แนวหน้า
ตั้งจังหวัดที่77ครม.ไฟเขียวหนองงูเห่าเป็นเขตปกครองพิเศษ ทรท.-นายทุนเลียปากที่ดินพุ่ง-โวคนมีวิสัยทัศน์ "อภิรักษ์"ออกโรงค้านรวมลาดกระบัง-ประเวศ
นายแพทย์สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายนว่า ที่ประชุมอนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานคร พ.ศ....ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อให้สุวรรณภูมิมหานครเป็นนิติบุคคลที่เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีฐานะเป็นจังหวัดที่ 77 เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ในเขตสุวรรณภูมิมหานครให้เป็นศูนย์กลางการบิน การขนส่ง การประกอบธุรกิจ การจ้างงานตามวัตถุประสงค์
" ดังนั้น ที่ประชุมจึงพิจารณาในส่วนหลักการ และเห็นชอบให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาในข้อกฎหมาย จากนั้นให้นำกลับเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก็ต้องรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ยืนยันว่าเห็นชอบหรือไม่ แล้วนำไปสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป" นพ.สรุพงษ์ กล่าว
และว่า ก่อนการประชุม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรรักษาการนายกรัฐมนตรี แจ้งเรื่องการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ โดยย้ำว่า จะเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในเชิงพาณิชย์วันที่ 28 กันยายนนี้ ส่วนพิธีเปิดอย่างเป็นทางการจะกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการต่อไป และในวันที่ 29 กรกฎาคม จะทดลองให้เครื่องบินพาณิชย์ลงจอดอย่างเต็มระบบ ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ประสานกับสายการบินต่าง ๆ แล้ว
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รักษาการรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ได้หารือในหลักการร่างพ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานคร พ.ศ. ... ระดับหนึ่ง เพราะรู้ว่ากฤษฎีกาต้องไปปรับปรุงแก้ไขก่อนเสนอกลับเข้าครม.อีกครั้ง คงต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการ ช่วงนี้ต้องปล่อยไปอย่างนี้ ยังทำอะไรไม่ได้ ที่เสนอมาวันนี้จะเรียกเป็นมหานครก็จริง แต่ก็แค่จังหวัด อีก 4 ปี ถึงเปลี่ยนเป็นท้องถิ่นและมีการเลือกผู้ว่าฯ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกนาน โดยจังหวัดลักษณะนี้นำแบบมาจากญี่ปุ่น มีคณะกรรมการบริหาร 30 คน ที่ผู้ว่าการเป็นคนแต่งตั้ง ยกเขตประเวศ ลาดกระบังขึ้นเป็นเทศบาลนคร แล้วมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรี เทศมนตรี และผู้ว่ามหานครดูแล
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การที่รีบออกกฎหมายยกสุวรรณภูมิเป็นมหานคร เพราะคนของพรรคไทยรักไทยมีที่ดินบริเวณนั้นจำนวนมากใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบจึงไม่รู้จะตอบอย่างไร แต่เรื่องนี้คงอีกหลายปี
สำหรับร่างพ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานครนั้น กำหนดให้เขตประเวศ ลาดกระบัง ของกทม.และอ.บางพลี และกิ่งอ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ รวมพื้นที่ประมาณ 522 ตารางกิโลเมตร หรือ 3.6 แสนไร่ บริเวณรอบสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเช่นเดียวกับ กทม.และยกเป็นจังหวัดที่ 77 ของไทย เพื่อให้เป็นจุดศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศในภูมิภาคนี้
ภายหลังครม.มีมติรับหลักการร่างพ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานครแล้ว หลายฝ่ายต่างออกมาแสดงความเห็นสนับสนุนและคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว
โดยนายจิรพันธ์ ลิ้มสกุลศิริรัตน์ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคไทยรักไทย กล่าวว่า ชาวบ้านและนักการเมืองท้องถิ่นบางคนไม่พอใจเห็นว่าไม่ควรตัดเอาพื้นที่บางส่วนไปรวมกับสุวรรณภูมิ แต่น่าจะเอาไปทั้งจังหวัด แต่ตนเห็นว่าตัดบางส่วนไปดีแล้วจะได้ดูแลทั่วถึง อีกทั้ง อยากให้ชาวบ้านเข้าใจว่า อยากได้ความเจริญก็ต้องมีขยะมีมลพิษติดมาบ้าง ส่วนที่มีกระแสข่าวแกนนำพรรคไทยรักไทยไปกว้านซื้อที่ดินรอบสนามบินสุวรรณภูมิไว้นั้น ตนเห็นว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นการชิงไหวชิงพริบทางธุรกิจ คนที่มีวิสัยทัศน์ย่อมได้เปรียบ และสามารถหาซื้อที่ดินได้ ไม่ใช่ความผิด คนที่รู้และมีเงินก็มาหาซื้อที่ดินไว้ จะไปว่าอะไรกันไม่ได้ อีกทั้ง เป็นความเต็มใจของคนซื้อและคนขาย
ขณะที่นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.ยังยืนยันจุดยืนเดิมที่ไม่ควรแยกเขตลาดกระบังและประเวศเป็นส่วนหนึ่งของนครสุวรรณภูมิ เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกมาก โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากทั้งสองเขตเป็นพื้นที่รับน้ำของกทม. และประชาชนที่อยู่รอบสนามบินจะได้รับมลพิษทางเสียง ซึ่งถ้าไม่รวมพื้นที่ก็ทำงานร่วมกันได้ โดยสร้างการคมนาคมเชื่อมต่อกัน น่าจะเป็นประโยชน์กว่ารวมพื้นที่ เพราะต้องใช้งบลงทุนเพิ่มขึ้น
รายงานข่าวแจ้งว่า การตั้งนครสุวรรณภูมิดังกล่าว มีเรื่องผิดปกติ เพราะกฎหมายระบุว่า พื้นที่ที่เป็นการปกครองแบบเทศบาลนครนั้น จะไม่มีตำแหน่งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากมีการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีปกครองพื้นที่ แต่รัฐบาลยังให้พื้นที่ดังกล่าวมีกำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นการสวนทางกับกฎหมาย
ขณะเดียวกัน มีความเห็นจากนักวิเคราะห์หลักทรัพย์รายหนึ่งกรณีครม.มีมติอนุมัติหลักการพ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานครว่า จะส่งผลดีต่อ บริษัท อสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีที่ดินในบริเวณดังกล่าว โดยเฉพาะบมจ.กฤษดามหานคร (KMC) ที่มีที่ดินจำนวนมากในสุวรรณภูมิ ทั้งการสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ รวมไปถึงโครงการคอมเพล็กซ์บริเวณดังกล่าวด้วย
สอดคล้องกับแหล่งข่าวจาก บล.กิมเอ็ง ที่ระบุว่า บริษัทที่จะได้รับประโยชน์น่าจะเป็นกลุ่มที่มีโครงการอยู่ในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้ง บมจ.ศุภาลัย (SPALI) บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) และ บมจ.มั่นคงเคหะการ (MK) หลังเปิดเป็นจังหวัดที่ 77 โครงการน่าจะขายดีมากขึ้น
ส่วนนายแสงธรรม จรณชัยกุล ผอ.ฝ่ายกลยุทธ์และการลงทุน บล.ธนชาต กล่าวว่า หุ้นอสังหาฯน่าจะตอบรับข่าวดีประเด็นที่สนามบินสุวรรณภูมิจะเปิดใช้ในวันที่ 28 กันยายนนี้มากกว่าการที่สุวรรณภูมิจะได้เป็นจังหวัดที่ 77 เพราะยังไม่ทราบว่าจะมีการพัฒนาโครงการอย่างไรต่อไป โดยหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากการเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ได้แก่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) และ บมจ.การบินไทย (THAI)
วันเดียวกัน นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การท่าอากาศยาน จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยภายหลังหารือกับสายการบิน นกแอร์ ไทยแอร์เอเชีย โอเรียนท์ไทย พี.บี. แอร์ บางกอกแอร์เวย์ส และบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)ที่เข้าร่วมโครงการทดสอบสายการบินเที่ยวบินพิเศษในประเทศแบบเชิงพาณิชย์ ที่สนามบินสุวรรณภูมิในวันที่ 29 กรกฎาคม โดยสายการบินทั้ง 6 สายและทอท.มั่นใจว่าการย้ายสนามบินดอนเมืองมาดำเนินการบินเชิงพาณิชย์ที่สนามบินสุวรรณภูมิจะไปได้ด้วยดี ทั้งนี้ ทอท.ได้ประสานขสมก. บขส.จัดรถโดยสารอำนวยความสะดวกให้ประชาชน รวมถึงรถแท็กซี่ 2,500 คันรองรับการเดินทาง และจัดระบบรักษาความปลอดภัยแบบมาตรฐานสากลจากกองทัพบก