ในวันที่16 ตุลาคมนี้ "คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ" (ป.ป.ช.) จะมีการลงมติชี้มูลความผิดคดี "สมชาย วงศ์สวัสดิ์" นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมในสมัยที่ดำรงตำแหน่ง "ปลัดกระทรวงยุติธรรม"
กรณีการ"สั่งระงับ" ไม่ให้ดำเนินคดีกับ "ประมาณ ตียะไพบูลย์สิน" อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และ "มานิต สุธาพร" อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี ที่ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม จำนวน 70 ล้านบาทที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินศาลจังหวัดธัญบุรี จนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย ซึ่งก่อนหน้านี้"ป.ป.ช." ได้ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงทั้ง"ประมาณ และ มานิต" ไปแล้ว
จึงมีนักกฎหมายออกมาตั้งข้อสังเกตว่าหาก "ป.ป.ช." ชี้มูลว่า"สมชาย" มีความผิดจริงฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่
ซึ่งการชี้มูลความผิดครั้งนี้"ป.ป.ช." จะชี้ว่าต้องส่งต่อไปยังศาลใด หาก"ป.ป.ช." ชี้มูลโดยตีความการกระทำความผิดของ"สมชาย" ขณะอยู่ในตำแหน่ง "ปลัดกระทรวงยุติธรรม" ถือเป็นข้าราชการประจำก็จะส่งต่อศาลอาญา แต่ถ้าชี้มูลโดยตีความการกระทำความผิดอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันว่าเป็นอะไร ดังนั้นถ้าดูในฐานะ "สมชาย" เป็น "นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม" ก็ต้องส่งต่อไปยัง "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"
ส่วนข้อถกเถียงว่าในคดีนี้"สมชาย" อาจจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปโดยยกคดีการออกสลากพิเศษเลขท้าย2 ตัว 3 ตัวหรือ หวยบนดิน ที่มี "3รัฐมนตรี" ที่ตกเป็นจำเลยยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีต่อ
โดยอ้างว่าตอนที่ถูกดำเนินคดีเป็นคนละตำแหน่งกัน แต่สำหรับคดีของ"สมชาย" กับ "คดีหวยบนดิน" มีความต่างกันในเรื่องขององค์กรที่ทำหน้าที่ชี้มูล เนื่องจากคดี"สมชาย" ทางป.ป.ช.ใช้กฎหมายของ ป.ป.ช.ตัดสินโดยตรง ขณะที่ "คดีหวยบนดิน" ทาง"คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ" (คตส.) ได้ส่งฟ้องตรงต่อ "ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" โดยอาศัยกฎหมายของ ป.ป.ช.มายื่นฟ้อง
แต่ครั้งนี้ป.ป.ช.เป็นผู้รับผิดชอบในคดีเองทั้งหมดถือเป็นการใช้อำนาจตรง ดังนั้นการชี้มูลของป.ป.ช.ถือเป็นข้อยุติไม่จำเป็นต้อส่งยื่นตีความอีก
โดยการชี้มูลครั้งนี้ป.ป.ช.อาศัยอำนาจตามกฎหมาย มาตรา 55 ที่เนื้อหาระบุว่า
ซึ่งเรื่องการ "หยุดปฏิบัติหน้าที่" นั้น"วิชา มหาคุณ" กรรมการ ป.ป.ช. เคยให้สัมภาษณ์ในกรณี 3 รัฐมนตรีตกเป็นจำเลยยังยืนยันจะปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีต่อไป
ว่า กฎหมายไม่ได้เขียนว่า รัฐมนตรีผู้ดำรงตำแหน่งนั้นให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่เขียนไว้ว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ "กฎหมายในลักษณะตีความต้องให้เป็นผลยิ่งกว่าได้ผลสมมติว่าบอกว่า ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมแล้ว พอถูกฟ้องก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น ถามว่ากฎหมายนี้จะใช้ได้หรือไม่ จะไม่มีโอกาสใช้ได้เลย ที่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะจะมีการเลี่ยงบาลีกันตลอด ซึ่งไม่ใช่แนวทางการใช้กฎหมาย ก็สุดแล้วแต่ อันนี้ท่านอาจโต้แย้งได้เพราะยังไม่มีกรณีเกิดขึ้น เพราะรัฐมนตรีที่ถูกดำเนินคดีจะเป็นกรณีที่พ้นตำแหน่งไปแล้วและไม่ได้เข้ามาสู่ตำแหน่งอีก
วิชากล่าวด้วยว่า หากจะมีการนำเรื่องนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ก็คงเป็นที่ปรึกษาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ปฏิบัติได้สบายใจ แต่การตีความควรคำนึงถึงการใช้กฎหมาย เพื่อให้กฎหมายได้ผลและดูเจตนารมณ์ของกฎหมายด้วย
ขณะเดียวกันก็สอดคล้องกับความเห็นของ"ปรีชา สุวรรณทัต" อดีตกรรมาธิการร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต กล่าวว่า ในกรณีของนายสมชาย ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดจริง คุณสมชายต้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ ป.ป.ช.มีมติดังกล่าว ซึ่งเหมือนกับนายกรัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่ง และจะมีผลต่อรัฐมนตรีทั้งคณะด้วย
"ปรีชา" กล่าวว่าในขณะที่เป็นกรรมาธิการร่างกฎหมาย ป.ป.ช.วัตถุประสงค์ที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ เพราะไม่ต้องการให้มีการใช้อำนาจที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไปก้าวก่ายการตรวจสอบ ซึ่งหมายถึงต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ปัจจุบัน ไม่ใช่หน้าที่ในอดีต
ท้ายที่สุดแล้วต้องดูว่า"ป.ป.ช." จะชี้มูลความผิดของ "สมชาย" อย่างไรเพราะจะมีผลต่อ "คณะรัฐมนตรี" และ "อนาคตทางการเมือง" ของรัฐบาลชุดนี้