ประชาธิปไตยคืออะไรพ่อแม่ต้องสอนลูกยามม็อบ

การเมืองร้อนระอุ ! เกิดกรณี ไทยฆ่าไทย จนหลายฝ่ายเกรงว่าความขัดแย้งระดับชาติอาจลุกลามเข้าสู่ "ครอบครัว" เป็นสาเหตุทำให้ "ครอบครัว" ไร้ความสงบสุข อันเนื่องจาก "ความเห็นต่าง"


จำเป็นต้องมีการจัดการความไม่ลงรอยในครอบครัวให้ได้ เหนืออื่นใดพ่อแม่ต้องสอนและอธิบายสภาพบ้านเมืองให้ลูกเข้าใจ 


พญ.วราพรพันธุมโกมล กุมารแพทย์คลินิกวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน เหมือนเป็นดาบสองคม 

เด็กและวัยรุ่นจำนวนมากอาจไม่เข้าใจ พ่อแม่ต้องบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ลูกเข้าใจ อธิบายความหมายของการปกครองระบอบประชาธิปไตย ว่าไม่ได้มีแค่การเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปบริหารประเทศเท่านั้น ต่อเมื่อผู้แทนที่เลือกเข้าไปปฏิบัติไม่ดี ประชาชนมีสิทธิตามระบอบประชาธิปไตยที่จะชุมนุมไม่ให้ผู้แทนบริหารประเทศอีกต่อไป เพราะเกรงว่าบ้านเมืองอาจจะพินาศ แต่การชุมนุมต้องสงบ ไม่มีการใช้อาวุธ เคารพกฎหมาย

สิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่พ่อแม่ควรจะสอนลูกก็คือ ไม่มีอำนาจหรือบุคคลหรือสิ่งใดจะยิ่งใหญ่เท่าเสียงของประชาชน แม้เป็นคนที่เราเลือกเข้าไป แต่เมื่อไม่เหมาะสมที่จะบริหารประเทศ ประชาชนมีสิทธิตามกฎหมายในการไถ่ถอน ต้องให้เขารู้ว่าเขามีสิทธิอะไรบ้างตามรัฐธรรมนูญ พญ.วราพรกล่าว  


พญ.วราพร แนะนำด้วยว่า หากพ่อแม่อยู่คนละฝ่ายกับลูก ต้องหลีกเลี่ยงการปะทะคารมภายในครอบครัวต่อหน้าลูก 

ต้องยึดมั่นความคิดเห็นต่างกัน เป็นความสวยงามตามระบอบประชาธิปไตย พ่อแม่ต้องใจกว้างเมื่อลูกเห็นต่าง ต้องภูมิใจที่ลูกมีความคิดเห็นของลูกเอง ไม่ใช่บีบคั้นให้ลูกเชื่อตาม ซึ่งอาจทำให้ลูกและพ่อแม่ห่างเหินกันมากขึ้น
"เมื่อลูกเครียดต้องดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด รับฟังเขาทุกเรื่อง และควรแนะนำให้ไปทำกิจกรรมอื่นๆ บ้าง เช่น เล่นกีฬา ดนตรีหรืองานศิลปะ เพื่อไม่ให้หมกมุ่นกับเรื่องการเมืองจนเกินไป สำหรับเด็กและวัยรุ่นเองเมื่อรู้สึกว่าเครียดจนจะรับไม่ไหว สามารถโทรปรึกษาได้ที่ฮอตไลน์โรงพยาบาลรามาธิบดี 08-7053-5500 ตลอด24 ชั่วโมง"พญ.วราพร ชี้แนะ


ขณะที่ พญ.พรรณพิมลหล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่าการเมืองเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น พ่อแม่ควรใช้ให้เป็นกระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน ตนส่งเสริมและสนับสนุนให้พ่อแม่พูดคุยกับลูกเรื่องประเด็นทางการเมือง แต่ไม่ใช่ทะเลาะกันเพื่อเอาชนะกัน ถือเป็นสิ่งที่ดี เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน แต่ไม่ใช้อำนาจบังคับให้เชื่อ เช่น คุณเป็นลูก เป็นภรรยา ต้องชอบเหมือนสามี แต่ควรสอนให้เขารู้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีความคิดเห็นต่างกันได้ และประชาชนมีสิทธิใดบ้างตามกฎหมาย
 

"วัยรุ่นอาจมีอารมณ์ร่วม มีอุดมการณ์ จนนำมาสู่การรวมเป็นกลุ่มก้อนของเยาวชน เพื่อแสดงจุดยืนในอุดมการณ์ของกลุ่มตนเอง เช่น กรณีนักเรียนโรงเรียนโยธินบูรณะ เคลื่อนไหวคัดค้านการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นประสบการณ์ที่ดี ผู้ใหญ่ไม่ควรขัดขวาง อีกทั้งการแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องการเมืองระหว่างพ่อแม่ลูก เป็นการระบายความตึงเครียดจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ได้ทางหนึ่ง พญ.พรรณพิมลกล่าว


ปิดท้ายที่พญ.อัมพรเบญจพลพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 ให้คำแนะนำการสอนลูกในสภาพการเมืองเช่นนี้ว่าการแสดงความรักชาติของพ่อแม่สามารถพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับลูกได้ 

แต่พ่อแม่ไม่ควรพาลูกที่ยังเป็นเด็กเล็กไปร่วมชุมนุม เนื่องจากการชุมนุมที่มีความแออัด มีการเร้าอารมณ์ เด็กจะถูกปลุกเร้าอารมณ์และเห็นภาพความรุนแรง จะทำให้เด็กตกใจ หวาดกลัว และชาชิน สิ่งเหล่านี้มีทั้งภาษากายและภาษาพูด ไม่น่าเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็ก 
พ่อแม่ต้องสอนให้ลูกเข้าใจว่าความคิดเห็นที่ต่างอาจเกิดขึ้นได้ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยยกตัวอย่างให้ลูกเห็นว่า เมื่อลูกอยากกินขนมนี้ แต่พี่น้องคนอื่นๆ อยากกินขนมอีกอย่างหนึ่ง ลูกอาจจะเกิดความขัดใจบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับในความต่างและยังสามารถพูดคุยกันได้เป็นปกติ ไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง พญ.อัมพรกล่าว


พญ.อัมพร แนะเพิ่มว่า การพาลูกไปม็อบไม่ใช่การเรียนรู้วิถีประชาธิปไตยที่ถูกต้อง ควรให้ลูกเรียนรู้ผ่านข้อมูลข่าวสารบ้านเมือง จากสื่อที่นำเสนอความจริง พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ต้องกรองสื่อให้เด็กก่อนระดับหนึ่ง ยิ่งเป็นวัยรุ่นที่มีความคิดเห็นที่สุดโต่ง ผู้ใหญ่ต้องให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดเพื่อระงับความสุดโต่ง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์