตกลงทางการค้ากับประเทศคู่ค้าระดับบิ๊กอีก 6 ประเทศ
หากการประชุมครั้งนี้ ในที่สุดแล้วจำเป็นต้องล่ม ไม่ต้องถามว่าเกียรติภูมิและภาพพจน์ของประเทศในสายตาชาวโลกจะต้องเสื่อมถอยไปอยู่ระดับใด
ทั้งหมดเป็นเพียงการประมวลภาพคร่าวๆ ของความสูญเสีย ซึ่งจะยิ่งทวีเพิ่มสูงขึ้นวันต่อวันตราบใดที่ "ประเทศยังถูกจับเป็นตัวประกัน" ขณะที่ในซีกรัฐบาล "ลมโชย" ยังคงเลือกบริหารความขัดแย้งด้วยวิธีการไม่บริหาร การประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินมีสภาพแค่ "พิธีกรรม" ทว่า สอบตกหมดลายในภาคปฏิบัติ
อยากถามดังๆ ใครจะขันอาสาช่วยตัวประกันรายนี้...