กรุงเทพธุรกิจ
28 มิถุนายน 2549 19:14 น.
"ประมวล"ออกหนังสือเล่มใหม่"อำนาจของปวงชน "แฉกระบวนการจัดการและบริหารของพรรคไทยรักไทยหมดเปลือก โยงการใช้อำนาจในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาด้วย
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประมวล รุจนเสรี อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย และ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคประชาราช ได้เขียนหนังสือเล่มใหม่ ที่มีชื่อว่า อำนาจของปวงชน
โดยคำนำตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ นายประมวล เขียนไว้ว่า วันนี้ บ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ที่รุนแรงที่สุดขึ้น จนทำให้ประเทศชาติ พบความล่มจมวิบัติ และ ยากยิ่งต่อการกอบกู้ ให้คืนสู่ความเป็นปกติสุขความปรองดอง ความสมานฉันท์ และ ความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ของคนไทยทุกหมู่เหล่า เพื่อนำพาชาติบ้านเมือง สู่ความวัฒนาสถาพรต่อ ๆ ไป
เขาเป็นทุกข์ใจเหมือนคนไทยทุก ๆ คน ทุกข์ใจของเขามีมากกว่าคนอื่น ๆ เพราะดันเป็นคนหนึ่งในการสร้างระบอบทักษิณขึ้นมา
"ผมต้องขอล้างทุกข์ของแผ่นดินครั้งนี้ ให้กับคนไทยทุก ๆ คน และล้างทุกข์ของแผ่นดิน ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หลังจากได้เขียนหนังสือการใช้อำนาจเป็นธรรมชาติของมนุษย์ และพระราชอำนาจ สองเล่มสำคัญ ที่ให้ข้อมูลความจริงที่สำคัญแก่ประชาชนไปแล้ว งานเขียนอำนาจของปวงชนเล่มนี้ จึงเป็นงานเขียนสำคัญอีกเล่มหนึ่ง ที่ผมตั้งใจจะเขียนไว้ เป็นเรื่องของการเมืองในชุดอำนาจ เพื่อเป็นขบวนการปลดทุกข์ให้แผ่นดิน เสริมแต่งความแข็งแกร่งทางการเมืองให้ประเทศชาติและประชาชน"
นายประมวล ระบุว่า วางเจตนารมณ์การเขียน ในฐานะเป็นผู้รู้ไส้ ในเรื่องราวต่าง ๆ มากคนหนึ่ง เพื่อปลุกเร้าให้คนไทยทั้งปวง ลุกขึ้นมาเรียนรู้กิจกรรมทางการเมือง ในระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยควรจะเรียนรู้เข้าใจและ มีส่วนร่วม รัฐ พรรคการเมือง สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาภาคเอกชน ควรจะได้เข้ามาเสริมแต่งการใช้อำนาจของปวงชน ให้เป็นไปตามครรลองของความถูกต้องดีงามอย่างไร
การเมืองข้างถนน ที่ใครบางคนชอบตำหนิติเตียนนั้น ที่แท้จริงคือการเมืองแบบมีส่วนร่วมโดยตรงของประชาชน ซึ่งมีความสำคัญ ไม่น้อยกว่าการเมืองระบบผู้แทนที่ทุกสี่ปี-หกปีมีการเลือกตั้งครั้งหนึ่ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อเขียนของนายประมวล ที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันคือ เรื่องการใช้อำนาจจากการเลือกตั้ง และเรื่องอำนาจผ่านพรรคการเมือง
โดยเรื่องอำนาจจากการเลือกตั้ง มีเนื้อหาที่น่าสนใจโดยสรุปว่า การเลือกตั้งระดับชาติมีสองแบบ คือส.ส.และส.ว.โดยทั้งสองสภาประกอบกันเข้าเป็นรัฐสภา หรือฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจตั้งต้นของการบริหารการปกครองประเทศชาติ ในกระบวนการประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข การตัดสินใจออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน
จึงเป็นจุดชี้เป็นชี้ตายของชาติบ้านเมือง และเป็นจุดแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือการบริหารปกครองที่ล้มเหลว เต็มไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่น
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับ ที่ถือกันว่า เป็นฉบับปฏิรูปการเมืองการปกครองไทย ได้สร้างปรากฏการณ์ที่เป็นอันตราย ต่อการเมืองคุณธรรม เข้าสู่การเมืองกอบโกยที่ชัดเจน ทำให้ส.ส.อ่อนแอ แต่พรรคการเมืองเข้มแข็ง พรรคขนาดใหญ่ได้ประโยชน์ ทำให้รัฐบาลได้อาศัยเสียงข้างมากนี้ บริหารบ้านเมืองด้วยความไม่รอบคอบรัดกุม ไม่โปร่งใส ถูกกล่าวหาในทางทุจริตคิดมิชอบ และได้อ้างเสียงข้างมากที่ตนเองไม่ต้องถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ
เมื่อเกิดข้อกล่าวหารุนแรงมากขึ้น รัฐบาลมิได้ใช้สภาผู้แทนเป็นสถานที่ตรวจสอบซักฟอกความบริสุทธิ์ กลับยุบสภาเพื่อเลือกตั้งทั่วไปโดยใช้การเลือกตั้ง เป็นเครื่องตรวจสอบยืนยันการบริหารประเทศของตนเอง ให้ประชาชนตัดสิน
การเลือกตั้ง2เมย.2549 เป็นเครื่องซักฟอกยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเอง พรรคฝ่ายค้านก็ไม่ส่งผู้สมัครแข่งขัน พรรคไทยรักไทยต้องแข่งขันกับตัวเอง ให้ได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ20 ของผู้มีสิทธิออกสียงทั่วประเทศในแต่ละเขต ต้องหาพรรคเล็กพรรคน้อยเข้ามาแข่งขัน เพื่อหนีร้อยละ20
ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อคนหนึ่งของพรรคไทยรักไทย ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค เพื่อไปอุปสมบท ทำให้ผู้สมัครระบบนี้ มี 99 คน แต่พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งทั้ง100คน และส.ส.ระบบเขต ก็ได้ไม่ครบ 400 เขตต้องเปิดเลือกตั้งใหม่อย่างขัดกฎหมาย และมีทีท่าว่า จะได้ส.ส.ไม่ครบ 400 คน
ปรากฎการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนคือประชาชน10กว่าล้านคน ได้ตัดสินใจไม่เลือกใคร และกว่า2ล้านคนจงใจทำบัตรเสียเพื่อประท้วงการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้ง16ล้านเสียง คะแนนลดลง3ล้านกว่าเสียง พรรคไทยรักไทยได้รับเลือกตั้งเกือบเต็มสภา มีส.ส.ฝ่ายค้านไม่กี่คน ทำให้ประเทศประสบวิกฤตปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองรูปแบบใหม่ขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง
ซึ่งไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า วิกฤตครั้งนี้จะรุนแรง และเกิดความเสียหายเพียงใดกับบ้านเมือง และวันที่8พค.2549 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก ให้การเลือกตั้งครั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ และมีการเลือกตั้งใหม่ขึ้นมา
ส่วนการเลือกตั้งส.ว.นั้น มีการกำหนดว่า ผู้สมัครส.ว.ต้องไม่สังกัดพรรคการเมือง และห้ามหาเสียงแต่ให้แนะนำตัวเองแทน การกำหนดให้ส.ว.เป็นตำแหน่งทางการเมือง ที่ต้องตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล แต่งตั้งถอดถอนองค์กรอิสระและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง
ซึ่งเป็นการใช้อำนาจแทนปวงชนชาวไทยโดยตรงและอย่างสำคัญที่สุด กลับให้แนะนำตัวด้วยเอกสารนั้น ไม่เพียงพอให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ในที่สุดก็เลือกส.ว.ตามความคุ้นเคย เครือญาติและคำแนะนำของพรรคการเมืองทำให้เกิดรัฐสภาผัวเมียและเครือญาติขึ้น
การเลือกตั้งส.ว.วันที่19เมย.2549ที่ผ่านมาได้ส.ว.ที่มีญาติพี่น้องของส.ส.เครือข่ายของนักการเมืองถึงร้อยละ70 น่ากลัวและน่าผิดหวังที่สุดคือส.ว.ที่จะเป็นเครือข่ายของรัฐบาล เช่นส.ว.ชุดที่แล้ว ที่เข้ามาทำหน้าที่เลือกสรรบุคลากร เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบควบคุมรัฐบาล ไม่ได้ผลแม้แต่นิดเดียว เป็นการสร้างความล้มเหลวให้ระบบส.ว. และองค์กรอิสระอย่างร้ายแรง
ส่วนวิธีการหาเสียงนั้น ใช้ระบบอุปถัมภ์ค้ำชูในพื้นที่และระบบหัวคะแนน วันนี้ พรรคการเมืองที่เกิดจากนักธุรกิจการเมือง ได้รับการยกระดับจากระบบบุคคล มาเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ของพรรคการเมือง ที่มีต่อข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานรัฐต่าง ๆ กลุ่มประชาชน หมู่บ้านชุมชนจนกลายเป็นใยแมงมุมครอบคลุมประเทศไทยไว้ทั้งประเทศ
การนำระบบอุปถัมภ์มาใช้ให้เกิดผลสูงสุดในการเลือกตั้ง การเข้าสู่อำนาจการเมืองการปกครองระดับชาติให้เกิดสัมฤทธิผลสูงสุดคือการใช้อำนาจนิยม อำนาจรวมศูนย์เข้ามาดำเนินการสนับสนุน
เราจึงได้พบว่า รัฐบาลของนักธุรกิจทุนนิยมได้พยายามปฏิรูประบบราชการให้เป็นระบบบูรณาการ หรือซีอีโอ ทั้งในระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับทูตานุทูต มีการแต่งตั้งโยกย้ายบุคลากรให้พรรคพวกเข้าคุมอำนาจองค์กรสำคัญ ทั้งบุคคล งบประมาณ การสั่งบัญชาการไว้
เมื่อมีปัญหาขัดแย้งกับองค์กรใด รัฐบาลก็สามารถสั่งผู้ว่าฯ นายอำเภอ กำนันผู้ใหญ่บ้านเคลื่อนไหวได้ รวมทั้งการเสนอนโยบายประชานิยม และผสมผสานการใช้อำนาจรัฐ เจ้าหน้าที่ของราชการทุกระดับ
เช่น มีข้อหาว่าการเลือกตั้งไม่สุจริตนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้กลไกเครือข่ายองระบบอุปถัมภ์มีประสิทธิภาพยิ่ง การเลือกตั้งส.ส.ส.ว. จึงประสบชัยได้โดยง่าย และส่งผลไปถึงการบริหารจัดการปกครอง พัฒนาบ้านเมืองไปตามทิศทางทุนนิยมโดยสะดวก ซึ่งจะนำไปสู่การเมืองในระบบพรรคเดียว ตามความตั้งใจของหัวหน้าพรรค
ส่วนผู้จัดการเลือกตั้ง คือ กกต.ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้น การควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรม มีความจำเป็นเสมอทัดเทียมกัน แต่กกต.ไปให้ความสำคัญเฉพาะการจัดให้มีการเลือกตั้งมากกว่าซึ่งพิจารณาได้จากการจัดองค์กรภายในของกกต. และการประชาสัมพันธ์ ที่พบว่า ไม่มีข่าวสารทางด้านการควบคุมการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมเลย การเลือกตั้งวันที่2เมย.2549 ได้พบพฤติการณ์การปฏิบัติงานของกกต.ดังนี้
1.ละเว้นไม่ถอนชื่อนายแพทย์เปรมศักดิ์ เพียยุระออกจากผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคไทยรักไทย เพราะได้ลาออกจากสมาชิกพรรคและเป็นพระสงฆ์ เท่ากับขาดคุณสมบัติกกต.ต้องถอนรายชื่อก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อไม่ให้ประชาชน เข้าใจผิด การไม่เพิกถอนนั้นทำให้พรรคไทยรักไทยได้เปรียบ
2.การละเว้นไม่สอบสวนและไม่เพิกถอนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ออกจากบัญชีผู้สมัครพรรคไทยรักไทย ทั้งๆที่มีหลักฐานและข้อร้องเรียนว่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
3.กำหนดสถานที่ลงคะแนนให้การเลือกตั้งไม่เป็นความลับ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
4.ละเว้นการตรวจสอบควบคุมบัตรเลือกตั้ง
5.ไม่เร่งสอบสวนดำเนินคดีกับการปลอมแปลงบัญชีรายชื่อผู้สมัครพรรคเล็กพรรคน้อย ทั้งนี้เกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทย
6.ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยให้ผู้สมัครย้ายเขตได้ทั้งๆที่พระราชกฤษฎีกาฉบับเดียวต้องรับสมัครครั้งเดียวและสมัครแล้วเพิกถอนไม่ได้
กกต.ยังมีพฤติกรรมเอนเอียง เข้าข้างรัฐบาลช่วยเหลือพรรคไทยรักไทย เช่นการจัดเลือกตั้งภายใน37วัน โดยเป็นการเอาเปรียบพรรคอื่น ที่มิได้เตรียมตัวมาก่อน การเปิดรับสมัครใหม่ในเขตที่มีประชาชนไปใช้สิทธิ ไม่ถึงร้อยละ20
การให้ใบเหลือง ใบแดง ก็เป็นสิ่งที่สาธุชนทั่วไป เคลือบแคลงว่า กกต.ได้สั่งการต่างๆภายใต้การกำกับของรัฐบาลและพยายามให้มีการเลือกตั้งเพื่อให้มีส.ส.500คนภายใน30วันด้วยการเปิดสมัครใหม่ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เข้าข่ายคนเดียวสมัครได้หลายเขต สมัครได้ทั้งสองระบบ
ส่วนเรื่องการใช้อำนาจผ่านพรรคการเมือง นายประมวลเขียนไว้ มีใจความที่น่าสนใจว่า พรรคไทยรักไทยคือพรรคตัวอย่าง ที่ประสบความสำเร็จในด้านการนำเสนอนโยบาย จนทำให้การเลือกตั้งเมื่อปี2544ได้ ส.ส.เกือบครึ่งหนึ่งและปี2548 ก็ได้ส.ส.377คน
โดยเมื่อปี2543 พรรคไทยรักไทยมีวาระแห่งชาติ 11 ข้อที่เป็นนโยบายรูปธรรมแตกต่างจากพรรคอื่นๆเป็นนโยบายประชานิยมที่พอใจของคนไทยทุกกลุ่มโดยใช้กลยุทธ์การตลาด และปี2548 พรรคใช้นโยบายโคล้านตัว เมกะโปรเจค จนได้รับชัยชนะถล่มทลาย
พรรคไทยรักไทยใช้การตลาดเสนอภาพลักษณ์ว่าเป็นพรรคคิดใหม่ทำใหม่ เป็นทางเลือกใหม่ มีนักวิชาการมาทำงานการเมืองมากมาย นำเสนอภาพของ หัวหน้าพรรคว่า เป็นคนเหนือที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจ รักครอบครัว มีฐานะพร้อมคืนกำไรให้สังคม มีวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจและมีศักยภาพพร้อมเป็นนายกฯเด่นเหนือกว่าหัวหน้าพรรคอื่นๆที่มีอยู่
การชูภาพลักษณ์เชิงบวกแบบนี้ไม่มีพรรคอื่นๆที่ทำการตลาดมุมกลับหรือเป็นด้านลบกับพรรคไทยรักไทย
ซึ่งภาพลักษณ์เหล่านั้นเป็นความจริงอีกมุมหนึ่งคือ พรรคไทยรักไทยเกิดจากสภาวะที่ตกต่ำของพรรคประชาธิปัตย์ มิใช่เกิดจากความสามารถที่แท้จริงของตนเอง เป็นพรรคที่เกิดจากธุรกิจสัมปทานผูกขาด
หัวหน้าพรรคมีทุนมหาศาล เป็นพรรคที่รวมนักการเมืองรุ่นเก่ามากมาย และดึงส.ส.เก่าเข้าพรรคได้จำนวนมาก ไม่ให้โอกาสนักการเมืองรุ่นใหม่เพียงเพื่อจะได้เป็นรัฐบาล
ส่วนตัวพ.ต.ท.ทักษิณ ก็มีลักษณะทางลบ เกี่ยวกับการให้คุณค่าของเงิน มากกว่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การเข้าสู่ถนนการเมืองของพ.ต.ท.ทักษิณในครั้งแรก ก็ใช้เงินไม่น้อย ในการฝ่าฟันธุรกิจทางการเมือง จนถูกมองว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน การทำงาน
การเมืองก็โลเลไม่แน่นอน ชักเข้า ชักออก เป็นที่คลางแคลงว่า เข้ามาเล่นการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเองหรือไม่ การเลือกผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคคนเดียวเพราะสนับสนุนเงินคนเดียวหรือไม่
ก่อนการเลือกตั้งปี2544 พ.ต.ท.ทักษิณก็มีข่าวอื้อฉาวว่า ตัวเองและภรรยาโอนหุ้น900ล้านบาทให้บ.วินมาร์ค และโอนหุ้นให้คนใช้ คนขับรถ จนสังคมมองว่าขาดความโปร่งใสและขัดผลประโยชน์ของตันเองและประเทศ และประการสำคัญมีคำพูดว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ไม่รับฟังความคิดเห็นของใคร ขาดความอดทนในการรับฟังความเห็นของคนอื่นๆ
การตลาดกับการบริหารพรรคการเมืองที่พ.ต.ท.ทักษิณเป็นแนวคิดของผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจสัมปทานผูกขาดที่นำวิธีนี้มาใช้กับพรรคการเมืองเป็นครั้งแรกและพรรคอื่นๆยังปรับตัวเองไม่ทัน
ตัวอย่างที่เห็นชัดคือการขึ้นทะเบียนคนจนก่อนการเลือกตั้งปี2548จนสังคมชื่นชมพ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อมีโอกาสก็ได้สอบถาม พ.ต.ท.ทักษิณว่ามีเหตุผลใดจึงประกาศขึ้นทะเบียนคนจน
ได้คำตอบว่า คนจน16-18ล้านคนมาจดทะเบียนกับรัฐบาลคนเหล่านั้นก็มีความหวังในการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ที่ดิน อาชีพและอื่นๆ พรรคประชาธิปัตย์ก็ต้องพ่ายแพ้การเลือกตั้งไปแล้ว
และยังถามต่อไปว่า รัฐบาลจะแก้ไขความยากจนอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณตอบว่า ยังไม่รู้เลยพี่ ค่อยๆหาทางแก้ไขทีละเรื่อง ทีละเปลาะ ส่วนการสาธิตการแก้ไขความยากจนที่อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งนายกรัฐมนตรีลงไปคลุกคลีในพื้นที่
สอบถามข้อมูลจากประชาชนโดยตรงเพื่อนำมาแก้ปัญหาต่อไปนั้น จ.ร้อยเอ็ดเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ3ล้านบาท แต่การแก้ปัญหาอื่นๆที่เป็นรูปธรรมต่อจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ยังไม่มีแม้กรณีเดียว
คนทั่วไปมองว่าการลงพื้นที่ครั้งนี้ไม่ใช่ไปแก้ไขความยากจนแต่เป็นการแก้เคล็ดไสยศาสตร์ของนายกฯเองและเมื่อเร็วๆนี้นายอำเภออาจสามารถได้รายงานให้รมว.มหาดไทย ทราบว่าส่วนราชการต่างๆที่รับปากกับนายกฯไว้ในการเข้าไปพัฒนาไม่ปฏิบัติตามคำพูด
แนวทางการทำพรรคหรือการบริหารประเทศด้วยการตลาดแบบนี้มักเกิดตอนหาเสียงและเมื่อเผชิญวิกฤตการณ์ทางการเมืองขึ้น เช่นการซื้อทีมฟุตบอลลิเวอร์พูลเพื่อมากลบการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีหรือการเสนอมาตรการใหม่ๆเข้ามาแทนที่มาตรการเก่าๆที่มีปัญหาและแก้ไขไม่ได้ไปเรื่อยๆทำให้องว่าหัวหน้าพรรคคนนี้มีความคิดริเริ่มทำโน้นทำนี่แต่ไม่เคยทำสำเร็จ
การตั้งพรรคการเมืองนั้น ต้องมีการดำเนินกิจกรรมซึ่งมีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น สิ่งที่มองเห็นได้ชัดคือ ค่าสมัครส.ส.500 คน คนละ1หมื่นบาท เท่ากับ5ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงส.ส.เขตตามที่กฎหมายกำหนดคนละ1.5ล้านบาท บัญชีรายชื่อ พรรคละ150ล้านบาท
การจัดสถานที่ประชุมและการบริหารงานปีละ20ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการทำสมาชิกสัมพันธ์ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกแลกิจกรรม ค่าดูแลสวัสดิการส.ส.ที่บางพรรคก็จัดให้ บางพรรคก็ไม่จัด
เท่าที่ทราบพรรคใหญ่บางพรรคจัดให้เดือนละ5หมื่นบาทต่อคน ปีละ200-250ล้านบาท พรรคใหญ่ๆบางพรรคอาจใช้3-5000ล้านบาทเพื่อเป็นเครื่องมือตามระบบอุปถัมภ์ให้ชนะเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาล
ด้วยเหตุนี้ทุกพรรคต้องหาเงินหรือผู้อุปภัมภ์ซึ่งเป็นภารกิจของหัวหน้าพรรคนั้นๆตามบารมีและอำนาจ พรรคที่เป็นรัฐบาลจะได้รับเงินบริจาคมากกว่าพรรคฝ่ายค้าน
จึงมีคำกล่าวว่าพรรคใดไม่ได้เป็นรัฐบาลจะอดอยากปากแห้ง นักธุรกิจของไทยส่วนใหญ่ที่มีธุรกิจกว้างขวาง มีกิจการที่ต้องพึ่งพาอำนาจรัฐก็มักตอบแทนนักการเมืองพรรคต่างๆทุกพรรคเผื่อว่าใครมาเป็นรัฐบาลจะได้พึ่งพา
และอีกทางหนึ่งคือนักกาเมืองที่มีอำนาจรัฐอาศัยช่องทางให้บริการนักธุรกิจเมื่อได้กำไรก็เจือจานให้นำกำไรมาทำกิจกรรมทางการเมืองบ้างซึ่งไม่เป็นการเรียกร้องบีบบังคับ
แต่นักการเมืองที่มีอำนาจบางคนจะเหิมเกริมเรียกค่าตอบแทนในการที่นักธุรกิจต้องเซ็นสัญญากับรัฐ รัฐวิสาหกิจทุกโครงการในอัตราต่างๆ ตั้งแต่ 5%, 5+2%, 10% , 10+ 2% ,15% , 20% และ 30%
นักการเมืองที่กล้าหาญชาญชัยเช่นนี้ กล้าเรียกค่าตอบแทนได้ เพราะพรรคของตนมีคะแนนกว่า 300 เสียงขึ้นไป รัฐสภาตรวจสอบไม่ได้ องค์กรอิสระอยู่ภายใต้การแทรกแซงของตนและพวกพ้อง ปัจจุบันนักธุรกิจใหญ่ๆ หันมาร่วมตั้งพรรคขึ้นเองประมาณ 200-300 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น
ซึ่งเป็นเงินนอกระบบ เพื่อป้องกันการฟ้องร้องทางกฎหมาย ว่าใช้เงินหาเสียงเกินกฎหมายกำหนด พรรคการเมืองตกอยู่ภายใต้การครอบงำของนักธุรกิจ เป็นอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองและการปกครองที่เป็นไปเพื่อรักษากลุ่มทุนเพียงกลุ่มเดียว
บางพรรคที่ทุนใหญ่สนับสนุนตั้งเป้าว่าจะเป็นพรรคการเมืองพรรคเดียว ครองอำนาจรัฐเช่นเดียวกับสิงคโปร์
ส่วนการบริหารจัดการพรรคนั้นนักธุรกิจที่ให้การสนับสนุน จะรับผิดชอบเหมาจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งปวงของพรรคนั้นๆ อำนาจการบริหารจัดการพรรคจึงอยู่ในมือของหัวหน้าพรรคและคนใกล้ชิดที่ไว้วางใจเพียงกลุ่มเดียว การประชุมพรรคก็ไม่ค่อยประชุม ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของหัวหน้าพรรคเพียงคนเดียว
หากสิ่งใดต้องใช้มติ กรรรมการบริหารพรรคก็ใช้วิธีขอมติเวียน สมาชิกทั้งปวงต้องอยู่ภายใต้อาณัติของหัวหน้าพรรค
อาวุธสำคัญที่นักธุรกิจการเมืองใช้เป็นเครื่องมือ คือ เงินและ อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พรรคประเภทนี้จะดูแลความเป็นอยู่ มีค่าใช้จ่ายแบบพิเศษให้ส.ส.แบบรายเดือนและเป็นกรณีครั้งคราว คนใดเชื่อฟังอยู่ในโอวาท ก็ได้รับการดูแลเพิ่มเติมเป็นพิเศษ
การดูแลส.ส.แบบนี้จะมีหัวหน้ากลุ่มมาช่วยแบ่งเบาภาระ หากหัวหน้ากลุ่มคนใดไม่อยู่ในโอวาท หรือไม่ให้เกียรติหัวหน้าพรรค ก็จะเกิดการดึงส.ส.ในกลุ่มไปสังกัดกลุ่มอื่นที่หัวหน้าพรรคดูแลได้
การตั้งรัฐมนตรีก็เป็นไปตามโควต้า กลุ่มในพรรคและการแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดหรือเคยทำงานให้ธุรกิจของหัวหน้าพรรค ก็ได้รับการแบ่งโควต้า รัฐมนตรีทุกคนเมื่อได้รับบริหารราชการกระทรวงใดแล้ว ไม่ต้องริเริ่มกิการใดๆ หัวหน้ารัฐบาลกล่าวไว้เสมอว่า ให้ปฏิบัติการตามที่พรรคสั่งการก็พอแล้ว
การบริหารจัดการพรรคของนักธุรกิจการเมืองกลายเป็นการบริหารมีเป้าหมายทางการเมือง ที่จะเข้าสู่อำนาจรัฐผสมกับการตลาดและประชาสัมพันธ์แบบมืออาชีพด้วยการทุ่มทุนแบบมหาศาลเพื่อสื่อสารตรงกับประชาชน เมื่อครอบงำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนแล้ว ก็พยายามสยายปีกครอบงำวุฒิสภา