มติชน
แรงกดดัน"ใบสั่งมรณะ" บวรศักดิ์ อุวรรณโณ สละเรือ...เพื่อรักษาชีวิต
ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าชีวิตข้าราชการระดับ 11 ของ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" ดร.กฎหมายมหาชน (เกียรตินิยมดีมาก) จากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส จะเริ่มต้นและจบลงในระยะเวลาอันสั้นหลังมาร่วมงานกับรัฐบาล "ทักษิณ" ได้เพียง 3 ปีเศษ
ก่อนตัดสินใจรับตำแหน่งเลขาธิการ ครม. คนที่ 18 ต่อจากญาติผู้พี่ "วิษณุ เครืองาม" ที่อัพเกรตขึ้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี "บวรศักดิ์" พูดออกตัวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ส่งเทียบเชิญให้เขาว่ามีเงื่อนไขพิเศษ 2 ข้อ
โดยหนึ่งในนั้นคือ ขอทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ถ้าอะไรเป็นไปตามกระบวนการและชอบด้วยกฎหมาย ก็ถือเป็นอำนาจในการตัดสินใจของ ครม.
อย่างไรก็ตาม ภายหลังลงเรือลำเดียวกับรัฐบาลไทยรักไทยได้ไม่นาน คนในแวดวงวิชาการเริ่มเห็นเค้าลางของ "นักวิชาการกลายพันธุ์"
ผลงานชิ้นโบว์ดำที่ทำให้เขาถูกตั้งคำถามเรื่องความเป็นอิสระในการทำหน้าที่คือ กรณีที่รัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2546 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 พ.ศ.2546 ภายหลัง พ.ต.ท.ทักษิณกลับจากประเทศสหรัฐ และกรณีที่สำนักเลขาธิการ ครม. เสนอออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2548 ซึ่งให้อำนาจนายกฯ ในการเรียกประชุมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในกรณีฉุกเฉินแล้วถือเป็นมติ ครม.
อันนำมาสู่ข้อวิจารณ์ว่าเป็นกฎหมายฮิตเลอร์ในที่สุด...?
ทุกครั้งที่มีข้อถกเถียงในเชิงกฎหมาย "บวรศักดิ์" จะพลิกกฎหมายขึ้นมาหักล้างข้อวิจารณ์เป็นรายมาตรา
แต่ขณะเดียวกัน ส่งผลให้ภาพ "ทนายหน้าตึกไทยคู่ฟ้า" เด่นชัดขึ้นตามลำดับ
เมื่อเป็นเช่นนี้เส้นทางการเติบโตของ "บวรศักดิ์" น่าจะลงรอยเดียวกับ "วิษณุ" คำถามที่เกิดขึ้นคือเหตุใด "บวรศักดิ์" จึงยอมตัดใจลาออกจากราชการแล้วหวนคืนสู่วงการปัญญาชน?
"...บัดนี้สถานการณ์บ้านเมืองแปรเปลี่ยนไปและอยู่ในภาวะไม่ปกติ ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันในบ้านเมือง ส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ของกระผมไม่ราบรื่นดังที่เคยเป็นมาในอดีต ทั้งที่การปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวในฐานะข้าราชการประจำต้องการทำไปตามหน้าที่และตามสถานการณ์ที่บังคับนั้น ก่อให้เกิดความไม่สบายใจขึ้นแก่ตัวกระผมและครอบครัว..."
คือเหตุผลที่ "บวรศักดิ์" ระบุไว้ในคำชี้แจงที่แจกจ่ายให้สื่อมวลชน ภายหลังกล่าวลาพร้อมขออโหสิกรรมกับนายกฯ และรัฐมนตรีในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา
เป็นเหตุผลที่ "แฝงเร้น" ไปด้วยความ "อึดอัด" ที่ต้องทำตามใบสั่งของฝ่ายการเมืองอย่างมีนัยยะสำคัญ...!!
ใบสั่งแรกคือ การกดดันให้ "บวรศักดิ์" เป็นหัวหอกในการจัดตั้ง "ม็อบเชียร์" มาเกทับ "ม็อบต้าน" เมื่อช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ด้วยการล่ารายชื่อข้าราชการระดับ 9 ขึ้นไปกว่า 1.5 พันคนมาสนับสนุนและให้กำลังใจ พ.ต.ท. ทักษิณ
ทั้งที่จุดริเริ่มของแนวคิดดังกล่าวมาจากหัวอกของคนเป็นข้าราชการที่ต้องการเห็นสันติสุขในบ้านเมือง ไม่ได้ต้องการเลือกข้างหรือถือหางใคร
ใบสั่งที่ 2 คือ คำสั่งการแบบลับๆ ให้ "บวรศักดิ์" จัดเตรียมโผ ครม. ทักษิณ 2/4 ติดตัวไปด้วยในระหว่างที่นายกฯ ขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 แต่ยังไม่ทันที่นายกฯ และเลขาธิการ ครม. จะออกจากพระราชวังสวนจิตรลดา วิธีการดังกล่าวได้ "รั่ว" ออกมาถึงหูสื่อมวลชน
ทั้งที่มี "คนวงใน" ไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้เรื่อง
ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณออกอาการฉุนขาดและเริ่มมอง "บวรศักดิ์" ด้วยความหวาดระแวง
ใบสั่งที่ 3 คือ ความพยามยามถูลู่ถูกังให้สำนักเลขาธิการ ครม. ทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.ฎ.เรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549 ทั้งที่ยังมีปัญหาเรื่ององค์ประชุมของสภา
เรื่องดังกล่าวทั้ง "วิษณุ-บวรศักดิ์" ออกมาคัดง้างว่าอย่างไรต้องครบ 500 คน เพราะต้องอัญเชิญองค์พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณหงุดหงิดยิ่งขึ้น ถึงขนาดไปเปรยกับนักการเมืองชั้นองครักษ์ว่า "สองพี่น้องนี้มันไม่ยอมทำตาม มันหัวแข็ง"
ใบสั่งที่ 4 คือ การออกคำสั่งสำนายกรัฐมนตรีที่ 92/2549 เพื่อยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 5 เมษายน เรื่องการลาพักราชการของนายกฯ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณยุติการ "เว้นวรรค" ตัวเอง
ประเด็นนี้ "บวรศักดิ์" ให้เห็นสวนทางอีกตามเคยเนื่องจากมองว่าคำสั่งสำนักนายกฯ ไม่สามารถยกเลิกมติ ครม. ได้ แต่คำคัดค้านไม่เป็นผล สองศรีพี่น้องจึงต้องก้มหน้ารับคำติติงของนักนิติศาสตร์ขนานใหญ่
และใบสั่งสุดท้ายคือ กรณีที่คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณกดดันให้ "บวรศักดิ์" ทูลเกล้าฯ ถวายร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ฎ.ยุบสภา พ.ศ.2549 เพื่อกำหนดให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ตุลาคม ทั้งที่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานภาพของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
"บวรศักดิ์" แนะให้รอดูมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาในวันที่ 31 พฤษภาคมก่อน แต่ทางรัฐบาลไม่ยอม ในที่สุดจึงต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปที่สำนักราชเลขาธิการอย่างเสียไม่ได้ ทั้งที่มีบุคคลที่เป็น "ผู้ใหญ่มากๆ" เตือนว่าอย่า
เหล่านี้คือแรงกดดันที่เกิดขึ้นภายใต้การทำงานใน "ระบอบทักษิณ" เป็นแรงกดเพื่อดันให้มือกฎหมายหาช่องทางกู้วิกฤตการเมืองให้ตนเอง
ในช่วงแรก "บวรศักดิ์" ยังมีแนวคิดว่าในเมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้วก็ต้องช่วยกันพายให้ถึงฝั่ง แต่เมื่อไปถึงจุดหนึ่งการออกคำสั่งให้คนที่นิยมเรียกตัวเองว่า "ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชน" ล้ม "กติกา" แล้วมาร่วมใช้ "กติกู" กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ "บวรศักดิ์" อึดอัดใจและรับไม่ได้จนต้องดอดไปขอคำปรึกษาจาก "เนติบริกรผู้พี่" อยู่หลายครั้งในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนตัดสินใจลาออก
แต่ท้ายที่สุด "บวรศักดิ์" มาตัดใจยอมทิ้งอายุราชการที่เหลืออยู่ถึง 9 ปี เมื่อผู้ใหญ่ของบ้านเมืองคนหนึ่งมี "ใบเตือน" ให้ระมัดระวังการทำหน้าที่ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ทุกภาคส่วนกำลังสู้รบกันอย่างแหลม ตรงนี้คือ "เงื่อนไขหลัก" ที่นำมาสู่การตัดสินใจไขก๊อก พร้อมลาอุปสมบทเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
นอกจากนี้ "บวรศักดิ์" ยังประกาศชัดว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมทางการเมืองไม่ว่าจะในสถานะอะไร แต่จะกลับไปเป็นนักวิชาการอิสระ
การตัดสินใจของ "บวรศักดิ์" จึงเป็นเหตุผลของ "ฝีพายเอก" ที่ต้องสละเรือเพื่อรักษาชีวิตก่อนรัฐนาวาจะล่มสลาย...!!