หากเอ่ยชื่อ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ณ เพลานี้ ทุกคนล้วนย่อมรู้จักเขาเป็นอย่างดีแน่แท้
ผู้ซึ่งมีบทบาทในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองมาหลายเหตุการณ์สำคัญ ต่อการขับไล่รัฐบาล ถึง 3 รัฐบาล เริ่มจากรัฐบาลของพล.อ.สุจินดา คราประยูร เมื่อพ.ศ. 2535 จนกลายเป็นเหตุการณ์นองเลือดที่คนไทยมิอาจลืม ภายใต้ชื่อพฤษภาทมิฬ 2535
ครั้น เหตุการณ์ในบ้านเมืองดำเนินมาได้ด้วยดีเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี เมื่อถึงปลายยุคการบริหารประเทศของรัฐาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2548-49 ก็วิกฤตการณ์การเมืองในประเทศขึ้นมาอีก เมื่อกลุ่มชนชั้นกลางหลายองค์กรที่ตั้งตนภายใต้ชื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นำโดย 5 แกนนำหลัก ซึ่งมีพล.ต.จำลองรวมอยู่ด้วย รวมถึง สนธิ ลิ้มทองกุล ,พิภพ ธงไชย ,สมศักดิ์ โกศัยสุข ,สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ โดยมี สุริยะใส กตะศิลา เป็นผู้ประสานงาน รวมตัวเพื่อกดดันขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี เนื่องจากเห็นว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจส่วนตัวและคนสนิทรวมถึงประพฤติผิด ที่ไม่สมควรในการเป็นผู้บริหารประเทศ โดยมีประชาชนเรือนหมื่น เรือนแสน เข้าร่วมชุมนุมด้วยการแต่งการใส่เสื้อเหลือง โพกผ้าคาดศรีษะ และจัดชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองไปยังสถานที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยวาทะลีลาการด่าทอรัฐบาลอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน อันเป็นสไตล์ของพันธมิตร จนกระทั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค) ได้เข้าทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ พันธมิตรฯ จึงได้แยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง
พันธมิตรฯ นำโดยพล.ต.จำลอง และแกนนำทั้ง 4 กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมของนายสมัคร สุนทรเวช โดยมีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ และเมื่อพ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับมายังประเทศไทย หลังจากระหกระเหินอยู่ต่างประเทศ มานับแรมปี พันธมิตรได้ส่อสัญาณที่พร้อมจะออกมาต่อต้านระบบทักษิณ เก่าให้หมดไป และเมื่ออดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ กลับมาถึงดินแดนมาตุภูมิ สถานการณ์การเมืองไทยก็เริ่มระอุทวีองศาขึ้นมาเรื่อยๆ เมื่อมีคำสั่งโยกย้าย อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ , ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ , อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภายใต้ข้อกังขาว่า คำสั่งต่างๆ อาจเป็นการแทรกแทรงกระบวนการยุติธรรม
ประกอบกับรัฐบาลนายสมัคร ได้ประกาศกร้าวว่า จะลุยหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อเป็นการนิรโทษกรรมให้กับอดีต 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ที่ถูกแช่แข็งห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่มีคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งความพยายามของพันธมิตรฯ ในการปลุกระดมประชาชนให้เห็นต่างกับสิ่งที่รัฐาลคิดมีขึ้นอยู่เรื่อยๆ
จนกระทั่ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 พฤษภาคม พันธมิตรฯ ได้จัดรวมตัวชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 รวมทั้งมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อถอดถอน ส.ส. ส.ว. ที่เข้าชื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากนั้น 5 แกนนำ ได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล ในเวลาค่ำ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดกั้นไว้ที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ จึงกลายเป็นที่มาของพันธมิตรฯ ที่ยืนยันจะปักหลักปิดถนนราชดำเนินนอก ตั้งแต่บริเวณหน้าสำนักงานสหประชาชาติ จนถึงแยก จ.ป.ร. บริเวณหน้ากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมทั้งชาวกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่ปลุกระดมฮือไล่รัฐบาลชุดนี้ให้พ้นๆ ไปเช่นเดียวกับรัฐบาลทักษิณ
การชุมนุมดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับการเข้าร่วมของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ และในวันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551 จึงได้เคลื่อนขบวนไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล และชุมนุมต่อบนถนนพิษณุโลก จากนั้นก็มีการปฏิบัติการตามยุทธศาสตร์ดาวกระจายไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและความถูกต้องให้เกิดขึ้นกับบ้านเมือง ไม่ว่าจะเป็นกรณีปราสาทพระวิหาร การเรียกร้องความเป็นธรรมและให้กำลังใจต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้กเดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
จนมาถึง วันที่ประวัติศาสตร์ ต้องจารึกอีกครั้ง จากการเคลื่อนพลครั้งใหญ่ของพันธมิตรฯ ในทุกภาคของประเทศไทย ที่เคลื่อนพลเข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อเช้ามืดของ 26 สิงหาคม จากปฏิบัติการเป่านกหวีดบุกเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาล ในการกดดันให้รัฐบาลลาออกทั้งคณะ และการทวงสมบัตติของชาติคืนสู่ประชาชนคือ สถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย หรือ เอ็นบีที ที่ถูกครอบงำโดยรัฐบาล จนกระทั่งสมาคมนักข่าวและหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ต้องออกมาถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนอย่างรุนแรงและอุกอาจที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะมีการคุกคาม ข่มขู่และขัดขวางการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมถึงการบุกปิดล้อมยังสถานที่ราชการสำคัญๆ ต่างๆ
เหตุการณ์ครั้งนี้ ไม่นับว่ารุนแรงเหมือนเช่นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ แต่ดูเหมือนว่า แกนนำทั้ง 5 จะไม่ยอมหยุดอยู่เพียงเท่านี้ พวกเขา ประกาศชัยชนะและไปยึดตั้งเวทีปราศรัยอยู่ที่บริเวณหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนับเป็นศูนย์บัญชาการขับเคลื่อนกำลังพลของผู้ที่ต่อต้านรัฐบาลอย่างเหนียวแน่น แม้นายกฯ สมัคร จะประกาศกร้าวให้ผู้ชุมนุมกลับบ้าน ถ้าไม่อยากเดือดร้อนเนื่องจากพวกเขาอาจต้องโทษในการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย แต่ดูเหมือนว่า ทีท่าของคลื่นมหาชนที่เรียกตนว่าพันธมิตรฯ จะไม่ลดราวาศอกได้ง่ายๆ
สนธิ จำลอง สมศักดิ์ พิภพ สมเกียรติ แกนนำทั้ง 5 ยังคงผงาดที่จะเป็นเสาหลักของการเป็นศุนย์กลางของผู้ชุมนุม แม้พวกเขาจะถูกศาลอาญา รัชดาภิเษก อนุมัติหมายจับ ตามที่พนักงานสอบสวนเสนอออกหมายจับ ในความผิดฐานใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งโทษฐานนั้นคือการเป็นกบฏ มีโทษถึงประหารชีวิต ก็ตาม
ทั้งนี้ เมื่อนำเหตุการณ์มาเทียบกัน ในท่าทีของ พล.ต.จำลอง ก่อนศาลอนุมัติหมายจับ เขา ได้อาศัยกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นเสมือนเกราะกำบังให้ตนหนีรอดจากการเล่นงานทางกำหมาย เขาเดินลงจากเวทีแล้วมานั่งอยู่ท่ามกลางวงชุมนุม ซึ่งถ้าหากย้อนเวลาไปเมื่อ 16 ปี ที่แล้ว ก็เป็นการกระทำเฉกเช่นเดียวกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่ถูกจับขณะที่อยู่รายล้อมด้วยมวลชน พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีจะให้ตำรวจมาจับโดยไม่หนีไปไหน
เหมือนเป็นการฉายหนังเก่า ที่รื้อย้อนมาเล่าใหม่ แม้เวลาจะผ่านไปนาน ภาพอาจลางเลือน แต่ย่อมอยู่ในบันทึกความจำของผู้ที่เฝ้าดูเหตุการณ์วันนั้นได้ดี และมาวันนี้ ลักษณะการกระทำที่เห็นอยู่ ก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปเลยแม้กระเบียดนิ้ว ต่างกันแค่สถานที่ และเหตุการณ์เท่านั้น
จากนี้ไป คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า แกนนำพันธมิตรฯ ที่ต้องระวางโทษทางกฎหมายถึงขั้นประหารชีวิต ในข้อหาก่อการกบฎ จะจัดการและดำเนินการต่อไปกับทิศทางอนาคตของตัวเองอย่างไร แล้วมาดูกันว่า ความยุติธรรมในบ้านเมืองที่พวกเขาถวิลหา เมื่อสุดท้ายต้องกลับถูกกระบวนการยุติธรรม ที่บางคนเคยพูดไว้ว่าถูกแทรกแซง ย้อนศรมาเล่นงานเสียเอง...จุดจบจะเป็นอย่างไร
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
ย้อนรอยจำลองใช้ม็อบ เป็นกำแพง หนังการเมืองเก่าฉายซ้ำใหม่ กับท่าทีเดิมๆ
ชีวประวัติ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง
พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เกิดเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 ที่ฝั่งธนบุรี บิดา มีอาชีพค้าปลาสดชื่อ นายสมนึก ชุณรัตน์ มารดาชื่อ นางบุญเรือน ประกอบอาชีพแม่ค้าเร่ ทั้งนี้ บิดาของพล.ต.จำลอง เสียชีวิตตั้งแต่เขา ยังแบเบาะ ต่อมามารดาได้สมรสใหม่กับ โชศน์ ศรีเมือง และเขาก็ได้ใช้นามสกุลนี้ สืบเนื่องมาปัจจุบัน
หลายคนอาจไม่เคยทราบว่า พล.ต.จำลอง ชื่อเล่นเดิมของเขา คือ “ หนู ” แต่พอเข้าโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ก็ถูกเพื่อนฝูงตั้งให้ใหม่ว่า “ จ๋ำ ขณะที่ชื่อ “ ลอง ” นั้น เป็นชื่อเล่นที่คนอื่น ๆ ทั่วไปมักใช้เรียกขาน ส่วนที่ใคร ๆ เรียกกันว่า “ มหา ” เพราะอดีตนายทหารผู้นี้ใฝ่ทางธรรม เมื่อครั้งอุปสมบทก็ศึกษาทางธรรมอย่างจริงจัง และเพราะเคยออกมาระบุว่าตนเองปฏิบัติตนสมถะ นอนไม้กระดานแผ่นเดียว แม้แต่การอาบน้ำก็จะใช้น้ำเพียง 5 ขัน ก็เลยได้ฉายา “ มหา 5 ขัน ”
พล.ต.จำลอง สมรสกับ พ.ต.หญิง ศิริลักษณ์ เขียวละออ ภายหลังได้ร่วมกันทำกิจกรรมสังคมหลาย ๆ อย่าง ทั้งด้านการปฏิบัติธรรม เรื่องการกินอาหารมังสวิรัติ ดูแลสุนัขจรจัด รวมถึงจัดตั้งโรงเรียนผู้นำ
ชีวิตการศึกษา
หลังเรียนจบชั้น ม.6 จึงตัดสินใจเลือกเข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมนายร้อยที่ก็สอบได้ และจบ จปร.รุ่น 7/2 เนื่องจากสมัยเป็นนักเรียนนายร้อย พล.ต.จำลองกับพวกไปจัดฉายภาพยนตร์หารายได้ซื้ออุปกรณ์กีฬาและดนตรีเข้าสโมสรนักเรียนนายร้อย แต่การกระทำดังกล่าวไปผิดในข้อหาขัดคำสั่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งขณะนั้นคือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก จึงถูกปลดจากหัวหน้านักเรียนนายร้อยเป็นนักเรียนลูกแถว และถูกลงโทษให้รับกระบี่ช้าออกไป ไม่พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่น ๆ
เส้นทางการเมือง ...มหาจำลอง
พล.ต.จำลอง มีชื่อเสียงโดดเด่นขึ้นมาหลังจากลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2528 เบอร์ 8 ในนาม “ กลุ่มรวมพลัง ” โดยชนะได้รับคะแนนเสียง 408,233 คะแนน ถึงขนาดที่วงคาราบาว แต่งเพลงให้ชื่อ " มหาจำลองรุ่น 7 การชนะการเลือกตั้งในสมัยนั้นทำให้ท่านได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกที่เกิดในระบอบประชาธิปไตยที่ได้ดำรงตำแน่งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครก่อนผู้ว่ากรุงเทพมหานครที่เกิดหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองท่านอื่นๆ
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2531 จึงก่อตั้ง พรรคพลังธรรม ขึ้น โดยสื่อมักเรียกขานกันว่าเป็น “ พรรคพลังผัก ” เนื่องจากสนับสนุนให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินอาหารมังสวิรัติ กระแสความนิยมในตัว พล.ต.จำลองในฐานะนักการเมืองผู้สมถะ พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นกระแส “ จำลองฟีเวอร์ ” และเรียกกันติดปากว่า " มหาจำลอง " ชนะการเลือกตั้งเข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่า ฯ อีกสมัยในปี พ.ศ. 2533 โดยได้รับคะแนนท่วมท้นถึง 703,671 คะแนน ทิ้งห่างผู้สมัครจากพรรคประชากรไทยคือ นายเดโช สวนานนท์ ถึง 419,894 คะแนน แต่ก่อนที่จะครบวาระ 4 ปี ก็ลาออก และผันตัวเองสู่สนามเลือกตั้งระดับชาติ ตำแหน่งสูงสุดที่เคยเป็นเมื่อครั้งมีเก้าอี้ในคณะรัฐบาลคือ รองนายกรัฐมนตรี
ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 พรรคพลังธรรมได้รับคะแนนความนิยมสูงสุดในพื้นที่กรุงเทพ ฯ โดยสามารถกวาดที่นั่งได้ถึง 32 ที่นั่งจาก 35 ที่นั่ง และเมื่อเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พล.ต.จำลอง เป็นแกนนำคนสำคัญในการประท้วงต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร โดยถูกจับกุมตัวกลางที่ชุมนุมเมื่อบ่ายวันทื่ 18 พฤษภาคม และในวันที่ 20 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้บุคคลทั้งสองเข้าเฝ้า โดยมีพระราชดำรัสสำคัญถึงการต่อสู้กันรังแต่จะทำให้บ้านเมืองพินาศ หลังจากนั้น พล.ต.จำลอง ก็ได้ลาออกจากทุกตำแหน่งทางการเมืองตามที่เคยได้ให้สัญญาไว้เมื่อครั้งชุมนุม ซึ่งหลังจากนี้ได้มีกระแสเสียงกล่าวหาว่า " จำลองพาคนไปตาย " จากฝ่ายตรงข้าม
ต่อมา พล.ต.จำลอง ก็ได้ให้การสนับสนุน ร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ให้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อจากตน ซึ่ง ร.อ.กฤษฎาก็ได้รับการเลือกตั้งไป
เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าสู่วงการการเมืองครั้งแรก ก็ด้วยการสนับสนุนของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง. โดยในปี 2537 พ.ต.ท.ทักษิณ ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสังกัดพรรคพลังธรรมของพลตรี จำลอง อีกด้วย. พล.ต.จำลอง มีภาพของการเป็นผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรื่อยมา. จากนั้น พล.ต.จำลอง ก็ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพ ฯ อีกสมัยในปี พ.ศ. 2539 แต่ทว่าคราวนี้ พล.ต.จำลอง ไม่อาจชนะการเลือกตั้งได้เหมือนเมื่ออดีต เมื่อเป็นฝ่ายพ่ายการเลือกตั้งไปอย่างขาดลอย โดยแพ้ให้แก่ นายพิจิตต รัตตกุล อดีตผู้สมัครด้วยกัน. จากนั้นมาบทบาททางการเมืองของ พล.ต.จำลอง ศรีเมืองก็ค่อย ๆ ลดลง โดยเจ้าตัวได้ก่อตั้งโรงเรียนผู้นำ อบรมบุคคลากรที่จะมีบทบาทเป็นผู้นำของสังคมต่อไปในอนาคตขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี และใช้ชีวิตส่วนใหญ่อย่างสมถะอยู่ที่นั่น แต่เมื่อมีข่าวคราวเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พล.ต.จำลอง ก็ยังคงเป็นผู้ให้การสนับสนุนอยู่ เช่น คดีซุกหุ้น พล.ต.จำลอง ก็เป็นหนึ่งบุคคลที่เข้าร่วมฟังการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในห้องพิพากษาด้วย
***ข้อมูลประกอบ วิกิพีเดีย