คม-ชัด-ลึก
กกต.ส่งเรื่องพรรคใหญ่จ้างพรรคเล็กลงสมัคร ส.ส.ให้อัยการสูงสุด พิจารณาส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมืองแล้ว แต่ไม่ชี้มูลยุบพรรคไทยรักไทย ปล่อยให้อัยการสูงสุดตัดสินเอาเอง อสส.ตั้งคณะกรรมการรับลูกแล้ว ติง กกต.น่าจะชี้มูลมาก่อน จึงต้องส่งกลับให้ชี้มา
(6มิ.ย.) นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด ยอมรับว่า ช่วงเย็นวันนี้ (6 มิ.ย.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รวบรวมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ เพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณาทำความเห็นเสนอศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคไทยรักไทย แต่ทั้งนี้ กกต.ไม่ได้มีมติชี้มูลความผิดว่า การกระทำที่เกิดขึ้นสมควรเสนอให้ยุบพรรคไทยรักไทย
"อัยการสูงสุด จะต้องไปพิจารณามาตรา 66 และ 67 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองก่อนว่า กกต. หรือนายทะเบียนพรรคการเมือง มีหน้าที่เพียงรวบรวมหลักฐาน หรือต้องมีมติชี้มูลมายังอัยการสูงสุด" นายพชร กล่าวและว่า
ขณะนี้ได้ตั้งนายชัยเกษม นิติสิริ รองอัยการสูงสุด ขึ้นมาเป็นประธานคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบสำนวนเรื่องนี้ รวมทั้งสำนวนหลักฐานการยุบพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่ กกต.ส่งมาก่อนหน้านี้ ซึ่งยังไม่สามารถระบุได้ว่าต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด โดยจะมีการหารือในรายละเอียดกันอีกครั้งในวันพรุ่งนี้ (7 มิ.ย.)
"อย่างไรก็ตาม ความเห็นของอัยการสูงสุด ไม่จำเป็นต้องเหมือนกับนายทะเบียนพรรคการเมือง แต่หากว่ามีความเห็นเหมือนนายทะเบียน ก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคได้" นายพชร กล่าวและว่า
สำหรับคณะกรรมการที่มีนายชัยเกษมเป็นประธานนั้น ได้ตั้งขึ้นมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยให้พิจารณาเรื่องที่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง รักษาการ ส.ว.กทม. และคณะ ได้ยื่นเรื่องขอให้พิจารณายุบพรรคไทยรักไทย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 และให้เวลาคณะกรรมการ ทำการตรวจสอบสำนวน ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน ดังนั้น ก็จะส่งสำนวนที่ กกต.ส่งมาไปให้พิจารณาพร้อม ๆ กัน
"ส่วนตัว เห็นว่า ตามพ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 66 และ 67 กกต. ควรที่จะมีมติชี้มูลความผิดมาก่อน ดังนั้น จึงจะทำหนังสือถึง กกต. เพื่อให้มีมติเรื่องดังกล่าวก่อน แต่ทั้งนี้ หาก กกต.ไม่มีมติ ก็เห็นว่า อัยการสูงสุดมีอำนาจที่จะพิจารณาสำนวน เรื่องการยุบพรรคไทยรักไทยได้ ตามมาตรา 63 วรรค 2 ที่ระบุว่า บุคคลจะใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ ที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ให้รัฐธรรมนูญไม่ได้ "นายพชร กล่าวและว่า
กรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการดังกล่าว ผู้รู้เห็นการกระทำดังกล่าว ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุด ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคได้
ทั้งนี้ มีรายงานแจ้งว่า การพิจารณาเรื่องดังกล่าวของ กกต. ที่ประชุม กกต. ไม่สามารถที่จะลงมติชี้มูลว่า พรรคไทยรักไทย มีความผิดถึงขั้นยุบพรรคได้ และสมควรส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรค โดยนายปริญญา นาคฉัตรีย์ กกต. และนายวีระชัย แนวบุญเนียร กกต. ต่างมีความเห็นว่า เรื่องดังกล่าวตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 66และ 67 นั้น เป็นอำนาจของนายทะเบียนพรรคการเมือง คือ
พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธาน กกต. เพียงคนเดียว ทำให้ที่ประชุมหาทางออก โดยนำสำนวนการสอบสวน และรายงานผลการสอบสวน ของนายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะอนุกรรการสอบสวนเป็นหลัก ในการนำเสนอไป พร้อมกับพยานหลักฐานอื่น ๆ ส่งไปยังอัยการสูงสุด
อนึ่ง มาตรา 67 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่เกี่ยวกับขั้นตอนการยุบพรรคระบุว่า เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนหรือเมื่อนายทะเบียน ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการบริหารพรรคว่า พรรคการเมืองใด กระทำการตามมาตรามาตรา 66 ให้นายทะเบียนแจ้งต่ออัยการสูงสุด พร้อมด้วยหลักฐาน ถ้าอัยการสูงสุดเห็นสมควร ก็ให้ยื่นคำร้อง เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าว
"ถ้าอัยการสูงสุด ไม่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้นายทะเบียนตั้งคณะทำงานขึ้นคณะหนึ่ง โดยมีผู้แทนจากนายทะเบียน และผู้แทนจากอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน แล้วส่งให้อัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต่อไป ในกรณีที่คณะทำงานดังกล่าว ไม่อาจหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการยื่นคำร้องได้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจยื่นคำร้องเอง" แหล่งข่าวคนเดิม กล่าว