หมายเหตุ : เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 8 กันายน คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มี นายชัช ชลวร เป็นประธานได้ออกนั่งบัลลังก์
ไต่สวนพยานผู้ถูกร้องในคำร้องที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนา ส.ว.สรรหาและคณะส.ว. รวมทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรี ของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เนื่องจากเป็นพิธีกรดำเนินรายการ "ชิมไปบ่นไป" ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) และมาตรา 267 ประกอบ 182 วรรคสาม และมาตรา 91 โดยพยานผู้ถูกร้องมี 2 ปากคือ นายศักดิ์ชัย แก้วมณีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด และนายสมัคร
อย่างไรก็ตาม ในการไต่สวนนายเรืองไกร ผู้รับมอบฉันทะจากฝ่ายผู้ร้องได้เป็นผู้ซักถามนายสมัครด้วยตนเอง โดยนายสมัครกล่าวตอบโต้คำถามบางคำถามอย่างดุเดือด
นายเรืองไกร : ในฐานะที่พยานเป็นนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งกล่าวอ้างไปว่าข้อกำหนดหมายถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 ใช่หรือไม่
นายสมัคร : เขาเขียนรายละเอียดไว้ให้ คนจะเป็นรัฐมนตรี เขามีรายละเอียดไว้ให้ว่าจะต้องไม่เป็นตามนั้น ถึงจะเป็นรัฐมนตรีได้
นายเรืองไกร : ขออนุญาตเรียกเป็นท่านนายกฯ แล้วกัน ให้เกียรติท่าน ตั้งแต่รับตำแหน่งมาท่านนายกฯ เพิ่งกล่าวไป ก็มีการไปบันทึกรายการบ้าง จนกระทั่งมีคนทักท้วง หมายความว่าตั้งแต่รับตำแหน่งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ (2551) ก็มีการไปทำรายการ เทปที่บอกว่าถ่ายครั้งหนึ่งใช้เวลาตั้งแต่เช้าถึงบ่าย ครั้งละ 4 ช่วง พอมีคนทักท้วง การทักท้วง ผมในฐานะผู้ร้องได้ทักท้วงเมื่อเมษายน ตอนยังไม่เป็นข่าว แต่มาทราบว่ายกเลิกเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ซึ่งก็เป็นช่วงหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์จนถึงวันที่ 18 พฤษภาคม 51 ก็เป็นระยะเวลาพอสมควร ซึ่งน่าจะเป็นช่วงที่ท่านได้ทำรายการไปบางส่วนแล้ว ใช่ไหมครับ
นายสมัคร : ใช่ ก็เมื่อผมไม่ได้คิดว่ามันเป็นความผิด เพราะทางทนายเขาบอกมา บอกว่าทำได้ เราเป็นรับจ้างไม่ใช่ลูกจ้าง ก็ทำไป แต่ได้บอกเขาไปแล้วว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ ต้องหาคนมาทำ พอเป็นนายกรัฐมนตรีก็ควรจะไม่ไปทำรายการ แต่นี่ความผูกพันมาตั้ง 7-8 ปีแล้ว ก็ต้องทำ ก็ทำกันจนคุ้นเคยกันแล้ว
นายเรืองไกร : รายการชิมไปบ่นไปเท่าที่ทราบ ทำมาประมาณ 7 ปี ใช่ไหมครับ เพราะมีการไปจัดทำครบรอบ 7 ปีชิมไปบ่นไป ก็เป็นการจัดรายการใหญ่โต ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ ครั้งนั้นทางบริษัท เฟซ มีเดีย เป็นเจ้าภาพจัดรายการ มีการเชิญท่านนายกฯ ไปทำรายการและพิธีกร ชื่อรายการ"ข้าวผัดพันธมิตร" ถูกต้องไหมครับ
นายสมัคร : ผมไม่ได้ไปทำรายการ เขาเชิญสปอนเซอร์ทั้งหลายมาทำข้าวผัด แล้วก็เชิญผมไปตรวจสอบชิมของใครอร่อย ผมไม่ได้ทำ
นายเรืองไกร : แต่ว่าท่านไปหรือไม่
นายสมัคร : อ่อ เขาเชิญมา ไม่เห็นมีอะไรเสียหายนี่ครับ
นายเรืองไกร : การทำรายการยกโขยง 6 โมงเช้า จำได้ว่าเมื่อประมาณกลางเดือนสิงหาคม 2550 ตอนนั้นท่านยังไม่ได้เป็นนายกฯ แต่น่าจะมีฐานะเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชนแล้ว น่าจะถ่ายทำรายการยกโขยง 6 โมงเช้าที่สิงห์บุรี แล้วมีเหตุการณ์หนึ่งที่ผู้สื่อข่าวจะจำกันได้ดี เนื่องจากลื่นหกล้ม คิ้วข้างซ้ายแตก เป็นความจริงไหม
นายสมัคร : แล้วมันเป็นอย่างไง ก็มันเป็นข่าวรู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองแล้วมันเป็นยังไง ก็เป็นอย่างนั้น เอาล่ะ เอาล่ะ
นายเรืองไกร : จนกระทั่งพยายามไกล่เกลี่ยว่า ผู้ซักพยานถามพยานว่ามันมีเหตุการณ์อย่างนั้นขึ้นจริงหรือไม่
นายสมัคร : เกิดขึ้นจริง คิ้วแตกจริง
นายเรืองไกร : ในการยื่นแสดงภาษีหัก ณ ที่จ่าย ของบริษัท เฟซ มีเดีย ในฐานะที่ท่านนายกฯ ตอนนั้นยังไม่ได้เป็นนายกฯ เขียนไว้ว่าเป็นพิธีกร ไปหักภาษี ณ ที่จ่าย จะหักไว้ร้อยละ 5 ครั้งละประมาณ 1 แสนเศษ ด้วยการหารด้วย 0.95 อย่างที่เคยสอบถามในศาลรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่ที่น่าสังเกตุก็คือว่าการหักภาษีทั้งหมด ท่านนายกฯ จะสูงอยู่ในลำดับต้นๆ หาไม่พบว่ามีคนใดที่มากกว่าท่าน เหตุที่ท่านได้รับเงินสูง เพราะว่าท่านมีความสำคัญกับบริษัทเฟซ มีเดีย ใช่หรือไม่
นายสมัคร : ผมจะถามก่อนว่ามาถามผมอย่างนี้ มันเกิดเหตุตั้งแต่เมื่อไร ที่ว่ามีภาษีสูงอะไรต่างๆ พอผมเป็นนายกฯ วันที่ 6 กุมภาพันธ์แล้วมันมีไหม ก่อนหน้านั้นมันเกี่ยวอะไรกับผม ผมไม่ต้องมีสถานะอะไรต้องพิจารณา ผมจะไปทำอะไร ผมจะได้อะไรขนาดไหน มันไม่เกี่ยวข้อง คุณจะต้องพิสูจน์สิว่าหลังจากวันที่ 6 กุมภาพันธ์แล้ว ผมไปมีรายได้มากมายก่ายกองขนาดนั้น ไปดูสิมันมีไหม
นายเรืองไกร : จะถามต่อไปนี่แหละครับ
นายสมัคร : ก็ถามต่อสิ
นายเรืองไกร : ก่อนหน้านั้นได้รับ ถูกต้องไหมครับ
นายสมัคร : ได้รับ ก็เรื่องของผม มันเรื่องของผม ผมยังไม่เป็นนายกรัฐมนตรี
ขณะที่นายธนา เบญจาธิกุล ทนายฝ่ายผู้ถูกร้อง กล่าวสรุปว่า ขณะนี้เขาก็ถามความเป็นมาว่า ก่อนหน้านี้มันมีเงินได้สูงขนาดนี้จริงไหม ท่านนายกฯ ก็ตอบว่ามันก็ได้จริง แต่มันก็ไม่เกี่ยวกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
นายเรืองไกร : หลังจากรับตำแหน่ง ท่านก็ไปรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บอกว่าไม่ได้รับแล้ว แต่ได้รับเป็นค่าน้ำมันรวมกับค่าสิ่งของได้ซื้อบ้าง
นายสมัคร : ผมว่าจะเลิกทำอยู่แล้วหลังจากนั้น ก็ไม่ได้รับอะไร
นายเรืองไกร : ที่เรียนถามหมายถึงว่าท่านได้รับครั้งละ 5,000 บ้าง 2,000 บ้าง อันนี้ถูกต้องไหมครับ
นายสมัคร : เขาให้กับคนขับรถเป็นค่าน้ำมันรถ ถ้าไปดูจ่ายกับข้าว เขาก็จ่ายค่ากับข้าวให้ด้วย
นายเรืองไกร : เขาไม่ได้จ่ายตามที่ท่านได้จ่ายไปจริง เช่นค่าน้ำมัน 500 เขาก็จ่ายมา 500 บาท เนื่องจากพยานของฝ่ายบริษัทเฟซ มีเดีย บอกว่าเข้าลักษณะเหมาจ่าย ถูกต้องหรือไม่
นายสมัคร : เหมาจ่าย ผมไม่รู้จัก ใครจะมาเหมาอะไร เขาจะให้หรือไม่ให้ก็ไม่เคยติดตามดู คนที่เขาขับรถก็ได้รับเงินค่าน้ำมัน ค่าอะไรต่างๆ รายการของผมเนี่ย ผมไม่เคยเรียกร้องแม้แต่บาทเดียว ผมไม่เคยเกี่ยวข้อง เขาไม่ให้ผมก็ทำ เพราะผมชอบทำของผม เมื่อมันเลิกผมก็ต้องเลิก ก็ไปตรวจสอบดูสิว่าผมได้หรือเปล่า ตอนผมเป็นนายกฯแล้ว ดูสิว่าผมรับเงินเขาหรือเปล่า
นายเรืองไกร : รายการที่ท่านทำหลังจากเป็นนายกฯ แล้ว ก็ฟังได้ว่าท่านทำเหมือนเดิม ต่างกันเพียงแต่ว่า ก่อนเป็นนายกฯ ถ้าบริษัทให้มาแสนกว่าบาท ท่านก็รับ หลังจากเป็นนายกฯ ถ้าให้มา 5,000 ท่านก็รับ ถูกไหมครับ
นายสมัคร : ฮะ
นายเรืองไกร : แต่ ณ วันนี้ ท่านยอมรับว่า คนรับคือตัวนายกรัฐมนตรี
นายสมัคร : ใช่ เขาก็ให้คนที่ขับรถเป็นค่าเติมน้ำมัน กับค่ากับข้าว ผมไม่ได้เกี่ยวข้องแล้วมันจะเป็นได้อย่างไร
นายเรืองไกร : ไม่ได้ครับ ต้องให้ตุลาการฯ พิจารณา ปัญหามันตามต่อมา บริษัทตัวแทนก็มาบอกว่ารายได้ไม่ต่างกัน แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งต้นทุน ถ้าท่านเป็นพิธีกร ขณะยังไม่ได้เป็นนายกฯ ต้องเสีย 1 แสนบาท แต่หลังจากเป็นนายกฯ แล้ว เหลือ 5,000 บริษัทได้รับประโยชน์ ถ้ารายได้เท่าเดิม ยกตัวอย่าง ตอนละ 5 แสนบาท ต้องจ่ายค่าพิธีกร 1 แสนก็จะเหลือกำไร 4 แสน แต่หลังจากเป็นนายกฯ ในขณะทำรายการก็ได้ 5 แสนเท่ากัน โดยไม่ต้องท่าน 1 แสน บริษัทก็จะมีกำไรอีก 1 แสน ในจำนวนที่เท่ากัน บริษัทได้รับประโยชน์ จากการกระทำในฐานะที่ทุกคนก็รู้ว่าท่านคือนายกรัฐมนตรี ใช่หรือไม่
นายสมัคร : ไม่ใช่หรอกครับ ผมไม่เคยสนใจเรื่องพรรค์อย่างนี้เลย ไม่เคยเห็นเรื่องเงินเป็นสาระสำคัญเลย แล้วผมก็บอกว่าเรื่องนี้ต้องพิสูจน์กันว่าหลังจากวันที่ผมรับตำแหน่ง ผมรับจากเขาหรือเปล่า ผมไม่ได้เคยรับ แล้วผมก็เลิก พอมีคนบอกมาผมก็เลิก ก็เตรียมจะเลิกอยู่แล้ว เขาถามจะทำไหม ผมบอกว่าคุณเตรียมหาไว้เหอะ คนมาแทนตำแหน่ง แต่ว่าที่ผมทำเพราะไม่คิดว่ามันผิด เพราะทนายบอกว่าเป็นเรื่องรับจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้าง ในข้อบังคับบอกว่าเป็นลูกจ้างบอกว่าผิด แต่รับจ้างไม่เป็นไร ผมก็แน่ใจว่าไม่ได้ทำอะไรผิด และผมก็ไม่เห็นว่าจะเป็นสาระสำคัญอะไรหนักหนากับเรื่องนี้ ผมทำเพราะว่าผมเห็นว่ามันไม่ผิดผมถึงทำ พอมีคนทักท้วง ผมก็หยุด ถ้าจะทำคดีก็มาสู้กัน มาสู้กันในนี้ ก็พิสูจน์ว่ามันเป็นลูกจ้างหรือรับจ้างเท่านั้นเอง เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรอื่น
ต่อมา องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกล่าวว่า ถ้าในเชิงเหตุเชิงผลหมายความว่า ศาลวินิจฉัยได้ โดยดูจากข้อต่อสู้และข้อกล่าวหา ฉะนั้นในสิ่งที่ผู้ร้องถาม ขอให้ถามในคำถามอื่นที่เกี่ยวข้อง และส่วนข้อมูลอะไรคืออะไรนั่นคือข้อเท็จจริง ส่วนข้อเท็จจริงอย่างนี้ บริษัทเขาเคยจ่าย 1 แสนแล้วมาจ่าย 5,000 3,000 ใครได้ประโยชน์ มันเกี่ยวคดีอย่างไร ไม่ต้องมาถามให้ท่านนายกฯ เสียเวลาตอบ และกวนอารมณ์ท่านด้วย เพราะฉะนั้นเอาเฉพาะถามแค่ว่า ตรงนี้ท่านทำหรือไม่ ทำจริงหรือไม่จริง ทำแล้วท่านได้อะไรไหม ท่านไม่ได้ตอบว่าท่านไม่ได้ก็จบ ส่วนจะน่าเชื่อถือ จะขัดแย้งกับอะไรหรือไม่ เอาไว้ให้ศาลวินิจฉัยได้
นายเรืองไกร : ขอประทานโทษครับ คงต้องย่อลงนิดนึง รายการที่ได้วัตถุพยานที่ได้จากศาล เริ่มตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน ท่านนายกฯ ในฐานะพิธีกรพูดเหมือนกันว่า "ผมนายสมัคร สุนทรเวช ถ้าชอบผม กรุณาดูรายการผมด้วยนะครับ" สรุปความหมายของคำนี้ หมายถึงว่ารายการนี้ ท่านมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะดูแลจัดการใช่หรือไม่
นายสมัคร : ไม่ใช่ เป็นการโฆษณา ใครก็อยากให้ใครมาดูรายการ สำนวนบอกชอบผมก็ดูรายการผม ก็เท่านั้น ไม่เห็นเป็นอย่างไร
นายเรืองไกร : มีคนแบ่งรายการชิมไปบ่นไปเป็น 3 ช่วง ขอเรียนถามว่าเคยเชิญแขกรับเชิญที่เป็นคุณวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ (กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัท ง่วนสูน จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์พริกไทยตรามือที่ 1) มาหรือไม่
นายสมัคร : เคยฮะ พวกสปอนเซอร์ได้รับเชิญทั้งนั้น บริษัทที่เขาสนับสนุนต้องได้รับเชิญ เพราะรายการเขาจะแนะนำสินค้าใหม่ว่าอะไรเป็นอย่างไร ผมก็คุยธรรมดาว่าอะไรมันน่าใช้ อันไหนมันน่ากิน อะไรมายังไง ใครทำอย่างไร ผลิตอย่างไร เพราะรายการนี้เขาคุยกันให้คนรู้ว่ามันมีผลิตภัณฑ์อะไรที่มันน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องอาหารการกินเท่านั้นเอง ผมยังยืนยันว่าที่ทำไป เพราะผมเห็นว่ามันไม่ผิด ผมถึงทำ ที่ผมพูดอะไรต่างๆ ในเทปไป ผมไม่ปฎิเสธ มันไม่เกี่ยวอะไรด้วย แต่ผมทำเพราะรู้ว่ามันไม่ผิด และทนายเขาบอกว่าเป็นรับจ้างไม่ใช่ลูกจ้าง ที่ถามคุณวิศิษฎ์ตั้งแต่ก่อนผมเป็นนายกฯ อีก มาคุยกัน พอวันที่ผมเป็นนายกฯ แล้ว รายการก็มาวันสงกรานต์ เขาก็มา เรียกแกมาคุยก็คุย ไม่เห็นเป็นปัญหาเลย คุณวิศิษฎ์เป็นคุณวิศิษฎ์ ไม่ได้มาเกี่ยวข้อง แล้วเที่ยวไปว่ากล่าวว่าผมไปตั้งให้เป็นกรรมการบริษัท เขามีหลักฐาน เพราะสภาอุตสาหกรรม เขาเลือกของเขามา ผมไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย มาว่ากล่าวผม
นายเรืองไกร : ผมยังไม่ได้พูดถึงเรื่องการบินไทยเลยครับ
นายสมัคร : มีคนว่ากัน ผมพูดซะเลยไม่มีปัญหา ถามเลียบเคียงจะถามทำไม จะมาหรือเปล่า ถามทำไม ว่าผมมีอะไรกับคุณวิศิษฎ์ใช่หรือไม่ จะถามอย่างนี้ใช่ไหม เอาถามต่อ
นายเรืองไกร : ท่านนายกฯ ถามว่าจะถามทำไม เพราะคราวที่แล้วคุณวิศิษฏ์ได้แถลงต่อศาลว่านานมาแล้ว
นายสมัคร : ผมไม่ลืมหรอกว่าคุณวิศิษฎ์มา วันที่เขาทำสงกรานต์คุณวิศิษฎ์ก็มา
นายเรืองไกร : จะเรียนให้ศาลทราบว่า วันที่ 26 เมษายนเป็นช่วงที่เชิญคุณวิศิษฎ์มา แต่คราวที่แล้วบอกว่านานมาแล้ว แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่ตรงกัน
นายสมัคร : นานมาแล้ว เขาก็เคยมา วันที่ 26 เมษายนเขาก็มาอีก แต่ว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด ผมว่าผมก็ทำไป มันก็ไม่ถึงกับเป็นความผิด ไม่ปฏิเสธหรอกมันลึกลับซับซ้อนขนาดไหน เขาก็มา มานั่งคุยตามรายการเขาจัดไว้ให้ ผมไม่ได้เป็นคนเชิญด้วย ใครมานั่งคุยผมก็คุยด้วย
จนกระทั่งเมื่อถึงคำถามสุดท้าย นายเรืองไกร ถามว่านายกฯ จำรายละเอียดในรายการยกโขยง 6 โมงเช้าได้หรือไม่ นายสมัคร กล่าวว่า
"ผมจำได้ทั้งหมดในเทป ผมไม่ปฏิเสธ มีอะไรก็เอาออกมา ผมไม่ได้ทำอะไรผิด คุณจะทำอย่างไรก็ตามแต่ หลักฐานอะไรคุณเอาไปให้ศาลให้หมด ที่ผมทำเพราะผมคิดว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด เขาวินิจฉัยว่าผมเป็นรับจ้าง จะถามอะไรไม่ต้องถามแล้ว ตามในนั้นหมด มีอะไรตามในนั้น ตามนั้นหมด กี่เทปๆ ส่งให้ศาลไป ผมรับตามนั้นทั้งหมด"
วิวาทะสมัครโต้คารมเรืองไกรกลางศาลรัฐธรรมนูญ กลับตาลปัตรจากจำเลยเป็นโจทก์
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวการเมือง วิวาทะสมัครโต้คารมเรืองไกรกลางศาลรัฐธรรมนูญ กลับตาลปัตรจากจำเลยเป็นโจทก์