ใกล้ยุติเต็มที กับคดีเลี่ยงภาษีของ 2 พี่น้อง "บรรณพจน์ ดามาพงศ์" และ "คุณหญิงพจมาน ชินวัตร" กับเลขาส่วนตัว "นางกาญจนาภา หงษ์เหิน" ที่ถูกฟ้องตามความผิดฐานร่วมกันจงใจหลีกเลี่ยงการชำระภาษีอากรหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 546 ล้านบาท จากหุ้นจำนวน 4.5 ล้านหุ้น ซึ่งมีหุ้นมูลค่า 738 ล้านบาท โดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยใช้กลอุบาย อันเป็นความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 (1) (2) และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 และ 91
และสืบเนื่องต่อจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 5/2551 ที่ระบุว่า ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 ในคำสั่งที่แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2550
โดยศาลอาญา ได้นัดฟังคำพิพากษา ในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ โดยให้โจทก์และจำเลย แถลงปิดคดีภายใน 10 วัน นับจากนี้...ซึ่งเราต้องมาติดตามกันต่อว่าคดีจะ "ออกหัว หรือก้อย"
"มติชนออนไลน์" ได้ขอย้อนรอยคดีดังกล่าว จากสำนวนของ คตส. ที่มอบให้อัยการสูงสุดส่งฟ้อง
การกระทำของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตรและนางกาญจนาภา หงษ์เหิน เมื่อระหว่างวันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2540 ได้ร่วมกันกระทำการโอนหุ้นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านบาท ของคุณหญิงพจมานชินวัตรที่ได้ให้นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ถือหุ้นไว้แทน โดยคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้น สั่งการให้นางกาญจนาภา หงษ์เหินดำเนินการ โอนด้วยวิธีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นางกาญจนาภา หงษ์เหินได้กระทำการ โดยสั่งให้นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน พนักงานบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) ดำเนินการโอนหุ้นดังกล่าวด้วยวิธีการให้นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ผู้ถือหุ้นแทน ขายหุ้นดังกล่าว และนายบรรณพงน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ซื้อเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 โดยนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ลงชื่อเป็นลูกค้าในใบสรุปการซื้อหลักทรัพย์ และให้นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ลงชื่อเป็นผู้ขายในใบสรุปการขายหลักทรัพย์ และมีการรับจ่ายเงินการซื้อขายดังกล่าวในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2540
ทั้งที่ ตามความจริงการโอนหุ้นดังกล่าวเป็นเรื่องคุณหญิงพจมาน ชินวัตร โอนหุ้นให้กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งมูลค่าหุ้นจำนวน 738 ล้าน เป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่นายบรรณพงน์ ดามาพงศ์ จะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2540 และต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีกเป็นจำนวน 273,060,000 แต่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ได้ร่วมกันกระทำการอำพรางการให้เป็นการซื้อขายหุ้นกันในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยยอมเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายเพียง 7.38 ล้านบาท เพื่อทำให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ผู้ซื้อไม่มีเงินได้พึงประเมินที่จะต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และผู้ขายได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (23) และในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ประจำปีภาษี 2540 ของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 ไม่นำมูลค่าหุ้น 738 ล้านบาท ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีแต่อย่างใด
การกระทำของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน จึงเป็นการร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นในทำนองเดียวกันหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เป็นความผิดอาญาตามมาตรา 37 (2) แห่งประมวลรัษฏกร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
นอกจากนี้ เมื่อมีการตรวจสอบของทางราชการพบว่าการโอนหุ้นดังกล่าวไม่ใช่การซื้อขายกันจริงในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แต่เป็นการที่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ให้หุ้นแก่ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ซึ่งนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ จะต้องนำมูลค่าหุ้นจำนวน 738 ล้านบาท ไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ แต่ระหว่างวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 6 ธันวาคม 2544 นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตรได้ร่วมกันไปให้ข้อมูลข้อเท็จจริงและแสดงหลักฐานว่าเป็นการให้หุ้นกันโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นความเท็จ
การกระทำของนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นการร่วมกันกระทำโดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เป็นความผิดอาญา ตามมาตรา 37 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประมวลมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันกับการกระทำ เมื่อระหว่างวันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2540
ส่วนการกระทำของนางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ซึ่งได้ลงชื่อเป็นลูกค้าในใบสรุปการขายหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ที่บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) จัดทำขึ้นนั้น นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าเป็นการโอนตามคำสั่งของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ผู้เป็นเจ้าของ ส่วนการโอนจะมีภาระเสียภาษีเกิดขึ้นกับผู้ใดใครจะเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตนไม่ทราบ เพราะตนเป็นเพียงผู้ถือแทน จึงต้องทำตามคำสั่งของเจ้าของ และจากการชี้แจงของนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ว่าได้รับคำสั่งจากคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ให้ทำการโอนหุ้นที่นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ถือได้แทนให้แก่นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และเป็นผู้ดำเนินการในการโอน
รวมทั้งนายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ภัทรจำกัด (มหาชน) ก็ให้ถ้อยคำว่าได้รับคำสั่งการขายหุ้นจาก นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ไม่เคยรู้จักหรือเคยพบ นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดีแต่อย่างใด และไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่ยืนยันสนับสนุนว่านางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี รู้ว่าการโอนหุ้นดังกล่าวไม่ได้ซื้อขายกันจริง แต่เป็นการโอนหุ้นให้กันแต่อย่างใด
คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี รับฟังได้ ดังนั้น แม้ว่านางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี จะได้ลงชื่อเป็นลูกค้าในใบสรุปการขายหลักทรัพย์เพื่อโอนหุ้นให้นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ แต่นางดวงตา ประมูลเรือง หรือ นางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ไม่ทราบว่าเป็นการโอนหุ้นให้กับผู้ใด และไม่ทราบว่าเป็นการอำพรางการให้หุ้นที่แท้จริงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร การกระทำของนางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี ขาดเจตนาในการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
ส่วนนายวันชัย หงษ์เหิน ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่าตนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโอน หุ้นตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด จากการไต่สวนข้อเท็จจริง นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) ให้ถ้อยคำว่า ตนเป็นผู้ดูแลลูกค้าทั้งนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และนางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี และเป็นผู้รับคำสั่งและดำเนินการในการโอนหุ้นดังกล่าวเอง นางวันชัย หงษ์เหิน เป็นพนักงานของบริษัทในขณะนั้น แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และไม่มีพยานหลักฐานอื่นยื่นยันว่านายวันชัย หงษ์เหิน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโอนหุ้นดังกล่าว จึงไม่มีมูลตามที่ถูกกล่าวหา เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาว่า ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและรู้เรื่องเกี่ยวกับการโอนหุ้นตามที่กล่าวหา มีส่วนเกี่ยวข้องเพียงเป็นผู้รับมอบอำนาจเพื่อนำเอกสารไปส่งให้แก่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรแล้วไปรับทราบผลการพิจารณาและข้อคัดถ่ายเอกสารเท่านั้น ไม่เคยให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการโอนหุ้นดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรแต่อย่างใด เอกสารที่นำส่งทุกฉบับเป็นเอกสารที่แท้จริงไม่มีเอกสารปลอมหรือเท็จ นำส่งตามที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรขอและตามคำสั่งของผู้มอบอำนาจ ไม่ได้ร่วมกระทำความผิดกับบุคคลอื่นตามที่กล่าวหา
จากพยานหลักฐานที่ได้ และจากการไต่สวนปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในการตรวจสอบเกี่ยวกับการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของนายบรรรพจน์ ดามาพงศ์นั้น นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ เป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ไปพบเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร จำนวน 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ไปพบเพื่อนำส่งเอกสารแก่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร จำนวน 4 แฟ้ม และให้การต่อนางเบญจา หลุยเจริญ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 ชช. ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2544 เพื่อขอทราบผลการดำเนินการของกรมสรรพากร และให้ถ้อยคำต่อนางเบญจา หลุยเจริญ เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษี 9 และครั้งที่ 3 วันที่ 6 ธันวาคม 2544 ขอรับภาพถ่ายเอกสารคำให้การของตนที่ให้การเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2544 และคำให้การของนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ ทั้ง 3 ครั้ง ไม่ได้ให้การเกี่ยวกับการโอนหุ้นตามที่กล่าวหาแต่อย่างใด และไม่มีพยานหลักฐานอื่นยืนยันว่านางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ รับฟังได้การกระทำของนางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ จึงไม่มีมูลตามที่ถูกกล่าวหา เห็นควรให้ข้อกล่าวหาตกไป
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นควรให้ข้อกล่าวหาของ นางดวงตา ประมูลเรือง หรือนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี นายวันชัย หงษ์เหิน และ นางสาวปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ เป็นอันตกไป
สำหรับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ คุณหญิงพจมาน ชินวัตรและนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ผลการไต่สวน ปรากฏพยานหลักฐานว่าได้ร่วมกันกระทำความผิดอาญาตามมาตรา 37 (2) แห่งประมวลรัษฎากรและนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ กับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้ร่วมกันกระทำความผิดอาญา ตามมาตรา 37 (1) อีกกระทงความผิดหนึ่งและเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 จึงให้ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป โดยถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบ เป็นการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความอาญา ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 ข้อ 9 วรรคสอง