เมื่อสหภาพฯ รู้ว่ามีพนักงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของสหภาพฯ ว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้องแทนที่จะยุติหรือหยุดการกระทำ กับเหิมเกริมถึงขนาดประกาศให้รู้ทั่วไปว่า ใครที่จะคิดเป็นปฏิปักษ์กับสหภาพฯ ชาตินี้ไม่มีทางได้สอบเลื่อนตำแหน่งได้
นับตั้งแต่ นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือน สิงหาคม 2551 ว่ากันว่ามีการโยกย้าย คนที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทย ออกไป แล้วเอาคนที่สหภาพฯสั่งได้ให้เข้ามาอยู่ในตำแหน่งหลักๆของรถไฟ
เช่น ผู้อำนวยการฝ่ายการเดินรถ ( อดร. ) วิศวกรใหญ่ฝ่ายการช่างกล ( วญก. ) ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงานบุคคล ( อบค. ) แถมพ่วงตำแหน่ง รองผู้ว่าการฯ ให้อีกด้วย และยังมีอีกหลายตำแหน่งที่รองลงมา
สิ่งที่เกิดขึ้น ถูกคนในการรถไฟฯ มองว่า เป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างผู้บริหารบางคน กับ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตประธานสหภาพฯ
ปัจจุบันคือหนึ่งในแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเคยมีอิทธิพลอย่างสูงในการรถไฟฯ
พนักงานการรถไฟฯ ผู้หนึ่ง กล่าวว่า “นายสมศักดิ์ โกศัยสุข เคยเป็นเลขาธิการ สรส. ( สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ) ซึ่งมีสมาชิก เป็นรัฐวิสาหกิจ 43 แห่ง การมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่มนักเคลื่อนไหวประชาธิปไตย อีกทั้งเป็นคนใต้ จึงมีสมัครพรรคพวกมาก”
ประเด็นสำคัญนายสมศักดิ์ โกศัยสุขได้ใช้พลังสมาชิกสหภาพฯรถไฟประมาณ 6,000 คน เป็นเครื่องมือต่อรองในเวที สรส. เพื่อสร้างฐานอำนาจ และ เพื่อใช้เป็นฐานเสียงในการเข้าสู่การเมือง
บทบาทที่โดดเด่นของนายสมศักดิ์ ก็คือ เรือธงนำในการต่อสู้ของสหภาพ เนื่องเพราะสามารถระดมคนเข้าร่วมชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนใครๆ ก็กลัวสหภาพการรถไฟฯ
“ตำแหน่งของนายสมศักดิ์ จริงๆ คือตำแหน่งพนักงานขับรถ ซึ่ง 4 – 5 ปีก่อนที่นายสมศักดิ์ฯ จะปลดเกษียณ คนรถไฟฯ หลายคน ยืนยันตรงกันว่า นายสมศักดิ์ ไม่ค่อยได้ทำงานให้การรถไฟฯ เน้นการเคลื่อนไหว แต่ยังคงรับเงินเดือนเต็มตามอัตรา” คนในการรถไฟฯกล่าว
ปี 2548 นายสมศักดิ์ฯ ปลดเกษียณ สหภาพฯได้ประธานคนใหม่ คือนายเรียงศักดิ์ แข่งขัน ตำแหน่งพนักงานขับรถ ซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งที่นายสมศักดิ์ วางตัวไว้แต่แรก แต่กว่า นายเรียงศักดิ์ จะได้ชัยชนะ ต้องออกแรง(Power play) กันทั้งบนดินและใต้ดิน
ตั้งแต่ ห้ามผู้สมัครอื่นเดินสายชี้แจงนโยบายแนวทางการทำงาน ห้ามแนะนำตัว หรือพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่คุมเลือกตั้งที่ไม่ค่อยเป็นกลางเท่าใดนัก และที่สำคัญ ปริศนาเกี่ยวกับหีบเลือกตั้งและกุญแจ เปิดหีบที่ยังค้างคาใจมาจนถึงทุกวันนี้
แต่อีกไม่นานจะครบวาระ 3 ปี ของกรรมการสหภาพฯในชุดปัจจุบัน กระแสเรียกร้องให้ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้ามาตรวจสอบหรือดูแลการเลือกตั้งให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมจึงดังกระหึ่มไปทั่วการรถไฟฯ
ในวาระดำรงตำแหน่งประธานสหภาพของ นายเรียงศักดิ์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น และเป็นที่รับรู้กันในการรถไฟฯ คือ บทบาทของสหภาพฯ ในการเข้าไปต่อรองกับผู้บริหารรถไฟ โดยมีนายสมศักดิ์ เป็นผู้หนุนหลัง
สหภาพฯ ในยุคนี้เข้าไปขอมีส่วนร่วมในโครงการจัดซื้อ จัดจ้างต่างฯ ขอเข้าเป็นกรรมการในคณะทำงานต่างๆ และกรรมการอื่นๆอีกมากมาย จนถูกตั้งข้อสงสัยว่า สหภาพฯ กำลังเข้าไปนั่งเป็นผู้บริหารเสียเอง และหากตกลงไม่ได้ สหภาพ จะใช้มาตรการ ยื่นข้อเรียกร้อง หยุดวิ่งรถไฟ ผู้บริหารรถไฟพวกที่กลัวก็จะเงียบเฉย แต่ยังพอมีผู้บริหารที่กล้าหาญ ก็ลุกขึ้นคัดค้านหลายครั้ง แต่ต้านได้ไม่นานก็ต้องยอม
เพราะช่วงนั้นนายสมศักดิ์ฯ เข้าร่วมเป็นหนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯ แล้ว (หลังจาก 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา)สหภาพฯโดยนายสมศักดิ์ฯ จึงมีอิทธิพลมาก ผู้บริหารรถไฟต้องยอมเกือบทุกอย่างเพราะในขณะนั้น พันธมิตร กับ กลุ่มทหาร คมช. มีความสัมพันธ์กันอย่างดี หากผู้บริหารรถไฟคนใดขวางทาง มีอันเป็นไปทุกราย ( ย้าย )
ตัวอย่างที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก เช่น การขอให้การรถไฟฯอนุมัติให้กรรมการของสหภาพจำนวน 6 คน ไม่ต้องมานั่งทำงานตามหน้าที่ของการรถไฟฯ แต่ให้ไปนั่งทำงานที่สหภาพฯแทน งานรถไฟไม่ต้องทำ แต่ได้รับเงินเดือนจากรถไฟเต็มเดือน
แหล่งข่าวในการรถไฟฯเปิดเผยว่า การเป็นสหภาพฯไม่มีความลำบากอะไร มีทั้งเบี้ยเลี้ยงประชุม เบี้ยเลี้ยงเดินทาง ไปไหนนั่งรถนอนปรับอากาศสบาย แต่คนที่ทำงานให้รถไฟจริงๆ จะสบายต้องเสียเงินค่าปรับอากาศเอง
“แต่ละปีจะได้เงินจากพนักงานที่เป็นสมาชิกสหภาพฯเป็นค่าบำรุงสหภาพทั้งหมดประมาณ 2 ล้านบาท บวกกับเงินอุดหนุนของสหกรณ์ฯสหภาพฯ อีกเกือบ 1 ล้านบาท รวมแล้วเกือบ3 ล้านบาท ใช้กันอย่างสบาย ในแต่ละปีแทบไม่มีเหลือ” แหล่งข่าว กล่าว
ก่อนหน้านี้ สหภาพฯ และผู้บริหารรถไฟ ในยุคผู้ว่าฯ จิตต์สันติ ธนะโสภณได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ พนักงานอย่างมากก็คือ การรถไฟฯ แก้ไขข้อบังคับและระเบียบการตามที่สหภาพฯกับผู้บริหารรถไฟได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าโดยไม่เคยสอบถามพนักงานหรือสมาชิกที่มีผลกระทบก่อนเลย
เรื่องสำคัญ เรื่องหนึ่ง ก็คือ การรถไฟฯ ได้ประกาศแต่งตั้งให้สหภาพเข้าร่วมในการเป็นกรรมการสอบคัดเลือกตำแหน่งสารวัตร ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับต้น ที่จะต้องอาศัยอายุงาน ความอาวุโส ประสบการณ์ในการทำงานเป็นสำคัญ
พนักงานการรถไฟฯ ผู้หนึ่งกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการทำลายจิตใจ ผู้ที่จะต้องสอบเป็นอย่างมากเพราะไม่เป็นไปตามประเพณีที่เคยสืบทอดปฏิบัติกันมาและมีข้อบังคับรองรับไว้ อีกทั้งต้องมานั่งทำข้อสอบกับคนที่ออกข้อสอบเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของตนพนักงานและสมาชิกเคยมีการร้องขอให้การรถไฟทบทวนและขอให้ยกเลิกการแก้ไขดังกล่าวก็ไม่เป็นผลสำเร็จ เพราะผู้บริหารรถไฟชุดปัจจุบัน เติบโตมาได้ก็เพราะสหภาพฯหนุนหลังให้ได้ตำแหน่งมา ผู้บังคับบัญชาระดับสูงก็พึ่งพาไม่ได้ แถมสนับสนุนสหภาพฯอีกต่างหาก
“ ความท้อแท้ ท้อใจ ความไม่ชอบใจ เริ่มเกิดขึ้นกับพนักงานมากขึ้นเรื่อยๆ”พนักงานการรถไฟฯผู้นี้กล่าว
ประเด็นสำคัญ ต่อมาคือ เมื่อสหภาพฯ รู้ว่ามีพนักงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของสหภาพฯว่าเ ป็นสิ่งไม่ถูกต้องแทนที่จะยุติหรือหยุดการกระทำ กับเหิมเกริมถึงขนาดประกาศให้รู้ทั่วไปว่า ใครที่จะคิดเป็นปฏิปักษ์กับสหภาพฯชาตินี้ไม่มีทางได้สอบเลื่อนตำแหน่งได้
ต่อมาในยุคปัจจุบันที่นายยุทธนา ทัพเจริญเป็นผู้ว่าการฯ ซึ่งนายยุทธนามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับสหภาพฯ ได้เกิดรอยร้าวขึ้นอีกครั้งในอาณาจักรการรถไฟฯ เมื่อครั้งนายสมศักดิ์ฯ ประกาศบนเวทีพันธมิตรให้พนักงานรถไฟลาป่วย คนละ 2 วันเพื่อให้รถไฟเดินไม่ได้ซึ่งการประกาศให้พนักงานลาป่วยเพื่อหยุดเดินรถนั้นไม่เกี่ยวกับข้อเรียกร้องอะไรกับการรถไฟเลย
พนักงานส่วนมากเขารู้ทันนายสมศักดิ์ฯว่า ต้องการแสดงพลังเท่านั้นเองเพราะการลาป่วยไม่ได้มากอย่างที่มีการเสนอข่าว
“พนักงานรถไฟจำนวนมากหรือเกือบเรียกว่าร้อยละ 90 พร้อมที่จะทำงานรับใช้ประชาชน มีเพียงกลุ่มคนไม่ถึง 200 คนซึ่งยอมรับใช้สหภาพฯในทางผิดๆ เช่นเข็นขนวนรถไฟมาปิดทางรถไฟ หรือประกาศขู่ว่าหากรถไฟวิ่งออกมาไม่รับรองความปลอดภัย” พนักงานการรถไฟฯ กล่าวยืนยัน
ครั้งนั้น นายยุทธนาชี้แจงว่า ขบวนรถไฟจะไม่ปลอดภัย ประกาศงดเดินหลายขบวน จากนั้นได้ออกเดินสายไปตามภูมิภาคต่างๆ โดยอ้างว่า ไปเจรจาให้เปิดเส้นทางรถไฟ และให้พนักงานกลับเข้าทำงาน
“ ถึงตอนนี้หากไม่ทำอะไร พนักงานที่ไม่ได้ลาป่วยก็จะมองว่า ผู้ว่าการฯไม่มีน้ำยาไม่กล้าตัดสินใจที่จะดำเนินการอย่างไรกับพนักงานส่วนน้อยที่ก่อความเดือดร้อนให้กับประชาชนและสร้างความเสียหายให้กับการรถไฟ” พนักงานการรถไฟฯ ผู้หนึ่งกล่าว
ครั้นจะให้สหภาพฯรีบเปิดเส้นทางและกลับเข้าทำงาน ก็อาจจะทำให้นายสมศักดิ์ไม่พอใจ เพราะนายสมศักดิ์ฯ กล่าวบนเวทีพันธมิตรฯว่า พันธมิตรฯจะชนะรัฐบาล และหากผู้ว่าการฯไม่ตอบสนอง โอกาสไม่ได้เป็นผู้ว่าการฯมีสูงจึงต้องปล่อยให้หยุดเดินรถไปสักพัก
แต่เมื่อการเมืองยังไม่นิ่ง พันธมิตรยังไม่ชนะ ประกอบกับรัฐวิสาหกิจอื่นก็ไม่เอาด้วย และอาจพลาดพลั้งถูกคณะรัฐมนตรีปลดเอาได้ จึงได้ต่อรองกับนายสมศักดิ์ฯ และนายเรียงศักดิ์ฯ ขอเปิดเดินรถบางสายก่อน เพราะเห็นประชาชนเดือดร้อนมาก รวมทั้งปฏิกิริยาของพนักงานที่เริ่มไม่พอใจสหภาพฯ รวมทั้งตัวนายยุทธนา ด้วย
ในขณะที่สหภาพฯ กลัวเสียหน้าจึงแกล้งให้พันธมิตรหาดใหญ่แกล้งประท้วงที่สถานีให้เปิดเดินรถโดยเร็ว พร้อมกับแถลงว่า สหภาพฯ กับการรถไฟฯ ตกลงข้อเรียกร้องกันได้แล้ว จึงยุติการลาป่วยและกลับเข้าทำงานตามเดิม แต่เบื้องลึกจริงๆ มิได้เป็นเช่นนั้น หากเป็นเพียงเหตุผลอำพรางเท่านั้น
“วันนี้ ผู้บริหาร คุกเข่าต่อหน้า สหภาพการรถไฟฯเรียบร้อยแล้ว ”
คือคำกล่าวของพนักงานการรถไฟฯที่ทนไม่ได้กับความไม่ถูกต้อง.
เกมร้อน ใน รฟท.ยุคพันธมิตรฯครองเมือง เมื่อผู้บริหาร ถูกสหภาพแรงงานฯ ชี้นำ
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง เกมร้อน ใน รฟท.ยุคพันธมิตรฯครองเมือง เมื่อผู้บริหาร ถูกสหภาพแรงงานฯ ชี้นำ