ไทยรัฐ
นายจตุพร พรหมพันธุ์ รองโฆษกพรรคไทยรักไทย กล่าววานนี้ (12 มิ.ย.) ถึงกรณีที่ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองได้มีหนังสือเชิญหัวหน้าพรรค หรือ ผู้แทนพรรคการเมือง จำนวน 34 พรรค ที่มีสิทธิส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งมาหารือร่วมกันวันพุธที่ 14 มิ.ย.นี้ เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเพื่อรองรับการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ต.ค.2549 ว่า พรรคไทยรักไทยพร้อมที่จะไปชี้แจง และหารือกับ กกต. การเรียกประชุมดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน หรือ มีปัญหา เป็นวาระปกติที่ กกต. จะหารือกับนายทะเบียนพรรคในเบื้องต้นอยู่แล้ว ในส่วนของพรรคไทยรักไทยจะส่ง นายสมาน เลิศวงศ์รัฐ นายทะเบียนพรรคไทยรักไทย พร้อมด้วยกรรมการบริหารพรรค ประมาณ 1-2 คน เข้าหารือกับ กกต. ในเรื่องขอบเขตต่างๆ เกี่ยวกับสมาชิกพรรค ยืนยันว่าพรรคไทยรักไทยไม่มีปัญหาเรื่องสมาชิกพรรคแน่นอน โดยเฉพาะผู้ที่จะออกจากสมาชิกพรรคมีน้อยมาก ส่วนเรื่องสมาชิกที่มีรายชื่อซ้ำซ้อนกับพรรคการเมืองอื่นมีอยู่บ้าง ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ถือเป็นเรื่องปกติที่พรรคการเมืองอื่นๆก็มีรายชื่อซ้ำซ้อนมีปัญหากันทุกพรรค ดังนั้น เรื่องนี้ กกต. จะพูดคุยกัน การนัดประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่จะมาตรวจสอบพรรคใดพรรคหนึ่ง จึงไม่มีปัญหาอะไร
ด้าน นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ กรรมการบริหารพรรคมหาชน ในฐานะผู้อำนวยการพรรคมหาชน กล่าวเรื่องเดียวกัน ว่าพรรคมหาชนจะส่งตนเป็นไปร่วมประชุมกับนายทะเบียนพรรคการเมืองของ กกต. โดยปัญหาที่จะไปหารือคือปัญหาสมาชิกซ้ำซ้อน ทำให้เกิดผลกระทบกับการคำนวณงบประมาณสนับสนุนพรรคของ กกต. ยืนยันว่า การเดินทางไปประชุมวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.) ไม่ใช่การไปคุยกับกรรมการ กกต.ทั้ง 3 คน
"ปัญหาเกิดจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเรื่องการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองไว้ทำให้เกิดการเป็นสมาชิกซ้ำซ้อน ส่วนของพรรคมหาชนก็มีปัญหามีสมาชิกจำนวนมากที่ซ้ำซ้อนกับพรรคการเมืองอื่น ประเด็นที่ไปหารือคงมีประเด็นเดียวเท่านั้น หาก กกต.จะยกประเด็นอื่นมาหารือพรรคมหาชนคงไม่คุยด้วย" ผู้อำนวยการพรรคมหาชน กล่าว
ขณะที่ นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า พรรคชาติไทยพร้อมเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ เพราะถือว่าเป็นงานของพรรคไทยรักไทย ไม่มีปัญหา เป็นงานที่ต้องทำงานร่วมกัน ไม่ใช่การไปกำหนดวันเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่มีสมาชิกพรรคชาติไทยย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอื่น นั้น ไม่มีปัญหา เพราะถือเป็นเรื่องปกติ เป็นวัฏจักรของการเมือง ขณะนี้ยังไม่รู้ว่ามีสมาชิกย้ายออกจากพรรคชาติไทยจำนวนเท่าใด เพราะยังไม่ได้มีการตรวจสอบ
ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้ก่อตั้งพรรคทางเลือกใหม่ กล่าวเรื่องเดียวกันว่า พรรคทางเลือกใหม่ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญ ถึงแม้จะได้รับการจดทะเบียนพรรคการเมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่พรรคทางเลือกใหม่ยังไม่ได้ประชุมเลือกหัวหน้าพรรค อย่างไรก็ตาม หากได้รับหนังสือจาก กกต. และไม่ติดภารกิจอะไรจะเดินทางไปร่วมประชุมเอง
ต่อข้อถามว่า พรรคทางเลือกใหม่เตรียมเปิดตัวเมื่อใด ผู้ก่อตั้งพรรคทางเลือกใหม่ กล่าวว่า ต้องรอหลังงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตนจะเดินหน้าทางการเมืองอย่างเต็มที่ โดยจะเปิดตัวทีมงานพรรค ประชุมเพื่อเลือกหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค พร้อมเสนอแนะทางออกประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางคลี่คลายวิกฤติทางการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคทางเลือกใหม่มีสโลแกนว่า "ตรงไปตรงมา" ขณะนี้ร่างนโยบายพรรคเสร็จเรียบร้อย พร้อมนำเสนอต่อสาธารณะ นโยบายหลักๆ แบ่งเป็น 5 กลุ่มงาน ประกอบด้วย นโยบายหลักที่สำคัญ นโยบายเฉพาะด้าน นโยบายฉุกเฉิน นโยบายโครงการพิเศษ และนโยบายด้านอื่นๆ นโยบายส่วนใหญ่จะตรงข้ามกับพรรคไทยรักไทย