ชมรมพนักงานสอบสวนชี้แจงระบบการดำเนินคดีอาญาของไทย จากกรณีที่ ป.ป.ช.รับคำร้อง สส.พรรคประชาธิปัตย์ให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจประพฤติมิชอบในการออกคำสั่งสลายการชุมนุมของพันธมิตรฯ ที่หน้ารัฐสภาและ บช.น.เมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมาจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต นั้น พ.ต.ท.มานะ เผาะช่วย ในฐานะประธานชมรม
พนักงานสอบสวน กล่าวว่า เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีความเข้าใจและเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ชมรมฯ จึงของเรียนชี้แจงว่า ระบบการดำเนินคดีอาญาของประเทศไทยสอดคล้องกับระบบสากล กล่าวคือ แบ่งการค้นหาความจริงในคดีอาญาออกเป็นสองขึ้นตอน คือ ขั้นตอนในชั้นเจ้าพนักงาน(Pre-trial) และขั้นตอนในชั้นศาล(Trial) สำหรับการค้นหาความจริงชั้นเจ้าพนักงานกระทำโดยการสืบสวนและการสอบสวน เช่น การดำเนินคดีอาญาของพนักงานสอบสวน การไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
พ.ต.ท.มานะ กล่าวต่อ หลักการสำคัญในการดำเนินคดีอาญาคือ ต้องค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นให้ได้อย่างชัดแจ้ง มีพยานหลักฐานสนับสนุน ในส่วนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช.นั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ม.47 วรรคแรกบัญญัติแต่เพียงว่า “ในการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงให้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบและกำหนดระยะเวลาตามสมควรที่ผู้กล่าวหาจะมาชี้แจงข้อกล่าวหาแสดงพยานหลักฐานหรือนำพยานบุคคลมาให้ปากคำประกอบการชี้แจง” ประธานชมรมกล่าว
ดังนี้การดำเนินคดีอาญาชั้นเจ้าพนักงานของไทยไม่ว่ากระทำโดยพนักงานสอบสวน หรือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ล้วนแต่เป็นวิธีการไต่สวน ไม่ใช่ระบบกล่าวหาดังที่บางคนเข้าใจ ไม่ใช่การดำเนินคดีชั้นเจ้าพนักงาน แม้คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ แต่ถือเป็นองค์กรชั้นต้นในกระบวนการยุติธรรมระดับเดียวกันกับพนักงานสอบสวน การไต่สวนข้อเท็จจริงจึงน่าจะยึดถือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในส่วนที่มีมีบทบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542