รัฐสภากับการปฏิรูปการเมือง

อุทัย พิมพ์ใจชน /สุจิต บุญบงการ


สภาวการณ์ปัจจุบันที่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในบ้านเมือง สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาทางวิชาการ "บทบาทรัฐสภากับการปฏิรูปการเมืองไทย" เพื่อวิเคราะห์บทบาทของรัฐสภาในการทำหน้าที่ภายใต้กรอบกฎหมายและอำนาจที่กำหนดไว้

รวมทั้งใช้ช่องทางรัฐสภาแก้วิกฤตทางการเมืองอย่างสมานฉันท์สันติสุข

งานดังกล่าวมีขึ้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ท่ามกลางผู้เข้าสัมมนาทั้งสมาชิกรัฐสภา ตัวแทนพรรคการเมือง อดีตนักการเมือง หน่วยงานภาครัฐ และนักวิชาการ ประมาณ 200 คน

อุทัย พิมพ์ใจชน  (อดีตประธานรัฐสภา
)

ประชาธิปไตยของไทยถือว่าพัฒนาไปมาก รัฐธรรมนูญตรงไหนบกพร่องก็แก้ตรงนั้น อย่างคราวที่แล้ว รัฐธรรมนูญ 40 ทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง ก็เจอตุ๊กตาที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นต้นแบบ

ต่อมาคนรู้ทันว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ทำความเสียหายไว้เยอะ สุดท้ายพ.ต.ท.ทักษิณ ก็พังเพราะความเข้มแข็งของระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ปฏิวัติ

คณะปฏิวัติแค่สวมรอยฉวยโอกาส เพราะความสุกงอมของระบอบประชา ธิปไตยที่ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณกำลังจะล้มอยู่แล้ว

วันนี้มีหลายฝ่ายพูดถึงการปฏิรูปการเมือง ผมฟังฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชา ธิปไตยพูดถึงการเมืองใหม่ทุกคืน แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นอย่างไรแน่ จึงต้องรอความชัดเจนก่อน
ปัญหาอีกอย่างที่ถูกมองข้ามคือ ที่มาของนักการเมือง ซึ่งมีคำพูดว่า "ผู้แทนฯ คือเงาสะท้อนของประชาชน" ดังนั้น อย่าโทษว่านักการเมืองไม่ดี ต้องโทษที่ประชาชนซึ่งเป็นคนทำคลอดออกมา

และผู้แทนฯ ไม่ใช่คนโง่ บางคนที่พูดคำท้าชกคำ หลังสุดจะไปเตะคนอื่น นี่คือเงาสะท้อนของประชาชนที่มีผู้แทนฯ อย่างนี้ เพราะพื้นที่นั้นมีแต่บ่อนไก่ นักเลงจำนวนมาก ถ้าใครไม่ทำตามก็โดนเตะโดนอัด

การจะปฏิรูปการเมืองต้องมองลงไปยังที่เกิดของผู้แทนฯ คือประชาชนผู้เลือกเข้ามา และท้องถิ่นหรืออบต.ต้องสร้างให้เกิดความเข้มแข็ง ให้ประชาชนเลือกผู้แทนฯ ของตัวเองได้ ไม่ใช่ให้นักการเมืองเป็นผู้เลือกให้

การปฏิรูปการเมืองโดยระบบรัฐสภาต้องพัฒนาไปที่ประชาชนได้แล้ว

ตอนที่พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาเล่นการเมือง ผมคิดว่าเขารวยแล้ว มีเงิน 4 หมื่นล้านบาท เอามาเล่นการเมือง 2 หมื่นล้านบาทก็คงไม่เดือดร้อน แต่ที่ไหนได้ อยู่ๆ ไปมีเพิ่มอีกไม่รู้เท่าไหร่

วันนี้ถ้าไม่ต้องการให้การเมืองเหลือเพียงสองพวก คือพวกเสี่ยกับพวกที่เข้ากันได้กับเสี่ย ต้องพัฒนาที่ประชาชน


วิชา มหาคุณ / มิเชล โอ. ไบรอัน


สุจิต บุญบงการ (ประธานสภาพัฒนาการเมือง)

รัฐสภาอังกฤษมีอำนาจสูงสุด สามารถออกกฎหมายอะไรก็ได้ แต่อยู่บนประเพณีกำกับคือ ออกกฎหมายที่ขัดความรู้สึกของประชาชนไม่ได้ หรือออกกฎหมายที่ผิดแปลกประหลาดไม่ได้

ดุลพินิจของผู้ออกกฎหมายจึงสำคัญ แต่ส.ส.อังกฤษมีวุฒิภาวะสูง มองประโยชน์สาธารณะเหนือประโยชน์ส่วนตัว

ขณะที่ประเทศไทย รัฐสภามีอำนาจขึ้นๆ ลงๆ การแก้ปัญหาวันนี้ส่วนหนึ่ง ต้องแก้ที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สร้างการ เมืองภาคพลเมืองเข้มแข็ง เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ใช้ดุลพินิจโดยไม่ยอมให้ถูกฝ่ายใดชักนำ หรือให้อามิสสินจ้าง ให้ผลประโยชน์เฉพาะหน้าเฉพาะตัว

ตรงนี้เป็นภารกิจ หลักของสภาพัฒนา การเมือง หากไม่เร่งแก้ไขจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ระบบอุปถัมภ์จะมีมากขึ้น

วิกฤตปัจจุบันทุกฝ่ายต้องมาช่วยคิด และผู้ที่ริเริ่มคือรัฐบาล เพราะมีอำนาจจัดการ จะให้หน่วยงานอื่นที่ไม่มีอำนาจทำไม่ได้ หากรัฐบาลมีอำนาจแต่ไม่สามารถทำอะไรได้ก็ควรพิจารณาตัวเอง

ส่วนตัวคิดว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นปัญหา แต่จะมีปัญหาเฉพาะผู้ที่มีผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องการแก้ไขเพื่อให้หลุดออกมาจากบทลงโทษ

ยิ่งสถานการณ์ขณะนี้ที่เกิดการเผชิญหน้า ควรยุติการแก้รัฐธรรมนูญก่อนเพราะหากยังดำเนินการเปรียบเสมือนราดน้ำมันลงไป

หากต้องการแก้รัฐธรรมนูญควรนำมาคุยในสาธารณะให้ตกผนึกเสียก่อนว่าจะแก้หรือไม่ และประเด็นอะไร

หรืออาจจะไม่จำเป็นต้องแก้เลย

วิชา มหาคุณ 
กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ประชาธิปไตยไม่ใช่จะได้มาด้วยเงิน แต่กลั่นจากคุณธรรมของแต่ละบุคคลในการมีจิตสำนึกต่อสาธารณะ ซึ่ง 24 มิถุนายน 2475 ประ เทศไทยเลือกระบอบประชาธิปไตยตามแบบอังกฤษ

แต่อังกฤษใช้รัฐธรรมนูญแบบไม่มีลายลักษณ์อักษร และประชา ธิปไตยอยู่ในหัวใจคน

ส่วนของไทย การร่างรัฐธรรมนูญโดยเอามาครอบคนไทยจึงเกิดปัญหา เพราะไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของผู้คน ดังนั้น การต่อสู้ที่ผ่านๆ มาจึงเป็นการต่อสู้ทางชนชั้นและการใช้อำนาจ

การสานเสวนาเพื่อหาทางออกความขัดแย้งทางการเมือง การสมานฉันท์ ถ้าเริ่มได้โดยส.ส.ไม่ไล่เตะกันในสภาหรือไม่มีเรื่องกัน เมื่อนั้นถึงไปสมานฉันท์กับคนอื่นได้

นักการเมืองมีปัญหาที่ไม่รู้จักบทบาทหน้าที่ตัวเอง รัฐสภาอ่อนแอมากเรื่องการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาเป็นคนพรรคเดียวกับรัฐมนตรี แล้วจะไปตรวจสอบได้อย่างไร แถมจองกฐินกันข้ามชาติเพื่อไต่เต้าเป็นรัฐมนตรี

หรือการที่สภาออกกฎหมายไม่ได้เพราะมัวไปยุ่งการเมือง หรือเอาการเมืองมาพัวพัน จนปิดตาออกกฎหมายที่ไม่เป็นประโยชน์ เช่น กฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ แต่สภาทำเละ ลงคะแนนก็ยังไม่ครบองค์ประชุม

คนซวยสุดคือประชาชน ทั้งที่ควรจะได้กฎหมายที่ดีที่สุด เพราะประชาชนเข้าชื่อเสนอกันเอง

นักการเมืองไทยมีจิตสำนึกสาธารณะไม่เพียงพอ สภาเป็นได้ทั้งพระเจ้าและซาตาน เหมือนเงินเป็นสิ่งชั่วร้ายที่จำเป็น

หากใช้โดยไม่อยู่บนหลักความพอเพียง ชีวิตก็พัง

มิเชล โอ. ไบรอัน (ผู้แทนโครงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านรัฐสภาสถาบันแห่งธนาคารโลก)

รัฐธรรมนูญและระบบการเลือกตั้งเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ ซึ่งประเทศไทยมีความขัดแย้งทางมุมมองในส่วนนี้อยู่

ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญไทยหยุมหยิมมากไป จึงต้องมาดูว่าประเทศไทยควรมีรัฐธรรม นูญอย่างไรที่เหมาะสม

ทั้งนี้ ในระบอบประชาธิปไตย ความขัดแย้งเกิดขึ้นเป็นปกติ และการถกเถียงนำไปสู่การพัฒนาไปในทางที่ดีงาม แต่ปัญหาจุดหนึ่งของเมืองไทย คือสังคมไทยไม่มีการเรียนรู้การสร้างความขัดแย้งให้เป็นประโยชน์

ความขัดแย้งในสังคมไทยเกิดขึ้นและมองเห็นได้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา และพัฒนาไปถึงขั้นวิกฤต ถึงขั้นใช้กำลังเข้าปะทะกัน เป็นภาวะสงคราม

อย่างไรก็ดี ระบบรัฐสภาและบุคลากรในรัฐสภา สามารถสร้างสันติภาพและป้องกันความขัดแย้งภายในประเทศได้ ซึ่งการสานเสวนาก็ช่วยได้เช่นกัน

การที่สถาบันพระปกเกล้ากำลังขับเคลื่อนหารือกับฝ่ายอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ประธานวุฒิสภาถือเป็นเรื่องดี

เมื่อสถานการณ์กำลังจะข้ามเส้นแดง ต้องหาทางให้ยุติความรุนแรง เท่าที่เห็นคือสังคมช่วยกันรณรงค์ไม่ให้ทุกฝ่ายใช้ความรุนแรง ถือเป็นเรื่องที่ดี รวมทั้งกฎหมายต้องยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย

รัฐสภาเป็นตัวแทนประชาชน ต้องมาช่วยตรวจสอบกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงการใช้ระบบธรรมาภิบาลเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสันติ

ขณะเดียวกัน ทหารมีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ล้มล้างรัฐธรรมนูญ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์