เดลินิวส์
ตะลึงคนไทยเกิดมามีหนี้ติดตัวทันทีเฉียด 5 หมื่นบาท หลังคลังเผยยอดหนี้ประเทศยังค้างเติ่งกว่า 3.2 ล้านล้านบาท คลังย้ำยังอยู่ในกรอบวินัยการคลังระบุดีกว่าก่อนเกิดวิกฤติเยอะมั่นใจอนาคตไม่มีปัญหาแน่ หลังทุ่มกำลังบริหารจัดการหวังลดยอดหนี้
ที่กระทรวงการคลัง เวลา 13.00 น. วันที่ 27 มิ.ย. นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เปิดเผยว่า ยอดหนี้สาธารณะของประเทศคงค้างล่าสุดเมื่อ วันที่ 30 เม.ย. 49 มีกว่า 3.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.39% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 15,116 ล้านบาท แม้ว่ารัฐบาลจะก่อหนี้เพิ่มขึ้น 11,060 ล้านบาทก็ตาม แต่ยอดหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินลดลง 10,861 ล้านบาท และหนี้สินของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินลดลง 15,495 ล้านบาท จึงทำให้ภาพรวมของยอดหนี้ของประเทศลดลง และยังไม่น่าห่วงแต่อย่างใดเพราะอยู่ในกรอบของความยั่งยืนด้านการคลังที่กำหนดไว้ไม่เกิน 50% ของ จีดีพี
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าว ว่า ยอดหนี้ของประเทศล่าสุด เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศกว่า 65 ล้านคนแล้ว พบว่าคนไทยทั้งประเทศจะมีหนี้ ต่อหัวตั้งแต่แรกเกิดประมาณ 49,230.76 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งหากภาระหนี้ของประเทศเพิ่มมากขึ้นเท่าใดภาระหนี้ต่อหัวของคนไทยก็จะเพิ่มมากขึ้นทันทีแม้ว่าเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติแล้วสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีจะมากกว่า 50% ก็ตาม
สำหรับยอดหนี้ 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 1.92 ล้านล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 9.80 แสนล้านบาท และหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ กว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้แยกเป็นหนี้ต่างประเทศ 5.43 แสนล้านบาท หรือ 16.95% ของยอดหนี้รวมทั้งหมด ขณะที่เป็นหนี้ในประเทศกว่า 2.66 ล้านล้านบาท หรือ 83.05 ล้านบาท และยังเป็นหนี้ระยะสั้น 18.12% ของยอดหนี้คงค้างหรือ 5.81 แสนล้านบาท และเป็นหนี้ระยะยาว 81.88% หรือกว่า 2.62 ล้านล้านบาท
ด้านนายเฉลิมชัย มหากิจศิริ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ ประชุม ครม. เห็นชอบการกู้เงินเพื่อใช้ในกิจการของสำนักงานธนานุเคราะห์ 950 ล้านบาท โดย กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกันตามที่กระทรวง การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ เพื่อให้ประชาชนใช้บริการจำนำสินค้าได้ทั่วถึง แบ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียน 450 ล้านบาท และการต่ออายุสัญญากู้เงินเกินบัญชีจากธนาคารออมสิน 500 ล้านบาท ออกไปอีก 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 49-30 ก.ย. 51
ทั้งนี้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ราย งานว่า หลังจากคณะกรรมการอำนวยการสำนักงานธนานุเคราะห์มีนโยบายปรับลดอัตราดอกเบี้ยรับจำนำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ส่งผลให้มีประชาชนมาให้บริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับราคาทองคำที่สูงขึ้น จึงทำให้เงินที่กู้มาเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนรับจำนำไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แนวโน้มการใช้บริการจำนำกับสำนักงานธนานุเคราะห์มีเพิ่มขึ้น โดยปี 45 มีจำนวน 643,346 ราย, ไม่มาไถ่ถอนหรือหลุดจำนำ 33,400 ราย, ปี 46 จำนวน 722,382 ราย ไม่มาไถ่ถอน 669,191 ราย, ปี 47 จำนวน 17,347 ราย ไม่มาไถ่ถอน 32,781 ราย แต่หากคิดเป็นมูลค่าของสินค้าจำนำพบว่าในปี 45 จำนวน 4,626 ล้านบาท หลุดจำนำ 163 ล้านบาท, ปี 46 จำนวน 6,466 ล้านบาท หลุดจำนำ 160 ล้านบาท และ ปี 47 จำนวน 6,801 ล้านบาท หลุดจำนำ 187 ล้านบาท
ปัจจุบันสำนักงานธนานุเคราะห์คิด ดอกเบี้ยเงินกู้โดยเงินต้นไม่เกิน 3,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน เงินต้น 3,001- 10,000 บาท คิดดอกเบี้ย 1% ต่อเดือน เงินต้นเกินกว่า 10,000 บาท ดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน และตั้งแต่ 1 ก.ค. 49 เป็นต้นไป ผู้ที่กู้เงินต้นไม่เกิน 3,000 บาท คิดดอกเบี้ย 0.75 บาท ต่อเดือน ส่วนเงินต้นเกิน 3,000 บาท จะมีอัตราดังนี้ เช่น เงินต้น 2,000 บาทแรก ดอกเบี้ย 2% ต่อเดือน และส่วนที่เกิน 2,000 บาท ดอกเบี้ย 1.25% ต่อเดือน.ฃ