มติชน
คืบหน้าอีกก้าวในกรณี "ยุบพรรค" อันเนื่องมาจากภายหลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน ที่พรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคเปิดฉากยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
พรรคประชาธิปัตย์กล่าวหาพรรคไทยรักไทยว่าจ้างพรรคขนาดเล็กลงเลือกตั้ง ขณะที่ฝ่ายพรรคไทยรักไทยกล่าวหากลับพรรคประชาธิปัตย์ว่าจ้างพรรคขนาดเล็กล้มเลือกตั้ง ซึ่งทั้ง 2 กรณีไม่ว่าจะ "จ้างลง" หรือ "จ้างล้ม" เลือกตั้ง อาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง หมวด 4 มาตรา 66
มีโทษถึงขั้นถูกสั่ง "ยุบพรรค"
ในกรณีพรรคประชาธิปัตย์ยื่นร้องพรรคไทยรักไทย กกต. ตั้งคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง มี นายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธาน ซึ่งได้สรุปผลส่ง กกต. ไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 9 เมษายน กับวันที่ 8 พฤษภาคม
ผลสอบเมื่อวันที่ 9 เมษายน สรุปว่าคดีมีมูล ทำให้ กกต. มีมติยุบ 2 พรรคเล็ก คือ พรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย ส่วนผลสอบวันที่ 8 พฤษภาคม พบว่าแกนนำพรรคไทยรักไทย 2 คน เกี่ยวพันกับการว่าจ้างพรรคเล็กจริง และเชื่อว่าเป็นการกระทำในนามพรรค ไม่ใช่ในฐานะส่วนตัว
นำมาสู่การที่ กกต. ต้องเชื้อเชิญ พล.อ.ธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล 2 แกนนำพรรคไทยรักไทยที่ถูกพาดพิง เข้าชี้แจงที่อาคารศรีจุลทรัพย์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม
อีก 6 วันถัดมา กกต. ประชุมสรุปผลสอบสวน พร้อมรวบรวมเอกสารหลักฐานต่างๆ ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาทำความเห็นเสนอศาลรัฐธรรมนูญไปแบบลอยๆ โดยไม่มีมติชี้มูลความผิดว่าการกระทำที่เกิดขึ้นสมควรเสนอให้ยุบพรรคไทยรักไทยหรือไม่
ทำให้ นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด ต้องทำหนังสือส่งกลับถึง กกต. ให้มีมติในเรื่องดังกล่าว เพราะเห็นว่าตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 66 และ 67 กกต. ควรมีมติชี้มูลความผิดมาก่อน แต่หาก กกต. ยังไม่มีมติอีก อัยการสูงสุดถึงจะมาพิจารณาอีกครั้งว่า จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจสั่งยุบพรรคหรือไม่
เรื่องจึงมีแนวโน้มยืดเยื้อออกไป
ก่อนหน้านี้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา มีมติ 72 เสียง จากทั้งหมด 82 เสียง ไม่เข้าร่วมกระบวนการสรรหา กกต. เพิ่ม 2 ตำแหน่งที่ว่าง และจะไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กับ กกต. ที่เหลืออีก 3 คน ตอกย้ำให้เห็นถึงความชอบธรรมของ กกต. ที่อยู่ในสภาพเสื่อมทรุดอย่างสาหัส จนไม่น่าจะประคองตัวต่อไปได้
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ฉวยโอกาสเปิดเกมรุกไล่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ออกมาแสดงจุดยืนเรื่อง กกต. ให้ชัดเจน เพื่อลบล้างข้อครหาว่ามีผลประโยชน์ทางการเมืองทับซ้อนกันอยู่
ทำให้ กกต. ต้องเร่งแก้ไขสถานการณ์ที่รุมเร้าอย่างหนัก
พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. ลงทุนจัดรถพากองทัพนักข่าวไปฟังการเปิดใจถึงบ้านสวนเมืองจันท์ ยืนยันว่าจะไม่ลาออกในตอนนี้แน่นอน เพราะมีภาระต้องสะสางสำนวนที่ยังค้างอยู่อีก 500 สำนวน รวมถึงการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นอีก 300 กว่าแห่งในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ตลอดจนการรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ว. ที่ยังไม่ครบ 200 คน
"ผมไม่ใช่ ค.ควาย รู้ว่าจะไปวันไหน"
นายปริญญา นาคฉัตรีย์ กกต. เองก็ออกมาให้สัมภาษณ์แบบดุดันพอกัน
"อย่าเพิ่งไล่ผมออก ให้ผมได้ทำหน้าที่ต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน และสังเกตให้ดี คนไหนออกมาไล่ กกต. คนนั้นอาจเข้าข่ายทำผิดกฎหมายเลือกตั้งก็ได้ โดยทั่วไปคนทำไม่ดีจะร้อนตัว ยิ่งไล่ กกต. ออกได้เมื่อไหร่ ตัวเองก็จะได้รอดพ้นจากความผิด"
"พรรคการเมืองแม้จะใหญ่หรือเล็กแค่ไหนก็ตาม หากทำผิดกฎหมายเลือกตั้งต้องถูกยุบพรรค เมื่อหลักฐานครบถ้วนแล้ว ผมเชื่อว่าต้องมีพรรรคการเมืองถูกสั่งยุบพรรคแน่นอน ผมว่าหลักฐานที่มีอยู่ตอนนี้มีมากกว่าหนึ่งพรรค"
คำให้สัมภาษณ์ของนายปริญญา ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ เกิดอาการหนาวๆ ร้อนๆ ขึ้นมาทันที
สาเหตุที่ไม่ใช่พรรคไทยรักไทย ที่ต้องหนาวๆ ร้อนๆ กับคำให้สัมภาษณ์ในเชิงข่มขู่ของ นายปริญญา นาคฉัตรีย์
เพราะหากจับรายละเอียดในคำสัมภาษณ์ เป้าหมายของนายปริญญาน่าจะหมายถึงพรรคประชาธิปัตย์ เพราะเป็นพรรคใหญ่พรรคเดียวที่ออกมาไล่ กกต. อย่างเอาเป็นเอาตาย อีกทั้งหลายคดีที่ กกต. ถูกฟ้องตกเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ยังมีแกนนำพรรคประชาธิปัตย์เป็นโจทก์
นอกจากนี้ การที่ กกต. สรุปสำนวนคำร้องกรณีพรรคใหญ่ว่าจ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง ส่งไปยังอัยการสูงสุดโดยไม่มีมติชี้มูลความผิดว่าสมควรเสนอให้ยุบพรรคไทยรักไทยหรือไม่ ก็น่าจะเป็นการสื่อความหมายอะไรบางอย่าง เช่น
เป็นการจงใจเตะถ่วงหรือไม่?
ก่อนหน้านี้มีการวิเคราะห์วิจารณ์ถึงเหตุที่ กกต. จำเป็นต้องอดทนอยู่ในตำแหน่ง ท่ามกลางเสียงขับไล่ที่ดังระงมจากทั่วสารทิศนั้น ก็เพื่อจัดการ "เคลียร์" ข้อกล่าวหาต่างๆ ให้กับพรรคใหญ่พรรคหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องหาทางยุบพรรคใหญ่อีกพรรคหนึ่ง
แม้จะมีคนมองว่าการยุบพรรคเป็นเรื่องยาก เพราะต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาของอัยการสูงสุด ก่อนจะส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยขั้นสุดท้าย ซึ่งต้องใช้เวลาอีกยาวนาน และไม่รู้ผลจะออกมาอย่างไร
แต่ก็ดูเหมือน กกต. จะรู้ว่าอำนาจการเสนอยุบพรรค เป็นเครื่องมือเดียวที่เหลืออยู่ในการใช้เช็กบิลฝ่ายตรงข้าม
ทั้งยังเป็นหนทางเดียวที่จะสร้างความชอบธรรมในการฝืนกระแสไม่ยอมลาออก อย่างที่นายปริญญา อ้างว่าพรรคที่ขับไล่ กกต. ก็เพราะร้อนตัว ต้องการกลบเกลื่อนความผิดที่ตัวเองทำไว้
ดังนั้น เกม "ยุบพรรค" ที่กำลังดำเนินมาถึงจุดเข้มข้นขณะนี้ นอกจากเป็นเดิมพันครั้งสำคัญระหว่างประชาธิปัตย์ กับไทยรักไทยแล้ว อีกด้านหนึ่งยังเป็นการพิสูจน์ถึงมาตรฐานความซื่อสัตย์สุจริต และความเป็นกลางในการทำหน้าที่ ในช่วงระยะสุดท้ายของ กกต. เองด้วย