และท่ามกลางความพยายามแก้ไขปัญหาของหลายๆ ฝ่ายจะเป็นอย่างไร เมื่อผู้นำเหล่าทัพเน้นย้ำว่า จะไม่มีการปฏิวัติรัฐประหาร ส่วนนายกรัฐมนตรีก็ยืนยันไม่ลาออก ไม่ยุบสภา
ฉะนั้นจึงมี 2 แนวทางที่ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเมืองและทหารเชื่อว่า ท้ายที่สุดแล้วจะถูกนำมาใช้ คือ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งมีบทบัญญัติแตกต่างกัน จึงน่าจับตามองว่า เมื่อต้องตัดสินใจนายกรัฐมนตรีสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะใช้แนวทางใด
พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มีสาระสำคัญอยู่ในมาตรา 18 ระบุเอาไว้ว่า เพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง และแก้ไข หรือบรรเทาเหตุการณ์ภายในพื้นที่ตามมาตรา 15 ให้ผู้อำนวยการโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจออกข้อกำหนดดังต่อไปนี้
1.ให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดเว้นการปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด
2.ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนดในห้วงเวลาที่ปฏิบัติการ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลได้รับการยกเว้น
3.ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด
4.ห้ามนำอาวุธออกนอกเคหสถาน
5.ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในเส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
6.ให้บุคคลปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด อันเกี่ยวกับเครื่องมือหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งข้อกำหนดตามวรรคหนึ่งจะกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนเวลาหรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้ด้วยก็ได้ ทั้งนี้ การกำหนดดังกล่าวต้องไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ
ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 9 ระบุไว้ว่า
1.ห้ามมิให้บุคคลใดออกนอกเคหสถานภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้น
2.ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
3.ห้ามเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความ อันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งในเขตพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือทั่วราชอาณาจักร
4.ห้ามใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ
5.ห้ามการใช้อาคาร หรือเข้าไปหรืออยู่ในสถานที่ใดๆ
6.ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชนดังกล่าว หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ที่กำหนด
มาตรา 11 สรุปได้ว่า ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม และควบคุมตัวบุคคลต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน
นอกจากนี้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งเรียกให้บุคคลใดมารายงานตัว ส่งมอบเอกสาร ให้ถ้อยคำต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมถึงพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจค้น รื้อถอน หรือทำลายอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ตามความจำเป็น และมีอำนาจในการตรวจสอบจดหมาย หนังสือ สิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับหรือยับยั้งการติดต่อหรือการสื่อสารใดเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรง และมีอำนาจออกคำสั่งห้ามมิให้ผู้ใดออกไปนอกราชอาณาจักร
มาตรา 12 สรุปได้ว่า ในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่ต้องสงสัยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจหรือศาลอาญาเพื่อขออนุญาตดำเนินการ
เมื่อได้รับอนุญาต ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวได้ไม่เกิน 7 วัน และต้องควบคุมตัวที่ไม่ใช่สถานีตำรวจ ที่คุมขัง ทัณฑสถาน หรือเรือนจำ โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องควบคุมตัวเพื่อประโยชน์ต่อสถานการณ์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ร้องขอต่อศาลครั้งละ 7 วัน แต่รวมระยะเวลาควบคุมตัวไม่เกินกว่า 30 วัน
มาตรา 17 สรุปได้ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชกำหนดนี้ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย
เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการตามกฎหมายว่าด้วยความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ "คม ชัด ลึก" ได้พูดคุยกับนายตำรวจหลายคนให้ความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า หากมีความจำเป็นจริงๆ ควรจะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เพราะบทบัญญัติและการใช้จะค่อนข้างเบาไม่รุนแรงเท่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และสามารถนำมาปฏิบัติได้โดยไม่กระทบต่อประชาชนหรือนักธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ
"การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ คณะกรรมการสามารถตัดสินใจหรือกำหนดเวลา เพื่อให้ประชาชนรับทราบและปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกันประชาชนทั่วไปเองก็ไม่เดือดร้อนเหมือนกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน"