"ทักษิณ"มีสิทธิอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา หลังถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ที่ยังไม่เคยปรากฏอยู่ในสำนวนคดีและไม่รวมถึงการกลับคำให้การของพยานในคดี
หลังจากที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากาาจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกรัฐมนตรี 2 ปี และยกฟ้องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยาในคดีทุจริตการจัดซื้อที่ดินจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ถนนรัชดาภิเษก มูลค่า 772 ล้านบาท
มีคำถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะสามารถยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่
คำตอบคือ สามารถยื่นได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษา(สำหรับคดีนี้ต้องภายในวันที่ 19 ตุลาคม 2551)ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาตรา 278 วรรคสาม ที่กำหนดโดยระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ พ.ศ. 2551 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551
ทั้งนี้เงื่อนไขที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ต้องคำพิพากษาต้องมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
คำว่า "พยานหลักฐานใหม่" ตามระเบียบดังกล่าวหมายความว่า พยานหลักฐานที่ยังไม่เคยปรากฏอยู่ในสำนวนคดีที่ผู้ต้องคำพิพากษาได้ยื่นอุทธรณ์ตามระเบียบนี้ แต่ทั้งนี้พยานหลักฐานใหม่ย่อมไม่รวมถึงการกลับคำให้การของพยานในคดี
สำหรับรายละเอียดของระเบียบที่ประชุมใหญ่มี ดังนี้
อาศัยอำนาจตามมาตรา 278 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้ออกระเบียบกำหนดหลักเกณฑ์การอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งอาจทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. พยานหลักฐานใหม่ที่จะยกขึ้นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกานั้นจะต้องเป็นพยานหลักฐานที่สำคัญและผู้ต้องคำพิพากษาไม่รู้หรือไม่มีเหตุอันควรรู้ว่า พยานหลักฐานดังกล่าวมีอยู่และจะต้องนำมาแสดงเพื่อประโยชน์ของตน ทั้งหากรับฟังพยานหลักฐานใหม่เช่นว่านั้นแล้วจะทำให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องหรือยกคำร้องได้
2.ในกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่ ผู้ต้องคำพิพากษาอาจยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
3. การอุทธรณ์ตามระเบียบนี้ให้ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพร้อมด้วยสำเนา โดยอุทธรณ์จะต้องทำเป็นหนังสือใช้ถ้อยคำสุภาพและอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(๑) รายละเอียดโดยชัดแจ้งเกี่ยวกับพยานหลักฐานใหม่
(๒) สาเหตุที่ไม่อาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดงต่อศาลในชั้นพิจารณา
(๓) เหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าหากรับฟังพยานหลักฐานใหม่เช่นว่านั้นแล้วจะทำให้ข้อเท็จจริงใดเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
(๔) ลายมือชื่อของผู้อุทธรณ์ ผู้เรียง ผู้เขียนหรือพิมพ์อุทธรณ์
4. เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้รับอุทธรณ์แล้วให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์หรือผู้ร้องทราบเพื่อให้แก้อุทธรณ์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับสำเนาอุทธรณ์ ถ้าได้รับคำแก้อุทธรณ์หรือพ้นกำหนดดังกล่าวแล้วแต่ไม่มีคำแก้อุทธรณ์ก็ให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาต่อไป
5. ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกผู้พิพากษา 5 คนเป็นองค์คณะทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ที่ได้ยื่นต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตามระเบียบนี้ แต่ทั้งนี้องค์คณะผู้พิพากษาดังกล่าวจะต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีที่อุทธรณ์ให้องค์คณะที่ได้รับเลือกตามวรรคหนึ่งตกลงกันว่า จะให้ผู้พิพากษาคนใดในองค์คณะทำหน้าที่เป็นเจ้าของสำนวน
ถ้าผู้พิพากษาคนใดในองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ที่ได้รับมอบหมายไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ด้วยเหตุสุดวิสัยหรือเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกผู้พิพากษาคนอื่นทำหน้าที่แทนต่อไป
ให้องค์คณะผู้พิพากษาเลือกผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหนึ่งคนทำหน้าที่เป็นเลขานุการองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์
6. องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์มีหน้าที่ทำบันทึกความเห็นสรุปสำนวนเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่า อุทธรณ์ของผู้ต้องคำพิพากษาเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยระเบียบนี้ ที่จะรับไว้พิจารณาหรือไม่
กรณีที่เป็นการจำเป็น องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์อาจไต่สวนให้ได้ความจริงอย่างหนึ่งอย่างใดในเรื่องที่เกี่ยวกับอุทธรณ์ของผู้ต้องคำพิพากษาเสียก่อนก็ได้ ในกรณีที่มีการไต่สวนให้แจ้งวันนัดไต่สวนให้ผู้ต้องคำพิพากษาและโจทก์หรือผู้ร้องทราบล่วงหน้าก่อนวันนัดไม่น้อยกว่า 15 วัน
7.เมื่อองค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ได้ทำบันทึกความเห็นสรุปสำนวนเสร็จเรียบร้อยแล้วให้เสนอที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อจัดให้มีการลงมติว่าจะรับอุทธรณ์ไว้พิจารณาหรือไม่ ถ้าที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติว่า เป็นอุทธรณ์ที่ชอบก็ให้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณา
8. เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีมติให้รับอุทธรณ์ไว้พิจารณาแล้ว ให้องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์ทำหน้าที่เป็นองค์คณะไต่สวนรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย
ถ้าเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่น อันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาไต่สวนเพิ่มเติม ให้องค์คณะไต่สวนทำการไต่สวนพยานหลักฐานซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่ไต่สวนมาแล้วมาไต่สวนใหม่ด้วยโดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ
เมื่อองค์คณะไต่สวนได้รวบรวมข้อเท็จจริงแล้วให้ส่งให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาล่วงหน้าก่อนวันลงมติไม่น้อยกว่า15 วัน
9.ผู้พิพากษาซึ่งเป็นหรือเคยเป็นองค์คณะในการพิจารณาพิพากษาคดีที่ผู้ต้องคำพิพากษาได้ยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกามีสิทธิออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในเรื่องที่เกี่ยวกับอุทธรณ์ของผู้ต้องคำพิพากษาตามระเบียบนี้
10.ในวันลงมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ให้ผู้ต้องคำพิพากษาพร้อมทั้งโจทก์หรือผู้ร้องมายังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ในกรณีผู้อุทธรณ์เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้ได้รับโทษทางอาญา เมื่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ลงมติแล้ว ให้แจ้งผลของการลงมติให้ผู้ต้องคำพิพากษา และโจทก์ทราบในวันเดียวกันกับที่ได้มีมติ
ถ้าเป็นความผิดของโจทก์ที่ไม่มา หากเห็นเป็นการสมควร ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะลงมติโดยโจทก์ไม่อยู่ก็ได้ ในกรณีที่ผู้ต้องคำพิพากษาไม่อยู่โดยไม่มีเหตุสงสัยว่า หลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง ก็ให้ที่ประชุมใหญ่เลื่อนการประชุมไปจนกว่าผู้ต้องคำพิพากษาจะมาศาล แต่ถ้ามีเหตุสงสัยว่า ผู้ต้องคำพิพากษาหลบหนีหรือจงใจไม่มาฟัง ให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องคำพิพากษา และเมื่อได้ออกหมายจับแล้วยังไม่ได้ตัวผู้ต้องคำพิพากษาภายในหนึ่งเดือน นับแต่วันออกหมายจับ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาลงมติไปได้และถือว่าผู้ต้องคำพิพากษาได้ทราบมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาแล้ว
มติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้มีผลเท่ากับเป็นการพิพากษาหรือออกคำสั่ง โดยให้องค์คณะต่สวนเป็นผู้แจ้งหรืออ่านผลของมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้คู่ความทราบ ส่วนรายละเอียดของมติที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาให้ดำเนินการจัดทำเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งในภายหลัง แต่ทั้งนี้จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วันนับแต่วันลงมติ
ในกรณีอื่น ถ้าคู่ความทุกฝ่ายไม่มาศาล ในวันลงมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะให้งดการแจ้งหรืออ่านผลมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็ได้ ให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา มีอำนาจออกหมายหรือคำสั่งใด ๆ ตามที่เห็นสมควรเพื่อบังคับให้เป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
11.คำพิพากษาหรือคำสั่งตามมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาให้องค์คณะพิจารณาอุทธรณ์หรือองค์คณะไต่สวนเป็นผู้ลงลายมือชื่อในคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วแต่กรณีให้ส่งคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ทำให้คดีถึงที่สุดไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา พร้อมทั้งติดประกาศไว้ที่ศาลฎีกา
12.ให้นำข้อบังคับการประชุมใหญ่ศาลฎีกา มาใช้บังคับแก่การพิจารณาอุทธรณ์ตามระเบียบนี้โดยอนุโลม
ประกาศ ณ วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2551
วิรัช ลิ้มวิชัย
ประธานศาลฎีกา
---------------------------------------
พลิกรธน.-ระเบียบ เปิดช่อง แม้ว ใช้พยานหลักฐานใหม่อุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง พลิกรธน.-ระเบียบ เปิดช่อง แม้ว ใช้พยานหลักฐานใหม่อุทธรณ์ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา