เปิดระเบียบ สตช. ต้องถอดยศแม้ว จากพันตำรวจโทเหลือแค่นาย

ผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ มิฉะนั้น ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป

การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท  ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และ 122

ไม่เพียงแต่เป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณถูกเรียกเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) หรือเทียบเท่าชั้น"เจ้าพระยา"ที่ได้รับพระราชทานคืนตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์พ.ศ. 2548 เท่านั้น

แต่ยังป็นเหตุสำคัญที่จะทำให้ถูกถอดยศ "พันตำรวจโท"ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547และ ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย  การถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547

ตาม พ.ร.บ. ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 นั้น กำหนดเรื่องการ"ถอดยศ"นายตำรวจชั้นสัญญาบัตรไว้ในมาตรา 28 และ 29 ดังนี้
 

มาตรา 28   การถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และให้ทำโดยประกาศพระบรมราชโองการ

มาตรา 29   การให้ออกจากว่าที่ยศตำรวจชั้นสัญญาบัตรหรือการถอดหรือการออกจากยศตำรวจชั้นประทวน ให้ผู้มีอำนาจสั่งตามมาตรา 26 วรรคสาม หรือมาตรา 27  แล้วแต่กรณี สั่งได้ตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

จากมาตรา 28 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้ออก"ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วย  การถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547" มี พล.ต.อ.  สันต์  ศรุตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น เป็นผู้ลงนามและประกาศ  ณ  วันที่  4   มีนาคม  พ.ศ.2547


สำหรับรายละเอียดของระเบียบดังกล่าว มีดังนี้
  
           
เนื่องจากผู้ที่ดำรงอยู่ในยศตำรวจ สมควรจะประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์  มิฉะนั้น ย่อมเป็นทางนำความเสื่อมเสียมาสู่หมู่คณะ โดยเหตุผลดังกล่าว หากผู้ใดประพฤติหรือวางตนให้เหมาะสมแก่เกียรติศักดิ์ไม่ได้ ก็ไม่สมควรจะดำรงอยู่ในยศตำรวจต่อไป


อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11(4)มาตรา 28 และมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 วางระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การเสนอขอถอดยศตำรวจทั้งแก่ผู้ที่อยู่ในราชการตำรวจ และที่พ้นจากราชการตำรวจไปแล้ว ให้กระทำได้เมื่อมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง  ดังต่อไปนี้
 
(1) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด ว่าทุจริตต่อหน้าที่ราชการ แม้ศาลจะพิพากษารอการกำหนดโทษ หรือกำหนดโทษแต่รอการลงโทษไว้ก็ตาม
(2)ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
(3)ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพราะก่อให้เกิดหนี้สินขึ้นโดยทุจริต
(4)กระทำผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการ
(5) ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
(
6) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
(7)ถูกสั่งให้ออกจากราชการ เพราะขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ก่อนได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจ


ข้อ 2 หน้าที่ความรับผิดชอบในการพิจารณาและดำเนินการถอดยศตำรวจ
 
(1) ข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศตามข้อ 1  แล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาถอดยศ เว้นแต่กรณีตามข้อ 1(7) เมื่อมีคำสั่งให้ออกจากราชการแล้วให้หน่วยต้นสังกัดดำเนินการส่งเรื่องให้กองทะเบียนพล รวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาถอดยศต่อไป

(2) ข้าราชการตำรวจชั้นประทวนให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งยศเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาว่า  ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศตามข้อ ๑ แล้วดำเนินการสั่งถอดยศ พร้อมทั้งรายงานให้สำนักงานตำรวจ แห่งชาติ (ผ่านกองทะเบียนพล) ทราบ

(3) ให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับทราบข้อมูลการต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา หรือถูกฟ้องในคดีล้มละลายอันเนื่องมาจากการก่อหนี้สินขึ้นโดยทุจริตของผู้ที่ดำรงยศตำรวจทั้งในส่วนของผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้ว หรือยังคงรับราชการอยู่ในหน่วยงานอื่นของรัฐหาข้อมูลเบื้องต้นให้แน่ชัดแล้วส่งเรื่องให้กองวินัยพิจารณา หากเห็นว่าผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศก็ให้ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ถอดยศต่อไป
 
จากระเบียบดังกล่าวจะเห็นว่า พฤจิกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเหตุในการ"ถอดยศ"ถึง 2 ข้อคือ
 
(2) ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก หรือโทษที่หนักกว่าจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษ หรือความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท
 
(6) ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการในเรื่องนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
 
หนึ่ง ในส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกนั้น ให้กองวินัย หรือผู้บังคับบัญชาที่ได้รับมอบอำนาจในการดำเนินการทางวินัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการพิจารณาว่า ผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศแล้วแจ้งผลการพิจารณาพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ให้กองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาถอดยศ

สอง ในส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณหลบหนีคดีออาญาไปอยูที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษนั้นให้ทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่รับทราบข้อมูลการต้องหาคดีอาญาหรือถูกฟ้องคดีอาญา ของผู้ที่ดำรงยศตำรวจทั้งในส่วนของผู้ที่พ้นจากราชการไปแล้ว หาข้อมูลเบื้องต้นให้แน่ชัดแล้วส่งเรื่องให้กองวินัยพิจารณา หากเห็นว่าผู้ใดมีเหตุที่จะต้องดำเนินการถอดยศก็ให้ส่งเรื่องไปยังกองทะเบียนพลดำเนินการรวบรวมเสนอสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณา ถอดยศต่อไป

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เห็นชัดว่า แล้วว่า พฤติกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าเหตุตามระเบียบทั้ง 2 ประการ จึงอยู่ที่ว่า พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบหรือไม่

ทั้งนี้คงต้องดูที่ผลว่า ในที่สุดแล้ว "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" จะมีสถานะเพียง"นายทักษิณ ชินวัตร"หรือไม่


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์