กรุงเทพธุรกิจ
19 มิถุนายน 2549 19:33 น.
ศาลให้กกต.ประกันตัวคดี ´สุเทพ´ฟ้องปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กำหนดเงื่อนไขห้ามกกต. ใช้อำนาจหน้าที่ส่งคดีล่าช้า ฝ่าฝืนสั่งถอนประกันทันที ขณะที่ศาลนัดแถลงเปิดคดี 3 ก.ค.นี้ 09.00 น.
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันที่ 19 มิ.ย.49 ศาลนัดไต่สวนคำร้องคัดค้านยื่นขอประกันตัว คดีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายปริญญา นาคฉัตรีย์ , นายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. และ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ กกต. เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม และกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่พรรคการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 กรณีที่ กกต. ไม่จัดให้มีการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็ก ให้ครบทุกขั้นตอนและโดยเร็วเพื่อชี้มูลความผิด
โดยก่อนการไต่สวนนายสุเทพ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง พล.อ.จารุภัทร จำเลยที่ 4 ซึ่งให้เหตุผลว่า เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 4 ลาออกจากตำแหน่งแล้ว การดำเนินคดีจะไม่มีประโยชน์ต่อตัวโจทก์ จำเลย และประเทศชาติ ศาลสอบถามจำเลยที่ 4 แล้วไม่คัดค้าน จึงอนุญาตให้ถอนฟ้องคดีและให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 4 ออกจากสารบบความได้
ต่อมานายสุเทพ ชี้แจงเหตุผลการคัดค้านประกันตัวต่อศาลว่า เมื่อจำเลยที่ 1-3 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง เรื่อง การสอบสวนสั่งยุบพรรคการเมืองประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทยอยู่ โดยปรากฏข้อเท็จจริงว่าการส่งเรื่องยุบพรรคไทยรักไทยต่ออัยการสูงสุดที่ผ่านมา จำเลยที่ 1-3 ไม่ได้ชี้มูลความผิดอันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ.2541 ประกอบข้อบังคับ กกต.ว่าด้วยการสืบสวนสอบสวน พ.ศ.2542
กรณีดังกล่าวจึงเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อีกทั้งเอกสารส่วนใหญ่ที่ใช้ประกอบการพิจารณาคดีนี้ยังอยู่ในความครอบครองของสำนักงาน กกต. รวมทั้งพยานบุคคลของโจทก์จำนวน 3 ปาก ยังปฏิบัติหน้าที่ภายใต้บังคับบัญชาของสำนักงาน กกต. ดังนั้นหากจำเลยทั้งสามได้รับการประกันตัวและปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เกรงว่าจำเลยทั้งสามจะเข้าไปยุ่งเหยิงทำลายพยานหลักฐาน และคุกคามพยานโจทก์
โดยศาลเรียกพล.ต.อ.วาสนา และนายวีระชัย จำเลยที่ 1 และ 3 เข้าชี้แจง ซึ่ง พล.ต.อ.วาสนา แถลงว่า มูลเหตุคดีนี้โจทก์ ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. กล่าวหาพรรคไทยรักไทยว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กส่งรับสมัครเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 20 มี.ค.49 ซึ่งในวันเดียวกันจำเลยได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง
หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการฯสรุปผลให้แจ้งข้อกล่าวหากับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย และหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็กทั้ง 2 พรรค แต่จำเลยพิจารณาแล้ว พยานหลักฐานที่เกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่สมบูรณ์ จึงสอบถามคณะอนุกรรมการฯว่า มีข้อเท็จจริงและหลักฐานการสืบสวนสอบสวนส่วนใดปรากฏข้อเท็จจริงว่าพ.ต.ท.ทักษิณทำผิดบ้าง
ซึ่งคณะอนุกรรมการสอบสวนฯ ระบุว่าไม่มีแต่ปรากฏข้อเท็จจริงจากฝ่ายโจทก์ที่กล่าวหาว่าพล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย มีส่วนรู้เห็นหรือร่วมต่อการกระทำผิด ดังนั้นในฐานะที่ตนเคยมีประสบการณ์สืบสวนสอบสวนว่าการจะแจ้งข้อกล่าวหาหรือความผิด ควรต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเท่าที่มีอยู่ว่าผู้ถูกล่าวหากระทำผิด ไม่ใช่การรับฟังข้อมูลเพียงฝ่ายเดียวทั้งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 31
แต่เมื่อเรื่องนี้คณะอนุกรรมการฯ ไม่ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมกกต. จึงสอบสวนเอง และเมื่อได้รวบรวมข้อเท็จจริงประกอบพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้ว จำเลยจึงส่งเรื่องยุบพรรคไทยรักไทยให้อัยการสูงสุดดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 67 ซึ่งกฎหมายไม่ได้กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใน ฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ต้องมีมติชี้มูลความผิด แต่ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานยื่นให้อัยการสูงสุดดำเนินการส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค
พล.ต.อ.วาสนา ยังระบุด้วยว่า ส่วนเรื่องที่โจทก์อ้างว่า เอกสารหลักฐานคดีนี้อยู่ในความครอบครองของสำนักงาน กกต.และเกรงว่าเอกสารถูกทำลาย จำเลยยืนยันว่าเอกสารในคดีไม่ได้อยู่ในความครอบครองของกกต.แต่อยู่กับคณะอนุกรรมการสอบสวนกกต.ที่ได้ยื่นสำนวนยุบพรรคส่งให้อัยการสูงสุดแล้ว และจำเลยไม่ทราบว่าอัยการสูงสุดจะส่งกลับมาหรือไม่ หากส่งคืนจริงก็ต้องส่งให้คณะอนุกรรมการพิจารณาความเห็นอัยการเรื่องยุบพรรคก่อน
ดังนั้นการที่จำเลยจะทำลายหรือบิดเบือนเอกสารตามที่โจทก์กล่าวหาจึงเป็นไปไม่ได้ จำเลยมีภารกิจจำเป็นที่จะต้องปฎิบัติต่อเนื่อง 3 เรื่องเตรียมจัดการเลือกตั้งสภาท้องถิ่น เตรียมจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ส.ก. และพิจารณาเรื่องร้องเรียนและรับรองผล ส.ว. กว่า 60 เรื่อง
จากนั้นศาลได้สอบถามถึงมูลค่าความเสียหายการจัดเลือกตั้ง จำนวนประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวนบัตรเสียและผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน พล.ต.อ.วาสนา ชี้แจ้งว่า การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 ล้านบาท มีประชาชนออกมาเลือกตั้งประมาณ 20 ล้านคน มีจำนวนบัตรเสียและไม่ลงคะแนนประมาณ 10 ล้านเสียง
ขณะที่นายวีระชัย จำเลยที่ 3 ชี้แจ้งแก้ข้อสงสัยของศาลที่ต้องการทราบข้อมูลการฉีกบัตรเลือกตั้ง ว่าการที่มีผู้ฉีกบัตรเลือกตั้งไม่เกี่ยวกับการจงเกลียดจงชังจำเลย แต่น่าจะเกิดจากการไม่ชอบรัฐบาล และพรรคการเมืองที่ไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย ทำให้ระบบไม่สมบูรณ์
ศาลพิเคราะห์ข้อหาตามคำฟ้อง คำร้องคัดค้านการประกันตัว ประกอบคำแถลงของโจทก์และจำเลยที่ 1-3 แล้วเห็นว่า ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่ให้ประกันตัวจำเลยที่ 1-3 จึงอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยทั้งสาม โดยตีราคาหลักทรัพย์ที่จำเลยทั้งสามใช้ตำแหน่งประกันตัว วงเงินคนละ 1.2 แสนบาท และเมื่อจำเลยที่ 1-3 มีอำนาจกำกับดูแลสามารถให้คุณให้โทษเจ้าหน้าที่ในสำนักงาน กกต.ประกอบกับ พยานเอกสารส่วนใหญ่อยู่ในความครอบครองของสำนักงาน กกต.
นอกจากนี้พยานบุคคลของโจทก์ บางคนยังเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของจำเลยทั้งสาม ดังนั้นเพื่อประโยชน์แห่ง ความยุติธรรมจึงเห็นควรกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันภัยอันตราย หรือความเสียหายที่จะเกิดจากการ ปล่อยตัวชั่วคราว โดยห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสามกระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดที่จะก่อให้เกิดความล่าช้าเสียหายต่อการพิจารณาคดีของศาล เว้นแต่จะเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายและเนื่องจากข้อหาตามคำฟ้องเป็นเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยอันอาจส่งผลกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนในสถานการณ์ที่ไม่ปกติประชาชนขัดแย้งทางความคิดไม่รับฟังเหตุผลซึ่งกันและกันเช่นนี้
จึงเห็นสมควรดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเพื่อพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ของจำเลยทั้งสามโดยไม่ชักช้า ซึ่งน่าจะเป็นหนทางที่นำไปสู่ข้อยุติความขัดแย้งทางความคิดและนำมาซึ่งความสงบสุขในสังคมอันเป็นประโยชน์สูงสุด สำหรับคดีนี้ศาล นัดแถลงเปิดคดีวันที่ 3 กรกฎาคม เวลา 09.00 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ศาลยังสั่งกำชับด้วยวาจากับจำเลยทั้งสามว่า เมื่อทั้งสามยังมีอำนาจปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งก็ต้องประสานกับฝ่ายธุรการอำนวยความสะดวกให้โจทก์ในการติดต่อขอเอกสารเพื่อประกอบการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว จะขัดขวางให้การดำเนินกระบวนล่าช้าไม่ได้ โจทก์เองหาก ต้องการรายงานประชุมหรือมติเรื่องใดของจำเลยให้รีบดำเนินการ แต่หากปรากฏไม่ได้รับความร่วมมือให้มายื่นคำร้องต่อศาล หากปรากฏว่าจำเลยมีเจตนาทำให้กระบวนการล่าช้า ศาลจะมีคำสั่งถอนประกันทันที ซึ่งศาลจะยอมให้เกิดความล่าช้าไม่ได้ ทั้งสองฝ่ายต้องเร็ว ศาลจะไม่ปล่อยให้มีการเลื่อนคดีโดย ไม่มีเหตุผล จำเลยสามารถใช้สิทธิเลื่อนคดีโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายได้