พล.ต.ท.วิเชียรโชติสุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดเฉพาะกิจ
ที่กองบัญชาการกองทัพไทย เมื่อวันที่ 4 กันยายน ว่า สำนักนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องออกประกาศตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) อีก 2 ฉบับ จึงต้องเรียกประชุม ครม.ให้รับทราบและเห็นชอบตามประกาศนี้ภายใน 3 วัน
ประกาศฉบับแรก คือการจัดตั้งกองอำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ กอฉ. โดยผ่านความเห็นชอบของ ครม. ทั้งนี้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งจัดตั้ง กอฉ.ขึ้น โดย กอฉ.ประกอบด้วย ผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้อำนวยการ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองผู้อำนวยการ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นรองผู้อำนวยการ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ รองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น
ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการเป็นกรรมการและเลขานุการ เสนาธิการกองทัพภาคที่ 1 เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ข้าราชการตำรวจ และข้าราชการพลเรือนตามผนวก เป็นเจ้าหน้าที่ รวมทั้งสิ้น 19 ตำแหน่ง
กอฉ.มีอำนาจหน้าที่ดังนี้
1.เป็นหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
2.จัดให้มีหน่วยงานหรือศูนย์ปฏิบัติการเพื่อเป็นองค์ประกอบปฏิบัติการภายใต้ กอฉ. ให้มีอำนาจในการแก้ไขปราบปรามยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามที่ได้รับมอบหมาย
3.ดำเนินการทางด้านการข่าว
4.ดำเนินการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อทำความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งปฏิบัติการด้านจิตวิทยาที่เกี่ยวข้อง สำหรับการดำเนินการข่าวกรองนั้น ให้ดำเนินการด้านการข่าวและต่อต้านข่าวกรองที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ฉุกเฉินและที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
5.จัดกำลังตำรวจและทหารดำเนินงานตามแผนรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญและสถานที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งประสานส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นเจ้าของสถานที่ดำเนินการป้องกันตัวเองตามความสามารถ
6.มอบหมายให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนกำลังพล งบประมาณ วัสดุ ครุภัณฑ์ ยานพาหนะ และเครื่องมือต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน
7.เรียกให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ เข้าประชุมชี้แจงให้ข้อมูลข่าวสารตามที่เห็นสมควร
8.แต่งตั้งคณะที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามความจำเป็น
9.ดำเนินการอื่นๆ ตามที่นายกรัฐมนตรี หรือ ครม.มอบหมาย
ประกาศฉบับที่สอง เป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ ครม.ตามกฎหมาย เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ภายหลังมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร
โดยประกาศฉบับนี้ให้รัฐมนตรีและครม.มอบอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวง โอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือแก้ไข ป้องกัน ปราบปราม ระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในท้องที่ที่ประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยจะมีกฎหมาย 20 ฉบับประกอบด้วย
1.พระราชบัญญัติจัดระเบียบข้าราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551
2.พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.2493
3.พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547
4.พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522
5.พระราชบัญญัติควบคุมโภคภัณฑ์ พ.ศ.2495
6.พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2520
7.พระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2522
8.พระราชบัญญัติควบคุมอาหาร พ.ศ.2522
9.พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493
10.พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535
11.พระราชบัญญัติการจราจรทางบก พ.ศ.2522
12.พระราชบัญญัติการสุรา พ.ศ.2493
13.พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522
14.พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535
15.พระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ.2485
16.พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490
17.พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.2499
18.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคม
19.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนและสอบสวน และการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ
20.ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร การเคลื่อนกำลังทหารและการเตรียมพร้อม พ.ศ.2545
ประกาศ ณ วันที่ 4 กันยายน 2551
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ลงนาม