ลอยแพพี่หนา ปริญญา-วีระชัยโยนตัดสินเอง ปัดไม่ใช่หน้าที่

แนวหน้า

ลอยแพ"พี่หนา" ปริญญา-วีระชัยโยนตัดสินเอง ปัดไม่ใช่หน้าที่ ชิ่งประชุมช่วยลงมติ-อ้อมแอ้มหนุนอัยการศาลรธน.เสียงแตก-เลื่อนชี้ขาดอำนาจส.ว.ยื่นถอดถอน3เสือ พันธมิตรกู้ชาติฝ่าด่านใบแดง-ติดโผรับรองเดินเข้าสภาสูง

เวลา 14.15 น. วันที่ 20 มิถุนายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการประชุมร่วมกันของ กกต. ทั้ง 3 คน ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน นายปริญญา นาคฉัตรี และ นายวีระชัย แนวบุญเนียร กรรมการ ท่ามกลางการคาดหมายกันว่า จะมีการหยิบยกประเด็นการชี้มูลความผิดพรรคไทยรักไทยกรณีจ้างวานพรรคเล็กให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ตามที่อัยการสูงสุดทำหนังสือร้องขอ ขึ้นมาหารือ

พี่หนาบูดถูกจี้ชี้มูลยุบไทยรักไทย

โดยภายหลังการประชุมซึ่งใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมง นายปริญญา และ นายวีระชัย ได้เดินเข้าไปหารือเป็นการส่วนตัวกับ พล.ต.อ.วาสนา ถึงห้องทำงาน โดยใช้เวลานานกว่า 30 นาที แต่ภายหลังการหารือเสร็จสิ้นลง พล.ต.อ.วาสนา ได้ออกมาปฏิเสธเพียงสั้นๆ ว่า ยังไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวมาหารือ จึงยังตอบไม่ได้ หากส่งเรื่องกลับไปให้อัยการสูงสุดเมื่อไร แล้วจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง โดยขณะนี้กำลังให้เจ้าหน้าที่รวบรวมข้อมูลอยู่ จากนั้นจึงเดินออกไปทันที

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้พยายามโทรศัพท์เพื่อขอสอบถามเหตุผลที่ทำให้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า กกต.จะมีการชี้มูลเรื่องดังกล่าวหรือไม่ พล.ต.อ.วาสนา ก็ตอบกลับมาอย่างมีอารมณ์ว่า "ก็ผมไม่อยากตอบ จะมาบังคับอะไรผม" และเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการหารือเรื่องการเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย มาชี้แจงตามที่ นายนาม ยิ้มแย้ม ประธานอนุกรรมการสอบสวนคดีดังกล่าวเสนอไว้หรือไม่ พล.ต.อ.วาสนา ก็ตัดสายทิ้งทันทีโดยไม่ยอมตอบคำถามใดๆ
แฉที่แท้ถูกเพื่อนรักลอยแพ

รายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.อ.วาสนา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชุมเก็บมติลับของ กกต. ที่เคยเวียนไปแล้วกลับคืนมาให้หมด โดยให้เหตุผลเพียงว่า "ให้เก็บกลับมาก่อน เพราะมติผิด" ขณะเดียวกันก็มีรายงานว่า ในการหารือเรื่องการชี้มูลความผิดพรรคไทยรักไทยนั้น ทั้ง นายปริญญา และ นายวีระชัย ต่างพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่หารือกับ พล.ต.อ.วาสนา โดยให้เหตุผลว่า เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงขอให้ประธาน กกต. คือ พล.ต.อ.วาสนา ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นผู้พิจารณาเอาเอง

ปริญญาอ้อมแอ้มหนุนทำตามอัยการ

ด้าน นายปริญญา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า กกต.จะสามารถส่งเรื่องกลับไปยังอัยการสูงได้ก่อน 7 วันตามที่กำหนดมาอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตามการประชุมในวันเดียวกันนี้ ไม่ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือ แต่ได้สอบถามประธาน กกต. ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ก็ได้รับคำตอบว่า กำลังให้เจ้าหน้าที่ไปร่างหนังสือถึงอัยการสูงสุดอยู่ คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในวันที่ 21 มิถุนายน นี้ และคงจะแจ้งให้ที่ประชุม กกต.ทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่า อัยการสูงสุดต้องการอะไร กกต.ก็ควรทำตามความต้องการของอัยการ แม้ว่าในหลักฐานที่ กกต.ส่งไปนั้น มีการสรุปข้อกล่าวหาและชี้มูลอยู่แล้วก็ตาม

ปัดไม่เรียก"ทักษิณ"สอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนที่ กกต.จะแจ้งให้ยุบพรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย มีการเชิญหัวหน้าพรรคมาชี้แจงข้อกล่าวหาหรือไม่ นายปริญญา ตอบว่า เชิญ เพราะมีหลักฐานชัดเจนว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

เมื่อถามต่อว่า แล้วทำไมจึงไม่มีการเรียก พ.ต.ท.ทักษิณ มาชี้แจงข้อกล่าวหา ทั้งที่อนุกรรมการสอบสวนก็มีความเห็นให้เชิญมาด้วย นายปริญญา ตอบว่า ต้องไปถามว่าทำไมคณะอนุกรรมการไม่ดำเนินการเอง ทั้งที่ กกต. ก็บอกให้สอบให้ครบถ้วน ผู้สื่อข่าวจึงถามจี้ว่า เมื่ออนุกรรมการไม่เชิญ ทำไม กกต. ไม่เชิญเอง เพราะยังมีการเชิญ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย มาชี้แจง นายปริญญา จึงเลี่ยงโดยตอบว่า "เรื่องมันผ่านไปแล้ว"

ตั้งแง่ปิดข้อมูลชั้นความลับ

ส่วนกรณีที่ศาลอาญามีคำสั่งให้ กกต. ต้องเปิดเผยข้อมูล หากมีการร้องขอจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และ นายถาวร เสนเนียม รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต่างเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง กกต. ในคดีปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากมีการเกรงว่า จะมีการทำลายเอกสารหลักฐานนั้น
พล.ต.ต.เอกชัย วารุณประภา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กกต.ต้องทำตามคำสั่งศาลอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ข้อมูลอันเกี่ยวเนื่องกับพยานหลักฐาน ต้องระวังในเรื่องของชั้นความลับของเอกสารทางราชการด้วย ซึ่งบางกรณีต้องให้ประธาน กกต. เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ส่วนข้อมูลเอกสารในการสรุปสำนวนสืบสวนสอบสวนกรณีการว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงรับเลือกตั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับประธานอนุกรรมการสืบสวนที่จะพิจารณานำเสนอว่าให้ได้หรือไม่

อัยการยังหวังพี่หนากลับใจ

ด้าน นายอรรถพล ใหญ่สว่าง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า ในหนังสือที่ส่งให้ กกต. ชี้มูลความผิดพรรคไทยรักไทยนั้น อัยการได้รับการร้องขอจาก กกต. ไม่ให้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับหลักการและเหตุผลที่ระบุไว้ในหนังสือของอัยการ และ พ.ต.อ.ประเสริฐ สุทธิสน ผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์ กกต. ซึ่งเป็นผู้แทนในการรับหนังสือดังกล่าว ก็รับปากกับอัยการว่า กกต. จะพยายามให้ความร่วมมือเพื่อทำตามหลักการตามที่อัยการชี้แจงมา ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี
ดังนั้นจึงหวังว่า จะได้รับความร่วมมือจาก กกต. ในการชี้มูลความผิดพรรคไทยรักไทยพร้อมกับส่งสำนวนหลักฐานประกอบอย่างชัดเจนภายในวันที่ 27 มิถุนายน นี้
ศาลรธน.ถกถอดถอนกกต.

วันเดียวกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีการพิจารณาคำร้องของรักษาการสมาชิกวุฒิสภา 35 คน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรนูญพิจารณาวินิจฉัยคุณสมบัติของ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ นายปริญญา นาคฉัตรีย์ และนายวีระชัย แนวบุญเนียร คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าต้องพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุการขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแล้วหรือไม่

โดยรายงานข่าวจากที่ประชุมแจ้งว่า ที่ประชุมได้หารือแยกเป็น 2 ประเด็น คือ รักษาการ ส.ว. ทั้ง 35 คน มีอำนาจการยื่นคำร้องตามมาตรา 142 ของรัฐธรรมนูญ หรือไม่ และ คำร้องลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

เสียงแตกอำนาจส.ว.รักษาการ

ทั้งนี้ในประเด็นอำนาจตามมาตรา 142 นั้น ที่ประชุมมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และมีความเห็นแยกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนหนึ่งยังมีความสงสัยว่า ความเป็น สว.รักษาการ จะมีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะอาจส่งผลให้การยื่นคำร้องมีปัญหา ขณะที่อีกส่วนเห็นว่า ส.ว.รักษาการ มีอำนาจเต็มตามรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วน

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า แม้จะมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง แต่ตุลาการแต่ละคนก็อภิปรายจนได้ข้อยุติแล้ว จึงต้องรอเพียงเสียงส่วนใหญ่เท่านั้นว่า จะเห็นว่าอย่างไร

รอลุ้นลงมติ22มิถุนายน

ส่วนประเด็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามมาตรา 266 นั้น ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การยื่นคำร้องครั้งนี้ไม่เข้าข่ายในเรื่องดังกล่าว เพราะ ไม่ได้เกิดปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเลย โดยที่ประชุมได้นัดหมายจะลงมติว่าจะรับคำร้องของรักษาการ ส.ว.ทั้ง 35 คน หรือไม่ ในวันที่ 22 มิถุนายน เวลา 10.00 น.

นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ที่ยังไม่มีการลงมติเพราะ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องเขียนคำวินิจฉัยของตัวเองไว้ก่อนว่า รับไว้เพราะเหตุผลในมาตราไหน หรือไม่รับด้วยเหตุผลในมาตราไหน

นายผัน จันทรปาน ตุลาการผู้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เผยว่า โดยส่วนตัวมองว่า เรื่องดังกล่าวไม่เข้าข่ายความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามมาตรา 266 ดังนั้นการยื่นคำร้องจึงไม่เข้าข่ายในช่องทางดังกล่าว แต่สำหรับช่องทางมาตรา 142 ต้องรอการลงมติที่ชัดเจน

รับรองส.ว.เพิ่มกว่า 20 คน

สำหรับความคืบหน้าการประกาศรับรองผู้ชนะการเลือกตั้ง ส.ว. นั้น นายปริญญา นาคฉัตรีย์ กกต. เผยว่า ในวันเดียวกันนี้ ที่ประชุม กกต.ได้พิจารณารับรอง ส.ว. กว่า 20 คน แต่จำไม่ได้ว่ามีใครที่ได้รับการรับรองไปบ้าง แต่ในการรับรองครั้งนี้มีว่าที่ ส.ว. กทม.ที่ขึ้นเวทีพันธมิตร ได้รับการรับรองด้วย ซึ่งกำลังให้เจ้าหน้าที่เขียนคำวินิจฉัยและให้ เลขาธิการ กกต.รับรองในวันที่ 21 มิถุนายน

แม้วปิดปากเก็บตัวเงียบ

ส่วนความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี นั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางไปร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ช่วงเช้า ท่ามกลางกระแสข่าวการลาออกจากตำแหน่งของรัฐมนตรีบางคน โดยในรายของ นายวิษณุ เครืองาม รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ที่มีกระแสข่าวออกมาอย่างต่อเนื่อง จากนั้นในเวลา 14.00 น. พ.ต.ท.ทักษิณ จึงเดินทางไปยังบ้านพิษณุโลก โดยมี นายเนวิน ชิดชอบ รักษาการ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ติดตามเข้าไปด้วย และเมื่อเวลาผ่านไปราว 30 นาที นายเนวิน จึงเดินทางกลับ ซึ่งสวนทางกับ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ที่เดินทางเข้าพบ
ผวาซ้ำรอยเลือกตั้งโมฆะ

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม.เปิดเผยว่า ในที่ประชุมพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาประเมินการเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคมว่า หากมีการเลือกตั้งจริง จะมีช่องให้ถูกร้องเรียนให้มีการยกเลิกการเลือกตั้งอีกหรือไม่ และมีสิทธิจะถูกฟ้องร้องหรือไม่ โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบว่า หากให้มีการเลือกตั้งก็มีสิทธิที่จะถูกฟ้องร้องได้ แต่ได้เตรียมคำชี้แจงเอาไว้แล้ว

ขณะที่ นายวิษณุชี้แจงเพิ่มเติมว่า ได้ส่งร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งไปที่ราชเลขาธิการสำนักพระราชวังแล้ว แต่ได้ขอให้รอไว้ก่อน เพราะเกรงว่าเวลาที่ยังเหลืออยู่อีกมาก กกต.อาจจะเปลี่ยนกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ จะได้ไม่ต้องทูลเกล้าฯหลายรอบ

ตอบแทน"นพดล"หนีซบทรท.

ขณะที่ นายดนุพระ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบการแต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี 9 ราย ประกอบด้วย 1. นายชาติชาย พุคยาภรณ์ 2. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา 3. นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ 4. นายจรัล ตฤณวุฒิพงษ์ 5. นายสุนัย เศรษฐบุญสร้าง6. นายคณวัฒน์ วศินสังวร 7. นายไพจิตร เทียนไพฑูรย์ 8. นายโกสินทร์ เกษทอง และ 9. นายนพดล ปัทมะ

โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีของ นายนพดล นั้น เป็นอดีต ส.ส.กทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ต่อมาได้มาทำงานร่วมกับพรรคไทยรักไทย ทำให้การแต่งตั้งครั้งนี้ถูกมองว่า เป็นการให้รางวัลตอบแทนแก่ นายนพดล

ไทยรักไทยเชื่อวิษณุไปแน่

ส่วนกรณีการเตรียมลาออกของ นายวิษณุ นั้น แหล่งข่าวระดับแกนนำในพรรคไทยรักไทย เผยว่า ในครม.ต่างทราบกันดีว่า นายวิษณุ จะลาออกแน่นอน เพราะทราบกันมานานแล้วว่า นายวิษณุ อึดอัดและเชื่อว่า คงจะยื่นใบลาออกเร็วๆ นี้ เพียงแต่กำลังรอหาจังหวะที่เหมาะสมอยู่

ขณะที่ นายวิษณุกล่าวกับผู้สื่อข่าวถึงเรื่องนี้เพียงสั้นๆ ว่า "เอาไว้ให้อะไรมันชัดเจนก่อน รับรองมีความชัดเจนแน่นอน"

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์