กรุงเทพธุรกิจ
22 มิถุนายน 2549 19:32 น.
โดยมารยาทแล้ว"วิษณุ เครืองาม"ยังไม่พูดถึงเหตุผลการจะลาออก แต่สาธารณชนก็คงคิดไปว่า น่าจะเป็นเหตุผลใกล้เคียงกับ"บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" คงไม่ผิดนัก การสละเก้าอี้ของ"คู่หูนิติกร"ในเวลาไล่เลี่ยกันเช่นนี้ น่าจะเป็นการสลัดเงา"ทักษิณ ชินวัตร"ที่ทาบทับนั่นเอง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : * ประชุม ประทีป
---------------------
ข่าวเปรยๆ ว่า บวรศักดิ์ อุวรรณโณ จะสละเก้าอี้เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นจริงเมื่อ 6 มิ.ย. โดยเจ้าตัวได้อุปสมบทถวายเป็นพระราชกุศล แด่ในหลวงในวโรกาสครองราชครบ 60 ปี ในฉายา พระปวรสกฺโก
ในวันเดียวกับ "บวรศักดิ์"ประกาศขอลาบวชนั่นเอง มีข่าวเปรยๆ ว่า วิษณุ เครืองาม จะสละเก้าอี้รักษาการ รองนายกรัฐมนตรี แล้วก็เป็นจริงในวันนี้(22มิ.ย.) ซึ่งเจ้าตัวกล่าวว่า จะให้มีผลก่อนสิ้นกรกฎาคมอย่างแน่นอน
ทั้งสองผลัดกันเป็น"นิติกรเดี่ยวมือ1" กุมเรื่องสำคัญๆ ของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยตลอด 6 ปี
"วิษณุ" เริ่มเส้นทางนักกฎหมาย จากรั้วนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เป็นเนติบัณฑิตไทย และจบปริญญาโท-เอก University of California,Barkeley สหรัฐอเมริกา
เป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ก่อนโยกไปคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กระทั่งปี 2529 ได้ตำแหน่งทางวิชาการ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
เริ่มเข้าแวดวงในการเมืองเมื่อปี 2534 ในตำแหน่งรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(ครม.) ปี 2536 - 2543 เป็นสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง ควบกับตำแหน่งเลขาธิการครม. ก่อนจะพ้นไปตามบทเฉพาะกาล รัฐธรรมนูญปี 2540 แต่ยังเป็นเลขาธิการ ครม.เรื่อยมา
จนกระทั่ง 11 มี.ค.2547 เขายอมรับการทาบทามให้ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ในโค้วต้าไทยรักไทย ขณะที่ก่อนหน้านั้น ปฏิเสธการทาบทามจากผู้นำหลายรัฐบาล
ช่วงที่เขาขึ้นสู่ตำแหน่งรองนายกฯ นี่เอง ได้ดึงเอา บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งโยกจากคณบดี คณนิติศาสตร์ จุฬาฯ มานั่งทำหน้าที่แทน
เป็น "บวรศักดิ์" ที่จบนิติศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จุฬาฯ ปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชน(เกียรตินิยมดีมาก) มหาวิทยาลัยปารีส
ไม่เพียงเท่านั้น ทั้งคู่ยังแนบแน่นเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน ถือกำเนิดถิ่น อ.หาดใหญ่ ด้วยกัน เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนมหาวชิราวุธสงขลา ด้วยกัน
ยิ่งกว่านั้น คือศิษย์เก่ามหาวชิราวุธเฉกเช่นเดียวกับ ป๋าเปรม พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี อีกด้วย
ถ้าเป็นนิติกรของรัฐบาลในภาวะปรกติ ทั้งคู่คงจะรุ่งโรจน์ในหน้าที่การงานอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในภาวะการบ้านการเมืองเช่นนี้ การใช้วิชาชีพกฎหมายที่ควรเป็นไปตามหลักการให้แม่น
ทว่า ที่ผ่านมา นิติกรมือหนึ่งรัฐบาล"บวรศักดิ์" ที่มีเงาของ "วิษณุ" ทาบทับอยู่อย่างไม่เสียหาย ทว่า กลับมีเงาทมึนของ"ทักษิณ ชินวัตร" ทับซ้อนอีกอย่างเสียภาพลักษณ์
อย่าลืมว่า หลายสิ่งหลายอย่างในรัฐบาลนี้ ได้ก่อความขัดแย้งของคนในบ้านเมืองหลายกรณีด้วยกัน อาทิ
-มติ ครม.แต่งตั้งคณะปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช (ลงวันที่ 17 ม.ค.2547) โดยอ้างเหตุผลความชรา มีชันษากว่า 90 ปีแล้ว ซึ่งตามตัวบทกฎหมายแล้ว การแต่งตั้งตำแหน่งนี้ 1) สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้แต่งตั้งเอง หรือ 2)เป็นมติคณะกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.)
ในเมื่อสมเด็จพระสังฆราชไม่ได้ตั้ง และมส. ก็ไม่เห็นชอบชัดเจน แต่ รองนายกฯ วิษณุ กลับออกประกาศแต่งตั้งเสียเอง จึงถูกต่อต้านทันที
-กรณี ถูกวิพากษ์วิจารณ์ความไม่เหมาะสมกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั่งเป็นประธานในพิธีทำบุญประเทศ ภายในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 10 เม.ย.2548 โดยที่ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชานุญาติใช้สถานที่ภายหลังอย่างเนิ่นช้า และสุดท้ายต้องใช้วิธีส่งโทรสาร ไปขอพระบรมราชานุญาต
- เรื่องกรณีความไม่โปร่งใสจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถระเบิด CTX 9000
- การทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายหลายฉบับที่ไม่สมควร ไปจนถึงความไม่โปร่งใส่ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กฟผ. ซึ่งต่อมาศาลปกครองสั่งล้มเลิก เรื่อง"ไอทีวี" ถูกขายไปพร้อมกับดีลหุ้นชินให้แก่กองทุนเทมาเส็ก
- เรื่องคดีพิพาทเรื่องเลือกตั้งที่ผ่านมา และคดีสืบเนื่องอีกหลายคดีต่อ กกต. ต่อหัวหน้ารัฐบาลรักษาการ
- ล่าสุด มติครม.จะให้ตราร่างพ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานคร ซึ่งฟังน้ำเสียงของ วิษณุ เครืองาม ที่ได้ท้วงติงในด้านเทคนิกทางกฎหมายที่จะเป็นปัญหาตามมา อาทิ ถ้ามีเหตุฆ่ากันตายในพื้นที่ จะไปขึ้นศาลที่ไหน อัยการที่ไหนไปฟ้อง ตำรวจที่ไหนเป็นคนสอบสวน หรือเกิดมีการเลือกตั้ง ส.ส. เรียบร้อยแล้ว คนที่เป็น ส.ส.กรุงเทพฯ ที่มาจากเขตประเวศหรือ ส.ส.จากสมุทรปราการ แล้ว ส.ส.เหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน
เหล่านี้ ก็น่าคิดเช่นเดียวกับ ร่างกฎหมายและกฎหมายหลายฉบับที่ได้รับการท้วงติง สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง
ลองย้อนไปอ่านคำบรรยายเรื่อง ทศพิธราชธรรม ของ "พระปวรสกโก" ณ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อ 19 มิ.ย. ตอนหนึ่งความว่า
"นอกจากนี้ พระปวรสกโก กล่าวด้วยว่า ในประเทศไทยมีธรรมเนียมเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ คือถ้านายกฯขอเข้าเฝ้าแล้วได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้เฝ้า ไม่ว่าจะทรงตักเตือนหรือประการใด นายกฯไม่มีสิทธินำออกมาอ้างภายนอกได้ เพราะถือเป็นการมิบังควร และขัดต่อหลักการปกครองไทย"
ลองย้อนไปอ่านคำชี้แจง ของ "บวรศักดิ์" เมื่อ 6 มิ.ย. ตอนหนึ่งความว่า
"บัดนี้ สถานการณ์บ้านเมืองแปรเปลี่ยนไปและอยู่ในภาวะไม่ปกติ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันในบ้านเมือง ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของกระผมไม่ราบรื่นดังที่เคยเป็นมาในอดีต ทั้งที่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในฐานะข้าราชการประจำต้องกระทำไปตามหน้าที่ และตามสถานการณ์ที่บังคับนั้น ก่อให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นแก่ตัวกระผมและครอบครัว"
แม้ตามมารยาทแล้ว "วิษณุ เครืองาม"จะยังไม่แถลงเหตุผลการจะลาออก แต่สาธารณชนก็พอจะเดาได้ว่า น่าจะเป็นเหตุผลใกล้เคียงกับ"วิษณุ เครืองาม" นั่นเอง
คงไม่ผิดนักที่การสละเก้าอี้ของ"คู่หูนิติกร"คนสำคัญของรัฐบาลในเวลาไล่เลี่ยกันเช่นนี้ เป็นคำตอบสุดท้าย เพื่อสลัดเงาของ"ทักษิณ ชินวัตร" ที่ทาบทับนั่นเอง